อธิจิต (ภาคต่อ) คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 28 สิงหาคม 2558





จากนี้ไป จะได้บรรยายเรื่อง "อธิจิต จุดเชื่อมมิติ" ต่อจากตอนที่แล้ว


ตอนที่ผ่านมา เราได้เทียบเคียง ลักษณะการเกิดของ "อธิจิต". ให้เห็นเป็นตัวอย่างแบบง่าย ๆ

ทีนี้เรามาดูหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับ “อธิจิต” อันปรากฏในพระไตรปิฏกว่าได้จารึกไว้อย่างไรบ้าง

อธิจิต = จิตอันยิ่ง หมายถึง ภาวะอันจิตมีกำลังยิ่ง อาศัยนิมิตยกจิตขึ้นสู่มโนทวารวิถี



    พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเอาไว้ ยกภิกษุเป็นที่ตั้ง แต่ก็เป็นคำสอนเฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ก็พึงต้องปฏิบัติตามที่ตรัสสอนเอาไว้นี้ และที่ตรัสว่าการปฏิบัติเมื่อเริ่มต้นปรารภความพ้นทุกข์ และเขาได้เพียรปฏิบัติแม้น้อยนิด เมื่อจิตยกขึ้นสู่วิถี อาศัยกุศลธรรมเป็นนิมิต เขาย่อมถึงภาวะ อธิจิต เรียกคำเต็มว่า “ อธิจิตสิกขา “ อยู่ในสิกขา ๓. ที่เรารู้จักกันในยุครัตนโกสินทร์ว่า " ศีล สมาธิ ปัญญา" นั่นแหละ



แต่โดยความจริงแท้ของเนื้อหาแห่ง อธิจิต ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หนังสือที่พวกเรียกตัวเองว่าปราชญ์ ทางศาสนายุครัตนโกสินทร์ นั่งเทียน เขียนให้เราอ่าน เพราะไม่เคยปฏิบัติ

ความจริงอันปรากฏในพระไตรปิฏกนั้นมีว่า....
อธิจิต  หมายถึง สมาธิที่อาศัยกุศลธรรมเป็นนิมิต อันหมายรวมรูปฌานทั้งหมด  เพราะดั่งนั้นสมาธินั้นจึงชื่อว่า อธิจิต และภิกษุในศาสนาแห่งตถาคตนี้ จะต้องพึงประพฤติปฏิบัติเป็นนิจ จึงเรียกว่า อธิจิตสิกขา

เพราะ "อธิจิต" เป็นจิตที่ยิ่ง อันหมายความว่า เป็นจิตใจที่ฝึกยิ่งไปกว่าจิตสามัญทั้งปวง เพราะจิตสามัญทั้งปวงนั้นเป็นจิตที่เป็นไปตามความใคร่ปรารถนา จิตตกไปตามอารมณ์ใคร่ ตามปรารถนา ตามพอใจ ซึ่งมีปรกติดำเนินไปในทางกามเป็นพื้น ที่เรียกว่า กามาพจร ทางอภิธรรม คือเที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม เป็น กามาวจรจิต อยู่เป็นพื้น อาลัยของจิต เพราะฉะนั้น กามคุณารมณ์จึงเรียกว่า อาลัย คือเป็นที่พัวพันอาศัยของกามาวจรจิตทั้งหลาย เหมือนอย่างน้ำชื่อว่าอาลัย โดยที่เป็นที่อาศัยของปลา ปลาอาศัยอยู่ในน้ำฉันใด กามาวจรจิตก็อาศัยอยู่ในอาลัย คือกามคุณารมณ์ฉันนั้น นี้เป็นจิตสามัญ

ส่วน อธิจิต แปลว่า จิตอันยิ่ง คือ จิตที่ยิ่งไปกว่าจิตสามัญดังกล่าว เพราะมาปฏิบัติให้จิตตั้งอาศัยอยู่ในกุศลธรรมนิมิตเป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งสูงกว่ากามจิตสามัญ ของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ
    สาธุชนที่ได้อ่านศึกษามาถึงตรงนี้ เริ่มจะเห็นความแตกต่าง และ เริ่มจะมองเห็นลาง ๆได้แล้วว่า มีส่วนที่เคยขาดหายไป และสงสัยนั้นได้เติมเต็ม กว่าที่เคยได้ศึกษามาก่อนหน้านี้

ด้วยว่า... อารมณ์กรรมฐานทั้งปวงนั้นเป็นที่อาศัยของจิตที่สูงกว่ากามคุณารมณ์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์ อันเป็นที่อาศัยโดยปรกติของกามาวจรจิตของตน ขึ้นมาสู่อารมณ์ของกรรมฐาน จะเป็นกรรมฐานข้อไหนก็เป็นอารมณ์ที่สูงกว่ากามาวจรจิตทั้งนั้น

แต่ในสติปัฏฐาน อันเป็นหนทางเดียวอันเป็นหลักปฏิบัติไปสู่พระนิพพาน เริ่มตั้งแต่ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้า ตั้งลมหายใจออก ก็เป็นการยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์ มากำหนดในอารมณ์กรรมฐานคือลมหายใจเข้าออก ในข้อว่าด้วยอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ ว่าด้วยอิริยาบถน้อย และต่อไปว่าด้วยสติที่ไปในกาย คือพิจารณากายแยกออกเป็นธาตุต่างๆ ก็เป็นนิมิตที่สูงขึ้นไปกว่านิมิตทางกามทั้งนั้น หรือเป็นอารมณ์ที่สูงกว่ากามคุณารมณ์ทั้งนั้น ทุกข้อทุกบท

เพราะฉะนั้น ข้อ ๑ จึงได้ตรัสสอนไว้มีความว่า เมื่อกำหนดนิมิตอันใดที่เป็นกุศลขึ้น จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยฉันทะคือความพอใจในกาม ประกอบด้วยโทสะความขัดเคืองโกรธแค้น ประกอบด้วยโมหะความหลงบังเกิดขึ้น ก็พึงทำไว้ในใจ กำหนดนิมิตอื่น(อันเป็นกุศลธรรม=นะโม...) เพื่อให้จิตถอน จากนิมิตอกุศลธรรมนั้น

เมื่อกำหนดนิมิตอันเป็นกุศลธรรม(นะโม....)  เหนือจากนิมิตอกุศลธรรมนั้นได้ อกุศลธรรมทั้งหลาย หรืออกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย อันประกอบด้วยความพอใจในกามบ้าง ประกอบด้วยความขัดเคืองโกรธแค้นบ้าง ประกอบด้วยความหลงบ้าง ก็ย่อมจะสงบไป เปรียบเหมือนอย่างช่างไม้ หรือศิษย์ของช่างไม้ ตอกลิ่มสลักอันเก่าออก ด้วยลิ่มสลักอันใหม่ที่ดี ดั่งนี้

บรรยายเพลิน ยาวเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ยังไม่ครบสมบูรณ์ในเนื้อหา
   ที่เหลือต้องไว้ต่อในโอกาสหน้า

ขอความผาสุขสวัสดี มีโชคชัยจงบังเกิดแก่สาธุชน ผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลายทั่วกันเทอญ
    เจริญพร




หมายเหตุ ::: การกำหนดนิมิตอันเป็นกุศลธรรม นั้นคือ การฝึก "ปริต" คือให้ ปาก(วจีสังขาร) กับ ใจ(มโนสังขาร) เป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังขารทั้งสองนี้ เรียกว่า "สมาธิ" จัดเป็นกุศลธรรมเพราะเป็นองค์แห่งมรรคสัจจะเรียกว่า "สัมมาสมาธิ"
  ด้วยกการดั่งนี้ จึงใช้ "สมาธิ" นั้น ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาเพื่อถึงซึ่งพุทธานุภาพเป็นที่พึ่ง ดั่งนี้


1 กันยายน 2558


"อธิจิต". ต่อจากครั้งที่แล้ว

    โดยปกติปุถุชนสามัญทั่วไปแล้วเมื่อยังมิได้ปฏิบัตินั้น จิตย่อมอาศัยคลุกเคล้าอยู่กับกามคุณารมณ์เป็นประจำ ฉะนั้นจิตนี้เองจึงประกอบด้วย กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในทางกามบ้าง โทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง โมหะความหลงบ้าง

ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน จึงยกจิตขึ้นจากอารมณ์อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปอาศัยของจิตนั้น ขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเป็นดั่งนี้ อกุศลธรรม อกุศลวิตก ทั้งหลายดังกล่าวก็จะสงบลง

และการปฏิบัติดั่งนี้ ก็เป็นเหมือนอย่างว่าไม้กระดานที่มีลิ่มสลักอันเก่าตอกติดอยู่แล้ว เมื่อต้องการที่จะนำเอาลิ่มสลักอันเก่านั้นออก ก็นำเอาลิ่มสลักอันใหม่ที่ดีมาตอกลงไปตรงนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ลิ่มสลักอันใหม่ที่ตอกลงไปนั้น แข็งแรงกว่า ดีกว่า จึงตอกเอาลิ่มสลักอันเก่าหลุดลงไปได้ และไปตั้งอยู่แทนที่ลิ่มสลักอันเก่าที่หลุดออกไปนั้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงต้องตั้งต้นด้วยข้อนี้


อธิบายประกอบต่อไปว่า อันกามคุณารมณ์เป็นต้น ซึ่งเป็นที่อาศัยท่องเที่ยวไปของจิตสามัญ แม้ว่าจะยกเอากามขึ้นมาเป็นที่ตั้งเพียงข้อเดียว ก็พึงทราบว่า เมื่อมีกามก็ต้องมีโทสะ และต้องมีโมหะ ก็เป็นอันว่าที่เรียกว่ากามคุณารมณ์นั้นก็รวมทั้งกิเลสกองโทสะโมหะ ก็เป็นอันว่ากิเลส ๓ กอง คือราคะ โทสะ โมหะ หรือว่ากามฉันท์ โทสะ โมหะ หรือ พยาบาท โมหะ ซึ่งรวมเข้าเป็นกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ ๓ กองนี้ ย่อมสัมพันธ์กันอยู่ มีข้อราคะนำ หรือกามฉันท์นำ ก็จะต้องมีโทสะ มีโมหะ และข้อใดข้อหนึ่งก็อาจจะนำด้วยกันได้ทั้งนั้น และโดยเฉพาะโมหะนั้นอยู่ลึกซึ้งสักหน่อยหนึ่ง เรียกว่าเป็นมูลของทั้งหมดก็ได้

แต่ว่าที่ปรากฏอาการออกมาแจ่มชัดอยู่บ่อย ๆ ก็เป็นราคะ หรือกามฉันท์ หรือโทสะ และโมหะที่แสดงอาการหยาบ ๆ ออกมาก็เป็น ความง่วง ความเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ความเคลือบแคลงสงสัยต่าง ๆ แล้วยังมีโมหะที่ลึกซึ้งลงไปอีก ก็เป็นอันว่าจิตนั้นท่องเที่ยวไปอยู่ ประกอบอยู่ กับบรรดากิเลสเหล่านี้ ยกขึ้นพูดคำเดียวว่า กามาวจรจิต หรือจิตที่เป็นไปกับกามคุณารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงเหมือนอย่างว่าเป็นลิ่มสลักที่เสียบจิตอยู่เป็นประจำ และจิตนี้เองก็มีความพอใจในสิ่งที่เสียบจิตอยู่นี้ด้วย เรียกว่ามีความติด ติดอยู่ในกิเลสที่เสียบจิตนี้ ไม่พยายามที่จะสลัดออก

เพราะฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ยกระดับจากสมาธิขั้นต้น สู่สมาธิขั้นสูง ที่ต้องทำด้วย “ใจ” คือ อัปปนาสมาธิ ซึ่งเกิดได้เฉพาะในมโนทวารวิถีเท่านั้น

ดังที่ทรงตรัสสอนไว้ในสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติแม่บทของกรรมฐานทั้ง ๔๐ ชนิด อารมณ์ของกรรมฐานที่ยกจิตขึ้นสู่นี้ ก็เหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่ การที่จะให้ลิ่มสลักอันใหม่ลงไปสู่จิต หรือเข้ามาสู่จิตได้นั้น ก็จะต้องถอนเอาลิ่มสลักอันเก่าออกเสียให้ได้ และในการที่จะถอนลิ่มสลักอันเก่าออกเสียให้ได้นั้น ก็จะต้องมีลิ่มสลักอันใหม่ที่แข็งแรงกว่าที่ดีกว่า และจะต้องมีกำลังตอก

ในการตอกนั้นที่ช่างไม้ตอกลิ่มสลัก ปรกติจะต้องมีไม้ค้อน ทำไมจะต้องมีไม้ค้อนก็เพราะว่า  ลำพังกำลังมือจะเอามือตอก หรือเอามือไปดัน ๆ ไม่สำเร็จ จะต้องมีไม้ค้อน และจะต้องออกกำลังตอก ทั้งลิ่มสลักอันใหม่นั้นก็จะต้องแข็งแรง ไม่ใช่ไม้ผุ ต้องเป็นไม้ที่แข็งแรงที่ดียิ่งไปกว่าลิ่มสลักอันเก่า และก็มีกำลังตอกที่แรงพอ จึงจะดันเอาลิ่มสลักอันเก่าที่เสียบไม้กระดานอยู่เก่านั้นหลุดลงไปได้



ขอความผาสุขสวัสดี เข้าใจในธรรมปฏิบัติก้าวหน้า. สมปรารถนา จงทุกท่านเทอญ

โปรดติดตาม เนื้อหา "อธิจิต". ในตอนต่อไป



2 กันยายน 2558





เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ จึงได้ตรัสสอนอุปการปฏิบัติ ที่เหมือนอย่างเป็นไม้ค้อน เป็นพลังเรี่ยวแรงในการตอกไว้คือ

อาตาปี ความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน คือความเพียรที่เป็นเพียรอันแข็งแรง ที่จะระงับกิเลสลงได้ ไม่ใช่ทำเล่นๆคือต้องทำจริง เป็นความเพียรที่แข็งแรง

สัมปชาโณ รู้พร้อมหรือรู้ตัว คือรู้ที่ตั้งของ “ใจ” ว่านิยะมะตรงไหน ธาตุอะไร ?

สโต สติกำหนดระลึกรู้ อารมณ์ ณ ขณะ ตั้งอยู่ของลม ตรงตำแหน่งของใจ

วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดอภิชฌาคือความยินดี โทมนัสคือความยินร้ายในโลกเสีย


ดั่งนี้ ๔ ข้อนี้เป็นอุปการะปฏิบัติในการที่จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงไป ดังเช่นจะทำอานาปานสติ จะกำหนดอิริยาบถ จะทำกายคตาสติ พิจารณากาย ว่าแท้จริงเป็นธาตุทั้ง๔เป็นต้น กรรมฐานเหล่านี้ก็เป็นเหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่ ตอกเอากรรมฐานข้อที่ตั้งปฏิบัติไว้ลงไปในอารมณ์ ที่จะต้องไว้ระลึกรู้  จึงต้องมีความเพียรที่มีเรี่ยวแรงจริง ๆ

แล้วก็มีสัมปชาณะ ความรู้ตัว(กายในกาย) รู้ไม่ทิ้งตัว(กายเนื้อ) มีสติกำหนดกำจัดยินดียินร้าย ปฏิบัติทำกันจริง ๆ
 เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะตอกเอาลิ่มสลักอันเก่าให้หลุดไปได้ และ เมื่อตอกให้หลุดไปได้แล้วจิตก็ได้สมาธิ
เพราะฉะนั้น การที่ผู้ปฏิบัตินั้นแม้ว่าจะตอกได้บ้าง แต่ว่าก็ยังนำเอาสลักอันเก่านั้นกลับเข้าที่เดิมไปอีก กลับไปกลับมากันอยู่ดั่งนี้ การปฏิบัติจึงเจริญไปไม่ได้มาก ฉะนั้นการที่จะปฏิบัติให้เจริญขึ้นได้มากนั้น จึงต้องพยายามที่จะตอกกันจริง ๆ และพยายามที่จะไม่นำเอาลิ่มสลักอันเก่ากลับเข้ามาอีก เมื่อเป็นได้ดั่งนี้แล้วกรรมฐานถึงจะเจริญ สมาธิปัญญาก็จะเจริญขึ้นไป

ดังที่ยกมาแต่ต้นนั้น เป็นตัวอย่างอันขยายความ และชี้ให้เห็นความหมายแห่งคำว่า “อธิจิต” อันจะเกิดขึ้น ณ ขณะที่เกิดการสัมปยุตของ วาจา ใจ รวมเป็นหนึ่ง โดยอาศัย “กุศลธรรม นิมิต” ของคำภาวนา เพื่อเข้าถึงโอปกนศรัทธา ในพุทธานุภาพ คือ

  “อิมาหํ ภณฺเต ภควา อตฺภาวํ ตุมฺหากํ ปริจชามิ ฯ

      ข้าพเจ้าขอมอบกาย ถวายชีวิตและภพชาตินี้ เป็นพุทธบูชา ฯ




สัจจะวาจา อันได้ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชานี้เป็นกุศลธรรมนิมิต มูลฐานให้เกิด “สมาธิ” แม้เพียงจะเป็นขณิกสมาธิ หรือ อุปจารสมาธิ ชั่วขณะหนึ่งนั้น จิตก็ยกขึ้นสู่วิถีสูงกว่า จิตอันมิได้ฝึกฝน-ปฏิบัติ นี้ เรียกว่า “อธิจิต(จิตอันยิ่ง)“ เป็นตัวเชื่อมสุดท้าย ของสภาวะแห่ง ปัญจทวารวิถี (สุดวิถีจิตดวงที่ ๗)*** ขึ้นสู่ มโนทวารวิถี อันเป็นประตูสู่อัปปนาสมาธิ เปิดทางสู่พระนิพพานได้ในที่สุด (อธิจิตสิกขา คือ เป็นผู้มีสัมมาสมาธิในรูปฌานทั้งสี่... มหาสกุลุทายิสุตร ม.ม... รูปฌานทั้งสี่ ล้วนต้องอาศัยนิมิตทั้งสิ้น)

หากขาดเสียซึ่ง “อธิจิต” อันเกิดขึ้นด้วย “สมาธิ มีนิมิตเป็นเครื่องช่วย” ก็จะไม่สามารถพรากพ้นจาก ปัญจทวารวิถี เข้าสู่มโนทวารวิถี เพื่อที่จะปฏิบัติอัปปนาสมาธิ อันจักเกิดขึ้นมิได้ในปัญจทวารวิถีเลย อธิจิตจึงถูกจัดอยู่ในสิกขา ๓ คือ 
อธิสีลสิกขา 
อธิจิตตสิกขา 
อธิปัญญาสิกขา 

ดังมีพุทธพจน์ปรากฏในพระไตรปิฏก ติก. อํ. ๒๐/๓๐๓/๕๒๙. ความว่า

ภิกษุ ทั้งหลาย
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ทั้งหลาย
ภิกษุในศาสนาแห่งตถาคตนี้ สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน
อันมีวิตกมีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่;
เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน
ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่;

อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย(กายในกาย)
ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า "เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข" ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่ ;

เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน,
เข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.
ภิกษุ ทั้งหลาย  นี้เรากล่าวว่า อธิจิตตสิกขา.

แต่ต่อมาภายหลัง นักวิชาการทางศาสนายุคใหม่ในรัตนโกสินทร์ ได้ปรับแปลงแต่งข้อความเสียใหม่ จนกระทั่งความสำคัญของคำว่า “อธิจิต” หายสาบสูญในการสั่งสอนเผยแผ่ ไป โดยให้ความหมายที่คิดเอาเองสั้น ๆ เป็นว่าไตรสิกขา หรือ สิกขา ๓ ศีล สมาธิ ปัญญา ง่าย ๆ สั้น ๆ ตามความเข้าใจของตนเองที่ไม่ได้ปฏิบัติ จึงไม่รู้ซึ้งถึงพุทธประสงค์ และความสำคัญของไตรสิกขาอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้นั้น คืออย่างไร และสำคัญอย่างไร ?

เพราะในทางปฏิบัติ สภาวะสุดท้ายแห่งวาระจิตสุดท้าย เมื่อสุดวิถี(ดวงที่ ๗) ***หากไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามแนวแห่งสติปัฏฐานแล้ว จิตก็จะดับและเริ่มเข้าสู่วาระจิตใหม่ที่อตีตภวังค์ วนเวียนเกิดดับอยู่ในวัฏฏะสงสารอย่างนี้ เนื่องจากจิตไม่ได้รับการฝึกฝนให้ถูกต้องจึงไม่อาจเกิดสมาธิ เมื่อสมาธิ(การรวมเป็นหนึ่ง-ถึงพร้อม) ไม่เกิดขึ้น “อธิจิต” ก็ไม่เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ไม่อาจจะระลึกรู้อารมณ์นิมิต ไม่อาจยกอารมณ์ขึ้นพ้นจากวิถีจิตแห่งปัญจทวารวิถี เพื่อเข้าสู่เข้าสู่มโนทวารวิถีได้ จึงเป็นที่มาของพุทธพจน์ที่ทรงตรัสให้เห็นความสำคัญแห่งอธิจิต คือ จิตอันยิ่ง หมายถึงจิตที่ฝึกสมาธิสติปัฏฐาน ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จคือพระนิพพาน ว่า

 “ จิตฺเต อสงฺกลิตเถ สุขติ ปาฏิกฺกงฺขา ฯ จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้”

           ... สุขในที่นี้คือพระนิพพานอันหาสุขใดจะเปรียบเสมอเหมือนมิได้ ฯ ...

       ฉะนั้น เมื่อปราศจากเสียแล้ว ซึ่ง “อธิจิต” อันต้องอาศัย “นิมิต”เป็นตัวนำ ยกจิตขึ้นสู่มโนทวารวิถีแล้วไซร้ ย่อมมิต้องพึงหวังจะถึงซึ่งพระนิพพาน ได้เลย ดังนี้ ฯ

ด้วยกุศลจิตเจตนา อันสาธุชนทั้งหลาย ได้ศึกษาธรรมนี้ จงเป็นพลวัตรปัจจัย ให้สมปรารถนาในการปฏิบัติ อธิษฐานสมดั่งปรารถนาทุกประการ ทุกท่านเทอญ เจริญพร


***หมายเหตุ : "สุดวิถีจิตดวงที่๗" ... เพราะจิตจะมีวิถี ๗ดวง ตรงนี่แหละ บุญ- บาป จะถูกบันทึก เรียกว่า "ชวนจิต" ชว=บันทึก น=ไม่แปรเปลี่ยน ... มีผลข้ามภพข้ามชาติ ...จะถูกบันทีกไว้ใน "สัญญา"(DNA) จึงต้องBy Pass ด้วย การปฏิบัติ สร้างสัญญานไฟฟ้าชีวภาค(Bio-Electro magnetic) ขึ้นมาด้วยสมาธิ สั่งให้ RNA ส่งสัญญานตรง ไม่ต้องเอารหัสจากDNA มาใช้
    นี่คือ เหตุผลว่าทำไมจึงเปลี่ยนชีวิต และกรรมทั้งหลายได้
 






อธิจิต (ความเดิมตอนที่แล้ว)







สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า)

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS