ต่อไปนี้จะได้เสริมหัวข้อธรรม สำหรับสมาชิกที่ใฝ่ในการศึกษาปฏิบัติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค สืบไป
ประเภทของ สมาธิ - บุคคล ตามพุทธพจน์
พระพุทธศาสนา นับเนื่องแต่ครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสรู้สั่งสอนหมู่พุทธบริษัท เพื่อยังสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากห้วงแห่งบ่วงกรรม วัฏฏะสงสารของการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อระยะเวลาผ่านมา 2,300 กว่าปี เข้าสู่ยุคแห่งรัตนโกสินทร์ พุทธประสงค์ที่พุทธองค์ทรงตั้งไว้ในคำสั่งสอน ก็ถูกนักวิชาเกินกับนักบวชต่างศาสนา ปรับแปลงแต่งใหม่ อธิบายใจความสำคัญของพุทธศาสนาเสียจนฝั่นเฝือ ที่เหลือก็เกือบจะไร้ความสำคัญ บางแห่งบางตอนก็ไม่อาจสืบค้นต้นตอที่มาในจารจารึกใด ๆ ได้
ทำให้พุทธบริษัท และสาธุชน ผู้มีจิตใจใฝ่ในกุศลปฏิบัติ ที่จะก้าวเดินตามรอยบาทพระศาสดา ไม่อาจหาแนวทางที่ปรากฏตามพุทธพจน์อันจริงแท้นั้นได้ ทำให้การปฏิบัติเจริญภาวนาไม่อาจก้าวหน้า ปรากฏผลตามที่ได้กล่าวยกไว้เป็นอุทาหรณ์ในคัมภีร์ปกรณ์ต่าง ๆ ในพระไตรปิฏก
และเมื่อสอบถามเจ้าสำนักที่ตั้งตนเป็นอาจารย์ สอนสั่งภาวนา สมาธิ ก็มิอาจให้ความกระจ่างได้ ที่อธิบายก็ใช้อัตโนมติ(ความเห็นของตน) ที่ไม่อาจสืบค้นจากแหล่งใดได้ คล้ายกับเป็นคำสอนของศาสดาองค์ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของแนวการปฏิบัติสมาธิภาวนา และ สภาวะ ฐานะ ของพระอริยบุคคล ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้นั้น หมายความว่าอย่างไร ? แต่ละสำนักก็ตอบไปคนละทาง เป็นเหตุให้เกิดความสับสน ในหมู่สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติชอบทั่วไป
อนุสนธิ ดังกล่าวนั้น จึงขอยกความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตร มาให้สาธุชน พุทธบริษัทได้ใช้เป็นแนวทางค้นคว้า-ศึกษา เพื่อรักษาพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้น ให้คงอยู่อย่างถูกต้อง ตรงตามความหมาย และพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์สืบไป ข้อความในรัตนสูตรนั้นมีว่า ..
“..... พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ตรัสสรรเสริญ
“สมาธิ” ใดว่าเป็นธรรมสะอาด ตรัสถึง
สมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
“สมาธิอื่น” ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
“บุคคล ๑๐๘ จำพวก” ที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต…”
ความหมาย : เพื่อใช้ในการอ้างอิง ศึกษา/สืบค้น (ข้อความในเครื่องหมายคำพูด ขีดเส้นใต้)
- สมาธิ ในที่นี้หมายถึง อริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผลโดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)
- สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙)
- บุคคล ๑๐๘ จำพวก มาจากระดับองค์ธรรมของพระอริยบุคคล ดังนี้
พระโสดาบัน ๓ จำพวก คือ (๑) เอกพีชี (๒) โกลังโกละ (๓) สัตตักขัตตุปรมะ
พระสกทาคามี ๓ จำพวก คือ (๑) ผู้บรรลุผลในกามภพ (๒) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (๓) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ
รวมพระโสดาบัน ๓ จำพวก และ พระสกทาคามี ๓ จำพวก
นับโดยปฏิปทา ๔ ประการ จึงได้บุคคล ๒๔ จำพวก (๖ x ๔ = ๒๔) รวมกับ พระอนาคามี ๔ ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี อีกชั้นละ ๕ จำพวก (๔ x ๕ = ๒๐) และ พระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก ๔ จำพวก (๒๐ + ๔ = ๒๔) เป็นบุคคล ๔๘ จำพวก (๒๔ + ๒๔ = ๔๘) รวมกับ พระอรหันต์ ๒ จำพวก คือ (๑) สุขวิปัสสก (๒) สมถยานิก เป็นบุคคล ๕๐ จำพวก (๔๘ + ๒ = ๕๐) รวมกับพระอริยบุคคล ผู้ดำรงอยู่ในมรรค อีก ๔ จำพวก เป็นบุคคล ๕๔ จำพวก (๕๐ + ๔ = ๕๔)
บุคคลเหล่านี้มี ๒ ประเภท คือ ฝ่ายสัทธาธุระ ๕๔ จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ ๕๔ จำพวก จึงเป็นพระอริยบุคคล ๑๐๘ จำพวก (๕๔ + ๕๔ = ๑๐๘) (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙-๑๖๐) นี้คือนัยโดยพิสดาร....(ปะคำทั้ง108 เม็ดนั้น ก็หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทำมนสิการนำไปสู่วิถีแห่งพระอริยบุคคลดังกล่าวนี้..ผู้บันทึก)
ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล ๘ จำพวก คือ
(๑) พระโสดาบัน
(๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
(๓) พระสกทาคามี
(๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
(๕) พระอนาคามี
(๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
(๗) พระอรหันต์
(๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๐)
จากข้อมูลที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ เปรียบเสมือนแสงเทียนเล่มน้อยที่ส่องทาง ในความมืดเวิ้งว้างของรัตติกาลแห่งอวิชา
แต่ก็เชื่อมั่นว่า อย่างน้อยก็จะนำไปสู่การค้นคว้าที่ถูกทางได้ในอนาคต
ด้วยเจตนาของสาธุชนที่เป็นกุศล ใคร่ศึกษา-ปฏิบัติ ขอความเจริญวัฒนาสถาพร ก้าวหน้าหน้าในการปฏิบัติ ให้ดวงตาเห็นธรรมอันสุนทร จงบังเกิดมีแก่ทุกท่านถ้วนทั่วกันเทอญ
เจริญพร
สูตรร้อยลูกประคำ
สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ