ที่มาของคำว่า "ดี" (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 13 กุมภาพันธ์ 2558)

ขอความผาสุขสวัสดี ความเป็นที่รัก เคารพแด่ชนทั้งหลาย ความประเสริฐเลิศด้วยลาภ ใดๆ ที่ปราถนาไว้ "ด้วยใจ"  จงสมดั่งมุ่งหมายทั่วกันเทอญ เจริญพร


วันนี้จะขอนำเอาความรู้เล็ก ๆน้อย ๆมาเสริมช่องว่าง เพิ่อเติมให้เต็มในส่วนที่ขาดหายไป เผื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาค้นคว้า ศึกษา สำหรับทุกท่าน ต่อไป
ที่มาของคำว่า "ดี"

 "ดี" มีความหมายตรงกับคำ 2 คำ คือ

     1.คำว่า "สุนทรีย์"  เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่ง ลักษณะของอารมณ์หรือความรู้สึกนั้น เมื่อผู้หนึ่งผู้ใด ได้กระทำสิ่งใดให้ถูกใจ หรือ ถูกอารมณ์เรา  เราจึงใช้แทนความรู้สึกของเรา ซึ่งได้ความหมายไม่เท่าที่เรารู้สึกจริง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น

        พอใจ (interested)
        เพลิดเพลินใจ (pleause)
        กินใจ (empathy)

ซึ่ง ทั้งนี้  ไม่ว่าสิ่งที่ได้รับนั้น จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้รับ-เกิดอารมณ์นั้น ก็จะเรียก บุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่อันทำให้เกิดอารมณ์ดังกล่าว สั้น ๆ ว่า "ดี"


2. คำว่า "กัลยาณ" ซึ่งแปลว่า งาม เช่น กัลยาณี แปลว่า หญิงงาม เป็นต้น แต่เกิดจากความเข้าใจของผู้แปลบาลี ซึ่งแปลจากคำฉันท์ที่แต่งขึ้นในชั้นหลังพุทธกาล ว่า

 "สีลํ  กิเรว กลฺยาณํ  ท่านว่าศีลนั้นเทียว  ทำให้งาม" (ซึ่งเป็นที่มาของกัลยาณธรรม)  แต่กลับไปแปลเล่นสำนวน เอาเองว่า  "ท่านว่าศีลนั้นเทียว เป็นความดี" .... นี่คือ ที่กำเนิดของการบัญญัติศัพท์ คำว่า "ดี" ในภาษาไทยที่ใช้อยู่ปัจจุบัน 


สรุปคือ บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ โดยความเข้าใจเอาเอง นับแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา มีผลทำให้พุทธพจน์ และ ถ้อยคำในพระพุทธศาสนาผิดเพี้ยนไป สาธุชนรุ่นหลังจึงสับสน และไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานได้ตราบเท่าปัจจุบัน




ตอบคำถามลูกศิษย์

ดาบโอ๋
กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ  โอ๋มีข้อสงสัยในการปฏิบัติ 2 ข้อค่ะ
1.ครั้งหนึ่ง  2 คราว ติดๆกัน เกิดเหตุการณ์ประหลาดเหมือนกับว่าเราได้ข้ามเวลาไปหนึ่งวัน(ช่วงนั้นตั้งลมมากๆค่ะ แต่ก็ทำงานมากเช่นกันค่ะ)
2.ตอนเข้าพรรษาขณะสวดมนต์หรือตั้งลมในห้องเรียนที่ จิตตะภาวัน ตัวโอ๋มีความรู้สึกว่าโยกโครงตัวเอียงไปมา แต่คนภายนอกไม่สังเกตุเห็นค่ะ หลวงพ่อสินบอกว่าเป็นปิติชนิดหนึ่ง และจากการสวดมนต์โอ๋ได้เกิดปิติหลากหลาย เช่น หาวจนน้ำตาไหล วูบหน้าคะมำ ขนลุก รู้สึกยุบยิบที่ใบหน้า บางที่เหมือนมีอะไรมาไต่ที่ใบหน้า ที่ตัว และนานมาแล้วเข้าวัดปฏิบัติธรรมครั้งแรกเคยตัวสั่น(ตกใจ และไม่ทราบจะถามใครเลยเก็บของกลับบ้านค่ะ) สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกคน จะมีอาการปิติได้หลายอย่าง  แต่ในทางปฏิบัติ เราจะจำอารมณ์ปิติที่เกิดขึ้นจากการทิ้งขนนกหรือนับประคำ มาระลึกถึงเทวดาประจำตัว เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องใช่ไหมคะ

พระอาจารย์
กรณี การหาปิติจากการทิ้งขนนก การสวดมนต์ การเดินปะคำ  จากคำภาวนา เช่น ...นะ โม
ก็เพื่อให้รู้ว่า  ปิติ  ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดตรงไหน  โดยเอา "คำ" สวดเป็น "นิมิตร (แปลว่า เครื่องหมาย) ให้เราจดจำได้ ว่าเกิดที่ตัวไหนแน่ ๆ จะได้นำมาใช้ ระลึกรู้

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ คุณโอ๋...ถ้าถามว่า  .....อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นที่ตัวอักษร  หรือคำว่าอะไร .... ลักษณะการเกิดขึ้น  ยาว  หรือ สั้น  กว่า  ลมหาใจ  เราจะทราบหรือไม่ ?
หากเราจำ ไม่ได้  เราก็ไม่สามารถระลึกรู้อารมณ์ "ปิติ" นั้นได้  การเกิดขึ้นของปิติ ก็เพียงให้เราปลาบปลื้มว่า  "เราได้ปิติ"  แต่นำมาใช้งานตามปราถนา=ตามต้องการให้เป็น  ไม่ได้
เปรียบเสมือนเราจะไปเชียงใหม่ มีเงิน(ปฏิบัติ=ได้บุญ=เปรียบเสมือนเงิน) จ่ายค่ารถ ก็นั่งรถไปถึงเชียงใหม่ได้ มองเห็นภาพวิวทิวทัศน์ข้างทาง มีความรู้สึกเป็นสุข = ปิติ
ทีนี้ เกิดวันหนึ่ง เรากระเป๋าตังค์หาย ไม่มีเงิน  แต่เรามีรถ...แต่ขับไม่เป็น(คือปฏิบัติไม่ตามขั้นตอน) อยากไปเชียงใหม่ ก็ไปไม่ได้ เพราะไม่รู้จะขับยังไง

ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาฝึกที่จิตตะฯ ในช่วงพรรษา ซึ่งมีสาธุชนมากมาย เราจะรู้สึกว่า เรา "ทำได้" อะไรมันง่ายไปหมด บางทีไม่ทันนึก ก็ได้มาดั่งใจ

นั่นเพราะอะไร  เพราะว่าผู้ที่ฝึกปฏิบัติล้วนเป็นผู้มีบุญ มี เทวดาประจำตัว ต่างคนต่างมีบุญ เปรียบได้กับ Battery ที่พ่วงต่อกัน โน้นนิดนี่หน่อยไฟติด ทุกคนจึงเหมือนขึ้นรถโดยสารพากันไป และทำได้แทบทุกท่าน  แต่พอกลับไปบ้าน  นานเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ไม่ได้เสวนาธรรมกัน  การปฏิบัติก็ทำสำเร็จยาก  เหมือนขับรถทั้งที่ยังขับไม่เป็น ขับไม่เก่ง  จำทางไม่ได้  ในที่สุด = หลงทาง
ดังนั้น ขั้นตอนของการปฏิบัติจึงสำคัญ เหมือนการขับรถ  ไม่ใช่พอเป็น ต้องเป็นจริง ๆ เพราะในมิติแห่งการปฏิบัติ เป็นมิติแห่งใจ ที่เหนือพ้นจากวิสัยมนุษย์ทั่วไปจะทำได้(เปรียบได้กับคนที่บ้านอยู่ติดถนน ไม่เคยหัดขับรถ  แต่รู้หมดทุกยี่ห้อ พันปีก็ไม่มีวันขับรถเป็น)


กลับมาเรื่อง "ปิติ" หรือเครื่องหมาย, สัญญานอันบอกให้เรารู้ว่า ณ ขณะเวลานั้น กาย วาจา ใจ ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว เป็นอาการ ลักษณะ และอารมณ์ ซึ่งจะต้องจดจำระลึกรู้ให้ได้ ภาษาอภิธรรมเรียกว่า"สติ"

การถึงพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ      จริงแล้วเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เหมือนรถประจำทาง ที่ใครก็ขึ้นไปได้ ไม่จำเป็นจะต้องขับรถได้ แต่พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดสั่งสอนวิธีปฏิบัติให้เราสร้าง และควบคุมได้ เหมือนกับมีรถ ก็ต้องขับรถเราเองเป็น เพื่อถึงจุดหมายได้ตามประสงค์(อธิษฐานได้ตามปรารถนา)

ดังนั้น กรณีคุณโอ๋ ต้องหาให้ได้ว่า "ปิติ" ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจาก คำอะไร ? อารมณ์ขณะเกิดเป็นอย่างไร ยาวหรือสั้นขนาดไหน ? เพื่อนำไปตั้งไว้ที่ฐาน

การตั้งไว้ ภาษาบาลี คือ "ธรรม" เมื่อนำมารวมกับ "อารมณ์ที่เกิดปิติ แล้วนำไปตั้งไว้ที่ฐาน จึงเป็นคำว่า "ธรรมารมณ์" คือตั้งอารมณ์ไว้ที่ไหน ?

นี่แหละคือที่มาของคำว่า สติปัฏฐาน (มาจาก สติ=ธรรมชาติระลึกรู้อารมณ์ที่เกิดปิติ  ปถ = เริ่มแรก  ฐาน = ที่ตั้ง) รวมความคือ นำเอาอารมณ์ที่ได้ปิตินั้นไปตั้งไว้ ณ ฐานแรก คือปถวีธาตุ  (เพื่อพัฒนาไปสู่วิปัสนา ในการพิจารณา สรรพสิ่งว่าเกิดแต่ธาตุทั้งสี่) ฯลฯ เป็นต้น


หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ที่ขยายความมานี้ คงเป็นประโยชน์ และขจัดข้อสงสัยในการปฏิบัติ
ขอความเจริญในธรรม ก้าวหน้าในการปฏิบัติ จงบังเกิดมีแด่สาธุชนทุกท่านทั่วกัน ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพจงปกป้องคุ้มครอง ขจัดภยันตราย ความทุกข์ ลำบาก ยากจน พ้นไปจากชีวิต ประสบแต่สุขสมบูรณ์ ทุกท่านเทอญ  เจริญพร

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS