เจริญพร ท่านสาธุชน ผู้ใฝ่ในกุศลทุกท่าน
ต่อไปจะได้บรรยายธรรม สืบไป
เชื่อมั่นว่า สาธุชนไทยหลาย ๆ ท่าน ที่ทำการค้า ธุรกิจ มักมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำห้างร้าน ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในอภิญญาภินิหาร ที่จะช่วยให้กิจการค้า ธุรกิจดำเนินเจริญดี เช่น
"พระสีวลี และ นางกวัก"
แต่ คงมีไม่กี่ท่านที่รู้ประวัติที่มาของ "นางกวัก" ว่าเป็นมาอย่างไร ดังนั้นวันนี้จึงจะได้นำประวัติที่มีมาในพระไตรปิฏกมาให้ท่านสาธุชนได้ศึกษา ค้นคว้า ประดับความรู้กันต่อไป
ในสมัยพุทธกาล ที่เมืองมิจฉิกาสีณฑนคร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี มีครอบครัวหนึ่งของนายสุจิตตพราหมณ์ ประกอบอาชีพค้าขาย โดยเริ่มต้นจากเก็บหอมรอมริบไปซื้อเกวียนมา 1 เล่ม ร่วมไปกับกองเกวียนพ่อค้าไปค้าขายต่างเมือง มีบุตรสาวชื่อ "สุภาวดี" ได้ติดตามบิดาไปในกองเกวียนด้วยแต่เล็กจนเติบใหญ่
จุดที่พักกองเกวียนสินค้าของนายสุจิตตพราหมณ์ นั้นอยู่ใกล้กับอารามที่"พระสีวลีอรหันตเถระ". พำนักปฏิบัติธรรมอยู่ นายสุจิตตพราหมณ์ จึงพาสุภาวดีบุตรสาวไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระสีวลี ได้ศึกษาปฏิบัติตามแนวแห่งสติปัฏฐาน ด้วยพลังทางสมาธิขั้นสูง ของสุภาวดีได้ทำการค้าเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นมหาเศรษฐีในเวลามินาน เป็นที่ลำลือไปทุกเมืองว่า
นางสุภาวดีศิษย์แห่งพระสีวลีอรหันตเถระ มีอำนาจพลังสมาธิพิเศษ ทำให้ค้าขายคล่อง จึงพากันนำสินค้าของคนมาร่วมในขบวนสินค้า เพื่อให้นางสุภาวดีไปทำการค้าขาย มีเท่าไรก็ขายหมด
ครอบครัวของสถจิตตพราหมณ์จึงร่ำรวยขึ้นทันตา เทียบได้กับ "ธนัญชัยเศรษฐี". บิดาของนางวิสาขาแห่งแคว้นโกศลในยุคนั้น
เมื่อร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์หลายล้านโกษฐ์ สุจิตพราหมณ์ และนางสุภาวดี บุตรสาวจึงได้ซื้อป่าแห่งหนึ่งสร้างเป็นอุทยานถวายเป็นที่ปฏิบัติแก่พระภิกษุสงฆ์ และได้สร้างวิหารอารามอย่างวิจิตร ถวายแก่พระสีวลีรหันตเถระ ผู้เป็นอาจารย์.
นางสุภาวดี นับเป็นศิษย์สตรีฆราวาส ของพระสีวลี ที่ปรากฏนามในพระไตรปิฏก ผู้คนทั่วไปล้วนกล่าวขานเลื่องลือ ในจริยาวัตรอันงาม ประกอบด้วยคุณธรรม และเรื่องราวความมหัศจรรย์ของนางสุภาวดี ว่า นำมาซึ่งโชคลาภ ในการค้าขาย ร่ำรวยง่ายดาย เปรียบดั่งกวักเรียกคนเข้าบ้าน จึงขนานนามว่า "นางกวัก"
แม้เมื่อนางสุภาวดีได้ถึงกาลกิริยาไปแล้ว ความมหัศย์จรรย์และพลานุภาพ ในทางโชคลาภ และการค้า ก็เกิดขึ้นกับผู้ที่ระลึกถึงและอนุโมทนาบุญนางสุภาวดีมิได้เสื่อมถอย ส่งผลให้ผู้ที่ศรัทธานับถือประกอบด้วยลาภ รุ่งเรืองทางการค้า ร่ำรวยได้จริง บ้างปั้นเป็นรูปบูชา เขียนภาพนางสุภาวดีไว้บนแผ่นผ้า ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นสืบมาจนแผ่เข้าสู่แผ่นสุวรรณภูมิ
คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล
22 กันยายน 2558
ณ บัดนี้จักได้บรรยาย เรื่อง "พระสีวลี อรหันตเถระ ผู้เป็นเอกทัคคะสมบูรณ์ ด้วยลาภ สืบต่อ จากเมื่อวานนี้
ประวัติอันมหัศจรรย์ แห่งกำเนิดของพระสีวลี ปรากฏบันทึกไว้ในพระไตรปิฏก ดังนี้
พระสีวลี เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ตั้งแต่ท่านจุติลงถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ได้ทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเป็นอันมาก ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์ ของพระมารดา นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นเมื่อใกล้เวลาจะประสูติ พระมารดาได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า พระนางจึงขอให้พระสวามีไปกราบบังคมทูลขอพร จากพระบรมศาสดาและพระพุทธองค์ตรัสประทานพรแก่พระนางว่า:
“ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข
ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด”
ด้วย อำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ทุกขเวทนาของพระนางก็อันตรธานไป พระนางประสูติพระราชโอรสอย่างง่ายดาย ดุจน้ำไหลออกจากหม้อ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสาว่า “สีวลีกุมาร”
เมื่อพระนางมีพระวรกายแข็งแรงดีแล้ว มีพระประสงค์ที่จะถวายมหาทานติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน จึงความประสงค์แก่พระสวามีให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์ มารับมหาทานอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวสน์ ตลอด ๗ วัน
ในวันถวายมหาทานนั้น สีวลีกุมาร มีพระวรกายเข้มแข็งดุจกุมารผู้มีพระชนม์ ๗ พรรษา ได้ช่วยพระบิดาและพระมารดาจัดแจงกิจต่าง ๆ มีการนำธมกรก (ธะมะกะหรก = กระบอกกรองน้ำ) มากรองน้ำดื่มและอังคาสพระบรมศาสดาและหมู่พระภิกษุสงฆ์ ในขณะที่สีวลีกุมาร ช่วยพระบิดาและพระมารดาอยู่นั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้สังเกตดูอยู่ตลอดเวลา และเกิดความรู้สึกพอใจในพระราชกุมารน้อยเป็นอย่างมาก
ครั้นถึงวันที่ ๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย พระเถระได้สนทนากับสีวลีกุมารแล้วชักชวนให้มาบวช สีวลีกุมาร ผู้มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่แล้ว เมื่อพระเถระชักชวน จึงกราบทูลขออนุญาตจากพระบิดาและพระมารดา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงติดตามพระเถระไปยังพระอารามพระสารีบุตรเถระ ผู้รับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์
หมายเหตุ : พระสารีบุตร ได้รับพุทธบัญชาให้รจนา คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพื่อขยายความพระอภิธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้กับปวงเทพเทวาในดาวดึงสวรรค์
พระสารีบุตรได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้น คือ
ตจปัญจกกรรมฐานทั้ง ๕ ได้แก่
เกสา(ผม)
โลมา(ขน)
นขา(เล็บ)
ทันตา(ฟัน)
ตโจ (หนัง)
ให้พิจารณาของทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นของไม่งามเป็นของสกปรก ไม่ควรเข้าไปยึดติดหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานนั้นแล้วนำไปพิจารณาในขณะที่กำลังจรดมีดโกนเพื่อโกนผม ครั้งแรกนั้นท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จ ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่มีลาภสักการะมากมาย ด้วยอำนาจบุญบารมีของท่านที่สั่งสมมา ลาภสักการะเหล่านี้ได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวกท่านอื่น ๆ ด้วย แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามี พระสีวลี ร่วมเดินทางไปด้วย ความขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัยในระหว่างทางก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุ สงฆ์เลย เช่น....
สมัย หนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางว่า.....
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์ มีประชาชนอยู่อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลำบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วยการบิณฑบาตร”
พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่?”
พระอานนท์ตอบว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสีวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ ตรัสว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นก็จงไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหารบิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหารบิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของเหล่าเทพเทวาทุกชั้นฟ้า เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของพระสีวลี นั้นด้วย”
::: พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสีวลี. เป็นเอกทัคคะในทางผู้มีลาภมาก
". ลาภีนํ ยทิทํ สีวลี... แปลว่า ..เว้นแต่เราตถาคตทพระสีวลีเถระททเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภ".
ด้วย อำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผลให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านในตำแหน่ง เอคทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก นับว่าท่านพระสีวลีเถระเป็นพระมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยกิจการ พระศาสนา แบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก
ด้วยอานุภาพอภิญญาสมาบัติ แห่งพระสีวลี อันเลิศด้วยลาภ จึงเป็นที่สักการะบูชา สืบต่อกันมาสำหรับพ่อค้าพานิชย์ นักธุรกิจทั้งปวง ควบคู่กันไปกับ ศิษย์ของท่านคือนางสุภาวดี(นางกวัก) สืบต่อมาจนปัจจุบัน
ที่แสดงมาคือเรื่องราวอันปรากฏจารึกไว้เป็นหลักฐานในพระไตรปิฏก
แต่ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ ได้มีการปลอมแปลงประวัตินางสุภาวดี(นางกวัก). ว่าเป็นลูกสาวปู่เจ้าเขาเขียว ว่ากันเปรอะไป จึงนำหลักฐานมาไว้ให้สาธุชนได้ค้นคว้า ศึกษาสืบไป
ขอความสวัสดีมีโชคชัย ปรารถนาสิ่งใดให้สมกุศลเจตนา ด้วยอานุภาพแห่งพระสีวลี และ นางสุภาวดี(นางกวัก) จงดลบันดาลให้สาธุชนทุกท่านประกอบไปด้วยโชคลาภ เทอญ
เจริญพร
สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ