รวมคำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล เดือน พฤษภาคม 2557

๔ พฤษภาคม  ๒๕๕๗


ตอบคำถามลูกศิษย์
การกำหนดเวลาหลับตื่น เป็นขั้นที่ 3 นะ ความจริงต้องฝึกตามลำดับ จึงจะได้ผล ข้ามขั้นมักจะเสียเวลามาก หรือไม่ได้ผล
ขั้นที่1 หายใจลึก ๆ สุดตรงไหนให้เสียงออกมาจากตรงนั้น โดยการฝึกอ่านหนังสือ หรือร้องเพลง ให้เสียงในใจ เท่ากับเสียงของปาก นี่คือการเชื่อม วจีสังขาร กับมโนสังขาร
ขั้นที่2 สั่งเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นตามประสงค์ คือ เมื่อเสียงใจพร้อมปากได้แล้ว ก็ให้ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ด้วยลักษณะความพร้อมที่ฝึก การระลึกรู้นี้เรียกว่า "สติ" เอาไปตั้งไว้ที่ ปถวีธาตุ จึงเรียกว่า "สติปัฏฐาน" ขั้นนี้เปลี่ยนจากเสียงมาเป็นภาพ ใหม่ ๆ ก็ให้เปล่งวาจาพร้อมภาพว่าทีที่ว่างสำหรับจอดรถ ในห้างสรรพสินค้า ให้ทดสอบ 3 ครั้ง โดยมีพยานไปด้วย
หากผ่านก็ขึ้นสู่ขั้นที่3
ขั้นที่3 คือการกำหนดอนาคต คือ บังคับ "หลับ ตื่น" ให้ตรงเวลา(ส่วนใหญ่ตื่นแต่ขี้เกียจลุกขึ้น) ให้ตรงเวลา 3 ครั้ง แล้วร่นเวลานอนให้น้อยลง เหลือ 1.30ชม คือ หนึ่งชั่วยาม นี่เป็นขั้นที่ 3 ดังกล่าวมา นั่นแหละ
หากรู้ตัวว่าข้ามขั้น กลับไปเริ่มมาใหม่ ไม่งั้นไปไม่รอด เพราะจะไม่สามารถกำหนดเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นตามใจปราถนา ที่จริงแล้วโบราณเรียกว่า "วิชชาวาจาสิทธิ์" นะ ซึ่งก็คือสัจจะวาจานั่นเอง
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ท่าน ก้าวหน้าและสมปรารถนาในการปฏิบัติดั่วกุศลเจตนาทุกประการ สาธุ สาธุ สาธุ


๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗


บทสนทนา


พระอาจารย์ :นมัสการท่าน C Wong ฝึกบังคับหลับตื่นได้ผลหรือไม่ เล่าให้ฟังหน่อย !

ท่าน C wong : ยังไม่ค่อยได้ผลครับพระอาจารย์

พระอาจารย์ : ยังไม่ค่อยได้ผล หมายถึงยังกำหนดให้ตื่นตรงตามเวลายังไม่ได้ ใช่หรือไม่?

ท่าน C wong : ครับอาจารย์

พระอาจารย์ :  กรณีการที่ไม่สามารถกำหนดเวลาตื่นให้ตรงได้นั้น เนื่องมาจาก การกำหนดอารมณ์ ก่อนที่เราจะนอน คือหมายถึงก่อนที่จะหลับตาลงไป นั้น
อารมณ์ของเรายังไม่นิ่ง ไม่จับอยู่ในอารมณ์เดียว คืออารมณ์ที่ต้องตื่น การจับอารมณ์ หรือกำหนดระลีกรู้อารมณ์นี้เรียกว่า "สติ" คือธรรมชาติระลึกรู้อารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เปรียบประดุจดั่งกับตัวอักษร สระ วรรณยุค ย่อมต้องใช้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนดุษฏีบันฑิตย์ อักษรตัวเดียวกัน สระเหมือนกัน วรรณยุคเหมือนกัน อ่านออกเสียงสำเนียงเดียวกัน นี่คือลักษณะอันไม่เปลี่ยนแปลงแห่งสติ ใช้ตลอดถึงพระนิพพาน ดังนั้นการฝึกสติ หรือการระลึกรู้อารมณ์จึงสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น หากทำไม่ได้ ก็เหมือนคนอ่านหนังสือไม่ออก นั่นแหละ ไม่ต้องคิดเรียนต่อ เพราะปิดทางไป นี่แหละที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวเป็นพุทธพจน์ว่า

 " เอกมคฺโค สติปฏฺฐานา...สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวไม่มีทางอื่น ดังนี้

การฝึกหลับตื่น นอกจากจะเป็นการฝึกสติ แล้วยังเป็นการฝึกบังคับอนาคต บังคับเวลา เพราะเวลาเป็นสมมุติ เมื่อเราบังคับสรรพสิ่งอันเป็นสมมุติได้ อะไร ๆ ก็กำหนดเอาได้แม้อนาคตจะต้องการให้เป็นเช่นใดก็ได้ นี่แหละที่มาของคำว่า 

" สิ่งทั้งหลายสำเร็จได้ด้วยใจ " 

แต่ต้องเริ่มที่ "สติ" ก่อน แล้วเอาสติไปตั้งไว้ ณ ตำแหน่งฐานของ "ใจ" ตั้งอยู่เป็นเบื้องต้น(ปถ-ปฐ มาจากคำว่า ปถม แปลว่าเบื้องต้น หรือเริ่มแรก)จึงเป็นที่มาของคำว่าสติปัฏฐาน

จริงแล้วการฝึกหลับตื่น ตามเวลา มันง่ายมาก ๆ ลองคิดถึงตอนที่เราเด็ก ๆ ครูจัดทัศนศึกษาจะไปนำเที่ยว ทำไมเราตื่นได้ไปทันเวลาเป๊ะ ก็เพราะไม่ใช่นอนไม่หลับ แต่ว่าก่อนหลับใจมัน "จับอารมณ์" ที่จะได้ไปเที่ยว และจะทำงานนับถอยหลัง พร้อมกับเมื่อเวลากำหนดมาถึง มันก็จะปลุกโดยอัตโนมัติ 
     
ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ให้ทำใจให้สดชื่น ในการปฏิบัติ เรียกว่ารื่นเริงในธรรม และยินดีที่จะได้ตื่นขึ้นประกอบกุศลประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้พระผู้ปฏิบัติจึงไม่เห็นแก่นอน เพราะการนอนไม่ใช่การพักผ่อน แต่เป็นการคลายกล้ามเนื้อ ส่วนใจจะพักดีที่สุดคือในสมาธิ ดังนั้นผู้ปฏิบัติสมาธิสูงต่ำ จะรู้ได้จากการนอนนี่แหละ

ขอให้ตั้งอารมณ์ใหม่ ทำใจให้ร่าเริง เหมือนมีนัด มีงานสำคัญ เช่นต่องตื่นไปรับปริญญาให้ทัน ตื่นขึ้นมารับความสำเร็จความสมหวัง ตามเวลาที่เราตั้งไว้  ตามเวลากำหนด แล้วเอาอารมณ์นั้นหลับไปกับเรา
     
ลองดูใหม่ แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เป็นไปตามที่เราลิขิตทุกประการ นี่แหละที่เรียกว่า
 Your Life On Your Hand


ขอความก้าวหน้าเจริญในธรรมจงบังเกิดแด่ท่านสมดั่งตั้งปณิธานปรารถนาจงทุกประการเทอญ  สาธุ

ท่าน C wong : กราบขอบพระคุณครับพระอาจารย์


๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗



นมัสการท่าน C Wong
ขออนุโมทนา ในความก้าวหน้าของการปฏิบัติมกำหนดเวลาหลับตื่น นี่คือขั้นต้นของการกำหนดอนาคต และ กาลเวลา เพราะเวลานั้นเป็นสมมุติ

ให้ระลึกอารมณ์ให้แม่นยำว่า 

1. อารมณ์เป็นอย่างไร ลักษณะไหน จึงทำให้เราสามารถ ตื่นได้ตรงเวลา

2.เมื่อตื่นขึ้นนั้นจำอารมณ์เมื่อแรกตั้งกำหนดเวลาไว้หรือไม่ ขาดเกิน เพียงใด

เมื่อผ่านทั้ง 2 ขั้นตอนดังกล่าวแล้วนี้ 3 ครั้ง ก็ให้ทดลองเปลี่ยนเป็นภาพเหตุการณ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยนำอารมณ์กำหนดหลับตื่นนั้นมาใช้ และใส่ภาพเหตุการณ์ที่ต้องการนั้นลงไป จากนั้นติดตามผลการปฏิบัติ .....

ความก้าวหน้าเป็นอย่างไร แจ้งให้ทราบด้วยจักเป็นประโยชน์แก่สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง  

ขออนุโมทนา สาธุ




๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗




ทำความเข้าใจในไตรสิกขา

นับตั้งแต่เปิดเผยแผ่ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ในประเทศไทยให้แก่สาธุชนและพุทธบริษัทผู้มีใจกุศลใฝ่ปฏิบัตินับแต่ปี พุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา

      มีหลายสำนักปฏิบัติที่อาศัยแอบอ้างพระพุทธศาสนาเป็นช่องทางทำมาหากิน ประกอบด้วยเถยจิตส่งศิษย์เข้ามาแฝงตัวศึกษา เพื่อนำเอาแนวทางไปแผลงดัดแปลงเสียใหม่ให้ดูเหมือนว่าเป็นของจริงแท้ ว่าเป็นพุทธพจน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แต่โดยเนื้อแท้นั้นเป็นสัจธรรมปฏิรูป ปลอมปนเปลี่ยนแปลง แทรกวาทกรรมของตนเข้าไป ทำให้ชาวพุทธสับสน ไม่สามารถปฏบัติตนได้ถูกต้องตามแนวแห่งสติปัฏฐานอันจริงแท้ได้ อาศัยพูดจาถูกใจ แต่ไร้ความจริง แต่พุทธศานิกชนก็มิอาจแยกแยะได้ว่า ใดจริง ใดเท็จ ดังนั้นเมื่อปฏิบัติตามที่สำนักเหล่านั้นสั่งสอน ก็ไม่ได้เกิดผล ทำให้ศรัทธาอันมั่นคงต่อพระพุทธศาสนาสั่นคลอน ก็ด้วยเหล่าเดียรถีน์ที่จิตข้องด้วยอามิสทั้งหลายเหล่านี้

       ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมอบอาวุธคู่มือให้กับสาธุชน ไว้ป้องกันตัวและจำแนกแยกแยะความจริงแท้กับธรรมะจอมปลอมให้ชัดเจนกระจ่างแจ้ง เพื่อรักษาป้องกันพระพุทธวัจนะอันพระตถาคตตรัสไว้ดีแล้วนั้น ให้ยั่งยืนสถาพรสืบต่อไป

      การพิสูจน์ทราบความจริงแท้ อยู่ที่การรู้จริง และเข้าถึงแก่นแท้ของ ไตรสิกขา ของพระพุทธศาสนาว่าเป็นเช่นไร?

         ศีล  คือ การเปล่งวาจา และ ใจ ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา การรวมเป็นหนึ่งของวาจาและใจนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สำรวมวาจา ใจ" การเปล่งวาจาอันมาจากใจ เป็นสัจจะวาจา  เป็นการ "ถึงพร้อมด้วยศีล" อันเป็นไตรสิกขาข้อแรก การถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นหนทางให้เกิด "สมาธิ"

         สมาธิ คือ สภาวะแห่งการระลึกรู้อารมณ์แห่งความถึงพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ ในพุทธานุภาพเป็นเบื้องต้น อารมณ์แห่งการระลึกรู้นี้เรียกว่า "สติ" การรวมเป็นหนึ่งเดียวและตั้งมั่น ณ ฐานธาตุนั้น เรียกว่า"สมาธิ" เพื่อพิจารณาถึงความดำรงอยู่และความเสื่อมไปแห่งสรรพสิ่ง ล้วนเป็นไปโดยมหาภูตรูปทั้ง4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ การถึงพร้อม และตั้งมั่นด้วยอาการดั่งนี้เรียกว่า "ถึงพร้อมด้วยสมาธิ" อันเป็นไตรสิกขาข้อที่2 ย่อมเป็นหนทางให้เกิด "ปัญญา"

         ปัญญา คือ การก้าวข้ามมิติแห่งรูป เข้าสู่มิติแห่ง "ใจ(มโนทวารวิถี)" อันเป็นแหล่งความรู้แห่งสกลจักรวาล ก่อให้เกิดการแทงทะลุปัญหาในทางโลกทั้งปวง เข้าถึงสภาวะแห่งการ "รู้แจ้ง เห็นจริง" ในทางปฏิบัติเรียกว่า "บรรลุญานทัศนะ"  ด้วยสภาวะดังกล่าวนี้เรียกว่า "ถึงพร้อมด้วยปัญญา" อันเป็น "โลกุตรธรรม(ดำรงสภาพอยู่ในสภาวะพ้นไปจากโลกธาตุ หรือ วัฏฏสงสาร คือ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก)" คือ ขั้นสุดยอดแห่งไตรสิกขา (โลกุตรปัญญา=ปัญญาสู่การหลุดพ้น=นิพพาน)

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น คือ ลำดับขั้นตอนข้อปฏิบัติ ที่เริ่มจากระดับสามัญไปจนถึงระดับสูงสุด อันจะเป็นแนวทางพิสูจน์ทราบความจริงเท็จ ทั้งหลายให้กระจ่าง ดุจดั่งกระจกใสที่ได้ขัดถูจนไร้ฝุ่นละอองที่แปดเปื้อนให้หมดไป

        ขอความผาสุขสวัสดีมีโชคชัย ประสบสิ่งอันเป็นมงคล สมปรารถนาในสิ่งอันเป็นกุศล จงทุกท่านทุกประการเทอญ เจริญพร



๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗


อานิสงค์แห่งการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา

 พระพุทธโฆษะ ผู้รจนา "คัมภีร์วิสุทธิมรรค" ได้กล่าวถึงอานิสงค์แห่งการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาซึ่งเป็นเรื่องของพระติสสะ อันปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก ดังนี้

    สมัยหนึ่ง  มีภิกษุ ๓รูปได้มาสู่สำนักของพระติสสเถระแล้ว ใน ๓ รูปนั้น 

รูปหนึ่งกราบเรียนอาสาแก่พระเถระว่า 

 “ท่านขอรับ เมื่อมีใครๆขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว  กระผมสามารถที่จะกระโดดลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ”   
  
รูปที่สองกราบเรียนว่า 

“ท่านขอรับเมื่อมีใครๆ  ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว  กระผมสามารถที่จะเอาร่างกายนี้ฝนที่พื้นหินให้กร่อนไปตั้งแต่  ส้นเท้าจนกระทั่งไม่มีร่างกายเหลืออยู่ และกลับประสานเป็นร่างกายดุจเดิมได้
       
รูปที่สามกราบเรียนอาสาว่า 

“ท่านขอรับเมื่อมีใครๆขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้วกระผมสามารถที่จะระงับอัสสาสะ ปัสสาสะ(หยุดลมหายใจ) ทำกาลกิริยาตายได้”  


     ฝ่ายพระเถระพิจารณาเห็นว่า “ภิกษุเหล่านี้มีสมาธิพละสมควรแล้ว”  จึงได้บอกพระกัมมัฏฐานให้  ภิกษุเหล่านั้นดำรงตนอยู่ใน  โอวาทของพระเถระ และได้บรรลุซึ่งพระอรหันต์ทั้งสามรูปแล ฯ

ฤทธิ์อันภิกษุทั้งสามสามารถอธิษฐานได้ดั่งใจ นี้เป็นอานิสงค์จากการมอบถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ด้วยเหตุนี้  ข้าพเจ้า(พระพุทธโฆสเถระ)จึงได้รจนายืนยันไว้ว่า   "พึงมอบถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมยังให้เกิดความสำเร็จในการอธิษฐาน โดยสัจจะวาจาด้วยประการฉะนี้ ฯ"

   จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายที่ได้ศึกษาปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จะภาคภูมิใจที่ได้ศึกษาปฏิบัติ อันพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นหนทางหนึ่งเดียวไม่มีหนทางอื่นนี้ อันโลกยุคปัจจุบันไม่มีสำนักใดเผยแผ่สั่งสอน แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป นับเป็นบรมโชคแก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จะได้ปฏิบัติและประจักษ์ผลด้วยตนเอง


ขอความผาสุขสวัสดี ก้าวหน้าในการปฏิบัติจงบังเกิดแก่สาธุชนทุกท่านทั่วกันเทอญ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS