กสิณ กรรมฐานอันทรงพลัง 4

สิ่งที่ "ผู้ปฏิบัติชอบ" จะต้องทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐานเป็นสิ่งแรกคือ
การปฏิบัตินั้นจะต้องเป็นขั้นตอนต่อเนื่องเชื่อมต่อกันได้ เปรียบประดุจดั่งสายโซ่ มีอยู่  ๕ ประการ เรียกว่า "สนธิ ๕ แห่งสมาธิ" คือ  
       ๑. อุคคหะ  การศึกษา -ปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อให้เกิด นิมิต = "ปิติ"  
       ๒. ปริปุจฉา การสอบถาม เมื่อติดขัดในขณะปฏิบัติ
       ๓. อุปัฏฐานะ  ความปรากฏพร้อมแห่งสภาวะ กาย วาจา ใจ รวมเป็นหนึ่ง
       ๔. อัปปนา  ความมั่นคงแนบแน่น ไม่สั่นคลอน แห่งนิมิต ในมโนทวารวิถี
       ๕. ลักษณะ  การกำหนดเป้าหมายนิมิต กาล(เวลา) เทศะ(สถานที่=ภพภูมิ)

   ดังนั้น การฝึกกรรมฐานที่ถูกต้อง จะต้องมีขั้นตอนต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ผู้ปฏิบัติย่อมรับรู้ได้ อาจารย์ผู้สอนก็สามารถให้คำอธิบายได้อย่างไร้ข้อจำกัด เมื่อศิษย์ติดขัดในสภาวะธรรม และอารมณ์กรรมฐานระหว่างปฏิบัติ หากอาจารย์ไม่อาจอธิบายได้ หรือ อธิบายแล้วขัดต่อพุทธพจน์อันปรากฏในสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค อันเป็นเส้นทางเดียวไปสู่พระนิพพาน ไม่มีหนทางอื่น หากไม่ใช่ก็แสดงว่า "ของปลอม"



ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องอาศัยใช้ นิมิต+ปิติ พร้อมด้วยลมอัสสาสะปัสสาสะ ดังได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนแห่ง "อัปปนาสมาธิ" ในมโนทวารวิถี ด้วย "กสิณสมาธิ" เพื่อบรรลุสภาวะ "ฌาน"(หมายถึงการกำหนด จดจ่อ นิมิต+อารมณ์) อันเป็นรากฐานการยกระดับขึ้นไปสู่ภูมิธรรมขั้นสูง อันเป็นเป็นเครื่องระงับดับกิเลศ เป็นอาวุธในการสังหาร "นาม" เช่น สัญญานาสัญญายตนฌาน (ตัดสัญญาการเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวง) สัญญาเวทนิโรธฌาน(การหยุดสัญญาเวทนาทั้งมวล) วิมุติ หลุดพ้น = นิพพาน โดยอาศัยปฐวีธาตุเป็นตัวนำ เรียกว่า "ปฐวีกสิณ" เพื่อเข้าสู่ อากาสานัญจายตนฌาน เป็นต้น

       ในอดีตมีโยคีผู้ฝึกสำเร็จกสิณสมาธิ ก็มีฤทธิสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยอำนาจ "ฌาน" มากมาย มาแต่ก่อนพุทธกาล แต่ไม่สามารถที่จะบรรลุพระนิพพานได้ เพราะอะไร ก็เพราะว่า "ฌาน" อันโยคีเหล่านั้นได้ปฏิบัตินั้น "ไม่ประกอบด้วยกุศลมูลจิต" แต่เป็นไปเพื่อให้ได้มาฤทธิเท่านั้นจึงเรียกว่า "อกุศลฌาน" หรือ "มิจฉาสมาธิ" (นี่แหละที่นักปฏิบัติส่วนใหญ่สับสน อาจารย์หลายสำนักก็เลยสอนกันผิด ๆ ว่า อย่าปฏิบัติให้มีฤทธิ มีฌาน ก็เพราะจำข้อมูลไปแต่ส่วนนี้ส่วนเดียว เลยทำให้การปฏิบัติถึงทางตัน ไม่เป็นไปตามสนธิ ๕ ดังกล่าวไว้ข้างต้น)

      ความแตกต่างระหว่างโยคี กับ การฝึกตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน - ปฏิสัมภิทามรรค" เริ่มตั้งต้นก็โดยอาศัยรากฐานแห่ง "กุศลมูลจิต" มีพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งที่ระลึก มีเป้าหมายคือการหลุดพ้นคือ "พระนิพพาน" เป็นปริโยสาร เส้นทางขั้นตอนปฏิบัติเข้าสู่ "ปฐวีกสิณสมาธิ" นี้เรียกว่า "กุศลฌาน" หรือ "สัมมาสมาธิ" ที่ผู้ปฏิบัติชอบต้องฝึกฝนและเพียรปฏิบัติ ให้สำเร็จ เป็นไปตามขั้นตอน

     ในสติปัฏฐานสูตร ปรากฏพุทธพจน์ตรัสไว้ชัดเจนว่า "ภิกษุทั้งหลาย พึงพิจารณากายว่าเป็นปฐวีธาตุ ฯเปฯ "
     แม้เมื่อกุลบุตรอุปสมบทเข้ามาเป็นภิกษุ อุปปัชฌายะให้กรรมฐาน ก็ให้ด้วย "ปฐวีธาตุ" เป็นปถม คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ฯ เป็นต้น

ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ ว่าด้วย กุศลฌาน จตุกกนัย ได้ระบุความสำคัญในส่วนของปถวีกสิณกรรมฐาน ไว้ดังนี้
                         [๗๑๐]   ฌาน ๔ คือ
                         ๑.  ปฐมฌาน
                         ๒.  ทุติยฌาน
                         ๓.  ตติยฌาน
                         ๔.  จตุตถฌาน
         [๗๑๑]  ในฌาน  ๔  นั้น  ปฐมฌาน เป็นไฉน ?
         ภิกษุในศาสนานี้   เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ    สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว    บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์
ประกอบด้วยวิตก   วิจาร  มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่   ในสมัยใด    ฌานมี
องค์  ๕ คือ   วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  เอกัคคตาแห่งจิต  มีในสมัยนั้น  นี้เรียก
ว่า ปฐมฌานกุศล ธรรมทั้งหลายที่เหลือเรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน.

           [๗๑๒]  ทุติยฌาน เป็นไฉน ?
           ภิกษุในศาสนานี้   เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ    บรรลุทุติย-
ฌานทีมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์  เป็นไปในภายใน  เป็นธรรมชาติผ่องใส เพราะ
วิตกวิจารสงบ   เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ  ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร   มีแต่ปีติและ
สุขอันเกิดแต่สมาธิ   อยู่  ในสมัยใด  ฌานมีองค์ ๓ คือ  ปีติ  สุข เอกัคคตา
 แห่งจิต  มีในสมัยนั้น     นี้เรียกว่า    ทุติยฌานกุศล    ธรรมทั้งหลายที่เหลือ
เรียกว่า   ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน.
           [๗๑๓]   ตติยฌาน  เป็นไฉน ?
           ภิกษุในศาสนานี้    เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ   เพราะคลาย
ปีติได้อีกด้วย   จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา    มีสติสัมปชัญญะอยู่    และเสวยสุข
ด้วยนามกายบรรลุตติยฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์  ซึ่งเป็นฌานที่พระอริยเจ้า
ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า  เป็นผู้มีจิตเป็นอุเขกขา   มีสติ   อยู่เป็น
สุข ดังนี้ อยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๒ คือ สุข  เอกัคคตาแห่งจิต   มีในสมัย
นั้น นี้เรียกว่า ตติยฌานกุศล  ธรรมทั้งหลายทีเหลือ เรียกว่า  ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน.
           [๗๑๔]  จตุตถฌาน  เป็นไฉน ?
           ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทา  เพื่อเข้าถึงรูปภพ   บรรลุจตุตถ-
ฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไม่มีทุกข์  ไม่มีสุข  เพราละสุขและทุกข์ได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน  มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา  อยู่ใน
สมัยใด  ฌานมีองค์ ๒ คือ  อุเบกขา  เอกัคคตาแห่งจิต   มีในสมัยนั้น   นี้เรียกว่า
จตุตถฌานกุศล  ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า  ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน.

ขอความผาสุขสวัสดี ก้าวหน้าในการปฏิบัติ เจริญในธรรม จงบังเกิดแก่สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติชอบทุกท่าน ทั่วกันเทอญ ฯ




กสิณ ๑

http://seealots.blogspot.com/2015/12/7-2558.html

กสิณ ๒

http://seealots.blogspot.com/2015/12/2-9-2558.html

กสิณ ๓

http://seealots.blogspot.com/2016/01/3-7-2559.html







สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS