อธิษฐาน คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา




" อธิษฐาน" ไม่ผิดอะไรกับการออกแบบบ้าน ผู้ออกแบบต้องเรียนรู้และฝึกฝน จนเป็นสถาปนิกผู้ชำนาญการ และแน่นอนที่สุด อย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือ  แบบบ้าน(Blue Print) ที่สถาปนิกออกแบบมานั้น ได้เสร็จสมบูรณ์ " เป็นภาพในใจ" ก่อนที่เขาจะจับปากการ๊อตติ้ง ไม้บรรทัด มาขีดเขียนไปบนกระดาษเสียอีก นี่คือธรรมชาติที่เราทุกรูปนามมีอยู่ แต่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้ใช้ แล้วก็คิดเอง เออ เอง ว่าบ้านหรือตึก สิ่งปลูกสร้าง ใครก็ทำได้ของง่าย ๆ เอาแค่ตอกตะปู โบกปูน ถ้าไม่ผ่านงาน ไม่ฝึกหัดก็ลองดูหน่อยเป็นไร ว่าจะเป็นบ้านให้ผู้คนอยู่อาศัย หรือ เป็นได้แค่ "เพิงหมาแหงน"
    การอธิษฐานก็เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องของการนึกฝัน คิดเอาเอง พอตัวเองทำไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่า "อธิษฐาน คือ การอ้อนวอนของคนหมดหนทาง "   อืม !!…… นะ

      คำว่า “อธิษฐาน” ตามความเข้าใจของคนทั่วไปมักหมายถึงการอ้อนวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ เช่นการไปกราบไหว้พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่าง ๆ  หรือไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็ขอให้ตนได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และมีการบนบานศาลกล่าวด้วยว่า ถ้าตนได้สมประสงค์ในสิ่งที่อ้อนวอนแล้ว ก็จะนำสิ่งของหรือจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มาสักการะเพื่อเป็นการตอบแทน การอ้อนวอนจึงมักเกี่ยวโยงกับการบนบานศาลกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง " อธิษฐาน กับ การอ้อนวอน " ไว้ว่า

เวลานี้ คนไทยทั่วไปก็เข้าใจเคลื่อนคลาดผิดพลาดไปในความหมายของ “อธิษฐาน” มักนึกถึงอธิษฐานในความหมายที่เป็นการอ้อนวอนปรารถนา เรื่องก็เลยกลายเป็นว่าอธิษฐานของคนไทย กับอธิษฐานของพระไม่เหมือนกัน พูดง่าย ๆ ว่า "คนไทยอธิษฐานเพื่อจะได้ แต่พระสอนให้อธิษฐานเพื่อจะทำ "(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), จาริกบุญ จาริกธรรม, (กรุงเทพฯ : พิมพ์สวย, ๒๕๔๑),หน้า ๓๓๑.

        การอธิษฐานบารมีตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการตั้งจุดมุ่งหมายหรือความปรารถนาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเพื่อกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยอาศัยการกระทำของตน

        กล่าวคือ เมื่อมีการตั้งความปรารถนาแล้วก็ดำเนินตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างแน่วแน่ เช่น การตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า หรือตั้งความปรารถนาเป็นพระสาวกเอตทัคคะด้านต่าง ๆ เป็นการตั้งจุดมุ่งหมายแล้วก็ปฏิบัติตนตามจุดมุ่งหมายนั้น ๆ มีหลักการและวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน
ซึ่งการตั้งจุดมุ่งหมายนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ทำบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแล้วจึงอธิษฐานหรือตั้งความปรารถนา จากนั้นก็ทุ่มเทบำเพ็ญบารมีเพื่อให้ไปถึงจุดหมายนั้น เน้นการกระทำของตนเป็นสำคัญ ต่างจากการอ้อนวอนซึ่งหลังจากอ้อนวอนแล้วก็ไม่มีหลักการที่แน่นอนว่าตนเองจะทำอะไรให้ได้ในสิ่งที่อ้อนวอนนั้น ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเทพเจ้าแล้วแต่จะดลบันดาลให้ อันเป็นลักษณะของศาสนาเทวนิยม ซึ่งไม่ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา การอธิษฐานเป็นการทำเหตุให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนาโดยตนเอง แต่การอ้อนวอนหวังผลจากสิ่งภายนอก หรืออาจกล่าวได้ว่าการอธิษฐานเน้นที่ผลสัมพันธ์กับเหตุ ส่วนการอ้อนวอนเน้นที่ผลไม่สนใจเหตุ...

อธิษฐาน ประกอบด้วยองค์ 3 คือ. สัจจะ จาคะ ธัมมะ

1. ถึงพร้อมด้วยสัจจะ คือ วาจา อันกล่าวมาจาก "ใจ" หรือ วาจากับใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่างกับการพูดทั่วไป จึงต้องฝึกให้ วาจา กับ ใจ ออกเสียงพร้อมกัน

2. ถึงพร้อมด้วยจาคะ คือ ทาน ไม่มีทานใดจะยิ่งไปกว่าการให้ชีวิตของตน เพราะมนุษย์ สัตว์ทุกรูปนาม ย่อมรักชีวิตของตน ดังนั้น การกล่าวสัจจะวาจา ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา จึงมีความสำคัญยิ่งเป็นอันดับที่ ๒ จึงต้องฝึกกล่าวทุกวัน

3. ธัมมะ  ที่ตั้ง หมายถึงคำที่กล่าวเป็น วลี ออกมานั้นจะต้องออกมาจากฐานที่ตั้งของใจ จึงเรียกกันสืบมาว่า "ตั้งใจ" (แต่เอาเข้าจริง จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า ณ เวลานั้น ๆ ใจอยู่ที่ไหน ? พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า " สิ่งทั้งหลาย ย่อมสำเร็จได้ด้วยใจ" ดังนั้นเมื่อไม่รู้ที่ตั้งของใจ อะไรก็ไม่สำเร็จ


           ด้วยเหตุดั่งนี้ ท่านจึงให้ฝึก "หาที่ตั้งของใจ โดยใช้ลม" เรียกว่า "ลมหาใจ" (สมัยต่อมาเพี้ยนเป็น "ลมหายใจ") การฝึกนี้เป็นขั้นต้น ในพระบาลีเรียกว่า "อาปานสติ" แยกคำออกเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้ คือ
อา=ลมที่เราสูดเข้าไปทางจมูก.
ปา=ลมที่ออกมาทางจมูก
สติ=ระลึกรู้ลมที่เข้าออกนั้น

หมายเหตุ :::
เมื่อเวลาผ่านมานับพันๆ ปี ภาษาที่ใช้ก็เพี้ยนไป การคัดลอกคัมภีร์สืบต่อ ก็พลอยผิดไป เนื่องจากการถ่ายทอดการปฏิบัติ จะใช้แบบมุขปาฐะ เฉพาะศิษย์ที่ใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันกัน มิให้เกิดเหตุเดียรัจถีย์ปลอมบวช(ดั่งเช่น ศังการพราหมณ์) ได้ความลับของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาไป และนำไปใช้ในทางอกุศล ดังนั้นการถ่ายทอดด้วยเสียงพูด(มุขปาฐะ) ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดเพี้ยนไป

     โดยเฉพาะ องค์แห่งการอธิษฐานที่ 3 คือ ธมฺม (อ่านว่า ทำ มะ……แปลว่า ทรงไว้ ตั้งไว้ รักษาไว้) เป็น ธ. ธง ผู้ฟังก็ได้ยินเป็น ท.ทหาร จึงบันทึกเป็น ทมะ (อ่านว่า ทะ มะ แปลว่า. ทมะการรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง ทมะ หมายถึง ความรักในการฝึกฝนตนเอง ... ทันต่อกิเลส หมายถึง รู้เท่าทันกิเลสภายใน ตัวของเรา รู้ว่าอะไร คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต อะไรคือสิ่งฟุ่มเฟือย สิ่งไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์) ซึ่งก็ใกล้ความจริงในความหมาย แต่มันไม่ใช่ เหมือน วัวกับควาย ใช้ไถนาได้ ดูคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อความผิดเพี้ยนทางภาษาเกิดขึ้น เวลาผ่านไป หาผู้รู้จริงจากการปฏิบัติไม่ได้ จึงยึดตำรา และเมื่อนำตำรามาเป็นแนวทาง การปฏิบัติ "อธิษฐาน" ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จึงไม่เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ จึงพากันกล่าวเบี่ยงเบนไปว่า การอธิษฐานคือ "ความโลภ…อยากได้ หรือ เป็นพุทธต้อง ลด ละ เลิก จะอธิษฐานไปทำไม ผิดทางที่พระพุทธเจ้าสอน ……เอาพระพุทธเจ้ามาปิดปากคนที่ถามอยากปฏิบัติ. (ซึ่งถ้าผู้ที่กล่าวเช่นนั้นเป็นภิกษุก็ต้องครุกาบัติ(อาบัติหนักที่ปลงไม่ได้ ฐานกล่าวตู่พุทธพจน์ที่ไม่มีอยู่จริง) เพราะทุกระดับชั้นในการปฏิบัติ ไมว่าปฐมฌาน ไปจนถึงขั้น สัมโพธิญาณ ต้องอาศัยการอธิษฐานทั้งสิ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ พระพุทธองค์ในอดีตชาติยังทรงอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า แม้ก่อนจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ยังทรงอธิษฐานลอยถาด แม้ว่าทรงตรัสรู้แล้วในการเผยแผ่พระพุทธองค์ก็ทรงอธิษฐาน และทรงสั่งสอนถ่ายทอดให้กับพุทธบริษัท เพราะอธิษฐาน คือ "หัวใจของพระพุทธศาสนา"

ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ ความเจริญก้าวหน้า ในธรรมะ-ปฏิบัติ ตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ความสมบูรณ์ด้วยลาภ โชค โภคทรัพย์ สมปรารถนาในสิ่งอันเป็นกุศล จงบังเกิดผลโดยพลัน แก่สาธุชนทุกท่าน ดั่ง "ใจอธิษฐาน" ทุกประการ เทอญ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น: