"มนุษย์ กับ เทวดา เวลาที่แตกต่าง" (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 9 กันยายน 2558)




ว่าด้วยเรื่อง
"มนุษย์ กับ เทวดา เวลาที่แตกต่าง"








ในครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงการ. "ทำบุญสร้างวิหาร ลานธรรม ปลูกต้นไม้ ปลูกป่าเพื่อพระสงฆ์ได้ใช้อาศัยร่มเงา ในการปฏิบัติภาวนา และการอนุโมทนาด้วยใจ อันบริสุทธิ์ ส่งผลให้ไปจุติเป็นนางฟ้ามีทิพยวิมานอันงดงาม

การเกิดของเทวดาไม่เหมือนกับการเกิดของพวกเราเหล่ามนุษย์ ไม่ต้องเกิดในครรภ์มารดา(ท้องแม่)ให้ยุ่งยาก เมื่อหมดอายุขัยหรือตายจากภพภูมิมนุษย์ไปแล้ว ก็ไปเกิดทันทีเป็นหนุ่มเป็นสาว โตเต็มที่แบบทันตาเห็นไม่ต้องไล่เรียงเป็นเด็กแล้วเป็นผู้ใหญ่ตามกาลเวลา การเกิดล้กษณะนี้เรียกว่าเกิดเป็น “โอปปาติกะ” เป็นการเกิดแบบหนึ่ง โดยร่างกายของโอปปาติกะ จะมีสภาพเป็น Plasma คือโปร่งแสง

ซึ่งในทางพุทธศาสนาแบ่งการเกิดของสัตว์ทั้งหลายเอาไว้ 4 แบบ  คือ

1. การเกิดแบบ “ชลาพุชะ” คือ พวกสัตว์ทั้งหลายที่ต้องเกิดในครรภ์ หรืออาศัยท้องแม่เกิดอย่างพวกมนุษย์เรา หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลือดอุ่นหลายๆ ประเภท

2. การเกิดแบบ “อัณฑชะ” อ่านคำว่า อัณฑะ แปลความได้ว่าเกิดมาจากไข่แล้วก็ฟักออกมาเป็นตัวอย่างพวกไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกทั้งหลายที่เราเอาไข่พวกมันมาทำเป็นอาหารแบบต่าง ๆ

3. การเกิดแบบ “สังเสทชะ” พวกนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำลงไปอีกต่ำกว่า อัณฑชะ คือเกิดมาจากของแฉะชื้นสกปรกและของเน่าของบูดทั้งหลายอย่างพวกหนอน สัตว์ชั้นต่ำและแพร่พันธ์ออกไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าอยากลองพิสูจน์ ก็ลองสังเกตุเศษอาหารเน่าๆ ที่ทิ้งไว้ข้ามคืนดู รับรองว่าเกิดตัวหนอนขึ้นมายั้วเยี้ยเต็มไปหมด

4. การเกิดแบบ “โอปปาติกะ” อย่างที่เรียนไว้ตั้งแต่ต้นคือพวกนี้พิเศษกว่า 3 แบบแรกคือตาปกติ หรือตาเนื้อของคนเราทั่วไปที่มองไม่เห็น ต้องเป็นผู้ที่มีพลังจิตกล้าแข็งได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีมีความสามารถพิเศษ (คำพระท่านว่ามี อภิญญาจิต) คือมีร่างกายโปร่งแสงเรียกว่าPlasma ที่เราเรียกว่า "เทพยดา"


อายุของเทพยดาจะยืนยาวกว่ามนุษย์ของเรามาก เพราะไม่มีโรคภัย การเจ็บป่วย ก็จะขอนำเอาข้อมูลมาเสริมให้สมาชิกได้ศึกษา ว่าเวลาของแต่ละชั้นของเทวดา แตกต่างกับโลกมนุษย์เราอย่างไร ?

::: สมการเทียบเวลาเทพยดา

 วันทิพย์ เท่ากับ 50 ปีโลกมนุษย์ดังนั้นเท่ากับ 500X360X50 = 9,000,000 ปี
 1 ปีทิพย์ของสวรรค์แต่ละชั้นเท่ากับ 360 วันทิพย์ของสวรรค์แต่ละชั้น

ชั้นจาตุ      มีอายุ 500 ปีทิพย์

ชั้นดาวดึงส์ " " 1000 " " 1 " " 100 " " เท่ากับ 36,000,000 ปี

ชั้นยามา     " " 2000 " " 1 " " 200 " " เท่ากับ 144,000,000 ปี

ชั้นดุสิต      " " 4000 " " 1 " " 400 " " เท่ากับ 576,000,000 ปี

ชั้นนิมมา    " " 8000 " " 1 " " 800 " " เท่ากับ 2,304,000,000 ปี

ชั้นปรมิน    " " 16000 " " 1 " " 1600 " " เท่ากับ 9,216,000,000 ปี

เมื่อได้กล่าวถึงเทวดาแล้ว ก็จะเว้นเสียมิได้ที่จะต้องกล่าวถึงเทพชั้นพรหม ซึ่งเทพชั้นพรหมนี้ ผู้ที่จะมาบังเกิดได้ จะต้องเป็นผู้ที่ "ปฏิบัติทางสมาธิ" เท่านั้น ไม่ใช่แค่ "ทำดี".


อายุของพระพรหม รูปฌาน 1 ถึง รูปฌาน 4

โยคีหรือผู้ที่ปฏิบัติด้วยหนทางอื่น เช่น บูชาไฟพร้อมกับสวดมนต์ภาวนา อันมิใช่ มนัสิการอานาปานัสสติปัฏฐานซึ่งเป็น อริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผลโดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)ตามพุทธวิถี เท่านั้น หนทางอื่นไม่มี...

แม้โยคี หรือผู้ปฏิบัติวิธีอื่น จะได้บรรลุฌานฤทธิ์ ก็บังเกิดเป็นพรหมสูงสุดได้เพียงระดับมหาพรหมเท่านั้น คือ

-  รูปฌาน 1 มีอยู่ 3 ชั้น

  ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างอ่อน ย่อมบังเกิดในปาริสัชนาพรหมมีอายุ 1/3 กัป

 ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างกลาง ย่อมบังเกิดในปุโรหิตพรหมมีอายุ 1/2 กัป

 ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างสูง ย่อมบังเกิดในมหาพรหมมีอายุ 1 กัป



ที่มาการปฏิบัติแห่ง มนสิการอาปานัสสติปัฏฐาน (ที่เราท่านได้ฝึกปฏิบัติกันอยู่นี้) แตกต่างไปจากหนทางปฏิบัติสมาธิในแนวทางอื่น ที่เหล่าโยคีทั้งหลายปฏิบัติกัน อันปรากฏเป็นพระบาลีที่พระพุทธองค์ทรงตรัสยืนยันไว้ชัดเจนว่า เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ว่า

อิทํ ปน อาปานสฺสติกมฺมฏฺฐานํ ครุกํ ครุกภาวนิ

พุทธปจฺเจกพุทฺธ พุทฺปุตฺตานํ มหาปุริสานํเยว มนสิการ ภูมิ ภูตํ.

... อาปานัสสติกัมมัฏฐาน เป็นของยาก อบรมได้ยาก ในการตั้งตำแหน่งของมหาภูตรูปนั้นด้วยใจ อันเป็นภูมิแห่งพระพุทธเจ้า และ พุทธบุตรทั้งหลาย

เอกมคฺโคติ เอโก เอวมคฺโค... เป็นหนทางหนึ่งเดียวนี้ไม่มีทางสายอื่นอันไปสู่พระนิพพาน...


ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติตามพุทธวิถีแห่ง มนสิการอานาปานัสติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค โดยอุคหโกศลคือ "วจสา" = การเปล่งวาจาด้วยพฤติแห่งการสัปยุติ(ถึงพร้อม) แห่งวจีสังขาร(วาจา)+มโนสังขาร(ใจ) เป็นหนึ่งเดียวกัน สภาวะการถึงพร้อมนี้ก่อให้เกิด "สมาธิ" จัดเป็น "มหคจิต" และ มหคตารมย์ อันเป็นอารมณ์แห่งพรหมชั้นปริตตา(จึงเรียกว่า ปริต) และได้ระลึกรู้อารมณ์นั้น. "เปล่งคำถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา" อานิสงค์ของผู้ที่เปล่งคำพร้อม ณ เวลานั้น เมื่อถึงกาลกิริยาจากภพภูมิมนุษยโลกไป ย่อมได้ไปจุติเป็นพรหมชั้นปริตตาภาพรหมณ์ มีอายุ ๒ กัป  ดังนี้

และนี่คือคำตอบว่า" เหตุใด ผู้ที่ได้สมาธิ"ปิติ". สัมมาสัมพุทธัสสะ ". อันเป็นส่วนของ"มหาพรหม"
ซึ่ง เป็นชั้นของโยคีที่ได้สมาธิแบบอื่น อันมิใช่ มนสิการอาปานัสติกัมมัฏฐาน ปฏิสัมภิทามรรค จึงต้องมาคุ้มครองดูแล


ผู้ที่ได้ "อธิจิต" จากการปฏิบัติ วาจา+ใจ ถึงพร้อม เพราะเส้นทางแห่งสติปัฏฐาน เป็นทางสายเดียวที่ไปถึงพระนิพพาน จึงจุติในชั้นพรหมที่สูงกว่า แม้สภาวะสมาธิขณะมหคจิตก็เช่นกัน ดังนี้

-  รูปฌาน 2 มีอยู่ 3 ชั้น
ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างอ่อน ย่อมบังเกิดในปริตตาภาพรหมมีอายุ 2 กัป

ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างกลาง ย่อมบังเกิดในอัปปมาณภาพรหมมีอายุ 4 กัป

ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างสูง ย่อมบังเกิดในอาภัสสราพรหมมีอายุ 8 กัป

-  รูปฌาน 3 มีอยู่ 3 ชั้น
ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างอ่อน ย่อมบังเกิดใน ปริตตสุภาพรหมมีอายุ 16 กัป

ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างกลาง ย่อมบังเกิดในอัปปมาณสุภาพรหมมีอายุ 32 กัป

ผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างสูง ย่อมบังเกิดใน สุภกิณหาพรหมมีอายุ 64 กัป

-  รูปฌาน 4 มีอยู่ 2 ชั้น
เวหัปผลพรหมมีอายุ 500 กัป
อสัญญสัตราพรหมมีอายุ 500 กัป


สุทธาวาสพรหมมี 5 ชั้น เป็นภพของพระอนาคามี
1. อวิหามีอายุ 1,000 กัป
2. อตัปปามีอายุ 2,000 กัป
3. สุทัสสามีอายุ 4,000 กัป
4. สุทัสสีมีอายุ 8,000 กัป
5. อกนิฏฐามีอายุ 16,000 กัป

อรูปพรหมมี 4 ชั้น
1.อากาสานัญจายตนพรหมมีอายุ 20,000 กัป
2.วิญญาณัญจายตนพรหมมีอายุ 40,000 กัป
3.อากิญจัญญายตนพรหมมีอายุ 60,000 กัป
4.เนวสัญญานาสัญญายตนาพรหมมีอายุ 84,000 กัป


ท่านทั้งหลายคงสงสัยว่า กัปหนึ่ง ๆ ที่ว่านั้น เทียบกับเวลามนุษย์จะเป็ระยะเวลาเท่าใด

เรื่องของกัปจากพระไตรปิฏกประมาณคำว่า 1 กัปได้ดังนี้


สมมุติ บ่อน้ำบ่อหนึ่ง กว้าง 100 โยชน์ ยาว 100โยชน์ และ สูง 100 โยชน์ ในเวลา 100 ปี ให้เอาเมล็ดผักกาด 1 เมล็ด ใส่ลงไปในบ่อนั้น ทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบเสมอกับปกบ่อนั้น. นั่นแหละจึงเท่ากับ 1 กัป

อัตรา1โยชน์ = 16 กิโลเมตร

ดังนั้นบ่อน้ำนี้จึงมีปริมาตร = 1600X1600X1600 = 4,096,000,000 ลูกบาตกิโลเมตร

ประมานว่า เมล็ดผักกาด มีขนาด .5 มิลลิเมตร
1 กิโลเมตรเทียบเป็นมิลลิเมตรได้ดังนี้ 10X100X1000 = 1,000,000 มิลลิเมตร

จะได้ 1 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = (1,000,000)/0.5 = 2,000,000 เมล็ด

ดังนั้น 1600 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = 1600X2,000,000 = 3,200,000,000 เมล็ด

ถ้าเป็นปริมาตร คือ กว้าง*ยาว*สูง ต้องใช้เมล็ดผักกาดทั้งหมด คือ
3,200,000,000X3,200,000,000X3,200,000,000 = 32,768,000,000,000,000,000,000,000,000 เมล็ด

ใน 100 ปี ใส่เมล็ดผักเพียง 1 เมล็ด ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งหมดคือ
32,768,000,000,000,000,000,000,000,000X100 = 3,276,800,000,000,000,000,000,000,000,000 ปี

จึงได้เวลา 1 กัป ประมาณ สามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นหกพันแปดร้อยล้านล้านล้านล้านปี
ประมาณ 3.3 X 10**30 ปี (เครื่องหมาย ** เป็นเครื่องหมาย ยกกำลัง)

จากที่ได้เทียบระยะเวลาบรรพกาล กับ ปัจจุบันมาหมดนี้อาจจะทำให้สาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลปฏิบัติ ได้หวลระลึกนึกถึง ว่า เหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “สติ คือ ธรรมอันมีอุปการะยิ่ง” และให้ทรงฝึกสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค เพื่อล่วงพ้นความทุกข์โทมนัส และการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร

นั่นก็เพราะว่า เมื่อใดก็ตาม ที่ผู้ไม่ได้ฝึกควบคุมสติให้อยู่ในอำนาจ ย่อมพลาดให้กับ “อกุศลมูลจิตนำพาให้เราลงสู่อบายภูมิ(นรก) อันประกอบด้วยความทุกข์ทรมานสุดแสนบรรยาย

และเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นมหาลาภอันยิ่งใหญ่ ที่ “เรา” เป็นผู้เลือกเส้นทางเดินของเราเองได้ ว่าจะไป นรก สวรรค์ พรหม หรือ นิพพาน


เพียงแค่ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็น แต่ส่วนใหญ่มักประมาท ผลัดวันประกันพรุ่งเสียเวลาไปกับสิ่งไร้สาระ แค่ปฏิบัติวันละไม่กี่นาที ก็ผลัดไว้วันพรุ่งนี้ หาเหตุผลมาโกหกตัวเอง

และเมื่อชีวิตจะแตกดับนาทีสุดท้าย แม้คิดได้ก็สายไปเสียแล้ว นี้เรียกว่า “ผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท” คือ ขาดสติ เนื่องจากมิได้ฝึกฝนปฏิบัติในสติปัฏฐาน พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้เป็นปัจฉิมโอวาทว่า “อปมาเทน สมฺปาเทถา ติ ...ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม..”



ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ ขอความผาสุข สวัสดี มีความเจริญ ก้าวหน้าในธรรม สิ่งใดอันปรารถนาแล้วด้วยกุศล จงสัมฤทธิผลโดยพลัน แก่สาธุชนทุกท่านผู้ปฏิบัติชอบ เทอญ ฯ



หมายเหตุ::: วิสัชนา ว่า เหตุใดผู้ที่ปฏิบัติในส่วนอุคหโกศล มนสิการ อาปานัสติปัฏฐาน มีวาจา+ใจ ถึงพร้อม เกิด. "ปิติ" โดยอาศัย "นะโม" เป็นนิมิต เรียกว่า "ปริต". สมาธิสำเร็จด้วยการปริกรรม ในทางสติปัฏฐาน เป็นอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผลโดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)ตามพุทธวิถี เท่านั้น หนทางอื่นไม่มี...

จึงเป็นอานิสงค์ให้ไป จุติในชั้น "ปริตาพรหม" ซึ่งเป็นรูปพรหมชั้นที่ 2  จึงสูงกว่ารูปพรหมชั้นที่ ๑ ดังนี้






สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS