Pages - Menu

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

"เมตตา" (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 9 มีนาคม 2558)

การเจริญเมตตาพรหมวิหาร อันเป็น องค์หนึ่งใน "พรหมวิหาร"  ตามตำราทั่วไปในโลกปัจจุบัน จะไม่มีวิธีปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน แต่ละสำนัก ก็จะสร้างวิธีขึ้นมาตามความเข้าใจของตน

ซึ่งโดยสภาวะความ "จริงแท้" ของความเมตตา จะเกิดขึ้นจาก การรู้ถึงคุณค่าของ "ชีวิต"  ว่า  "มีค่าเพียงใด"  และจะใช้ชีวิตอย่างไร "ให้มีค่าที่สุด" สำหรับ เรา เขา และสังคม

การปฏิบัติให้รู้ถึงคุณค่าชีวิตดังกล่าว ก็คือ "การฝึกมรณานุสติ" อนุสติแปลว่า การระลึกรู้  ...
มรณะ แปลว่า ความตาย รวมความแปลว่า ระลึกรู้อารมณ์ของความตาย ว่ามีลักษณะอย่างไร โดยความไม่ประมาทต่อชีวิต ที่เหลืออยู่ในทุกวินาที ที่เข็มนาฬิกากระดิกเคลื่อนไป

การรับรู้ นั้นจะต้องฝึกฝน ที่ได้ผ่านขั้นตอน "การตั้งลม" บนบก มาแล้วอย่างชำนาญ  จึงประคองอารมณ์นั้น "ลงน้ำ" ไปทำสมาธิที่ใต้นำ้ เพราะ "ลมจะไม่รั่ว" เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง

ในสภาวะใต้นำ้ ตาที่ลืมอยู่ สติพร้อมอยู่ อาการพฤติ ที่"ระงับอัสสาสะ ปัสสาสะ" คือการระงับลมหาใจเข้าออก หรือการตั้งลม ใต้น้ำ จะมีอารมณ์หนึ่งที่เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต เหมือนกันหมดคือ "กลัวตาย"  ดั่งพุทธดำรัสว่า "ความกลัว เหนือกว่าความตายไม่มี"

ความรู้สึก อารมณ์ ที่ได้รับขณะที่ "ตั้งลมใต้น้ำ"  จะสอนเราได้อย่างลึกซึ้งเกินกว่าจะอธิบาย  ด้วยอักษรหรือคำพูดใด ๆ ให้เข้าถึงจิตใจผู้อื่นได้ว่า "กลัวตาย"  มันมีลักษณะอย่างไร ? ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรับรู้ได้  นี่แหละที่เรียกว่า "เอหิปัสสิโก" ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เอง

ความกลัวตาย เป็นอารมณ์สุดท้ายของทุกสรรพสัตว์ไม่ว่าเล็กใหญ่  ที่เกิดจาก " ความรักในชีวิตตน และรู้คุณค่าชีวิตของตน ว่ามีค่ากว่าเงินทองหลายพันล้าน"  ณ ขณะที่ตั้งลมหายใจใต้น้ำนั้น ตอนจะสุดลม ใกล้จะทนไม่ได้ ใจจะขาด ตรงนั้นแม้จะเอาเงินสักกี่พันล้าน มาแลกกับเศษเสี้ยววินาที โดยบอกว่า "จะเอาเงินมากองให้ตามปรารถนา แต่ขอแลกกับชีวิตลมหายใจสุดท้ายนั้น ไม่มีใครรับ(นี่หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติอยู่ใต้นำ้) แต่คนที่บอกว่า ยินดีที่จะรับทรัพย์หรือสิ่งที่ปรารถนา ผู้นั้นไม่ได้สัมผัสการปฏิบัติใต้น้ำ จะไม่ได้รับรู้อารมณ์ส่วนนี้ ความแตกต่างจึงอยู่ที่  "สัมผัสจริง กับ จินตนาการขึ้นมา"

ถามว่า อะไร ที่ได้จากการทำสมาธิใต้น้ำ คำตอบคือ "ผู้นั้นจะรู้ซึ้ง ถึงอารมณ์ที่ได้สัมผัสกับคุณค่าของชีวิต  แม้เพียงเศษเสี้ยว หนึ่งในล้านของวินาที นั้นมีค่ากว่าทรัพย์สมบัติใด ๆ ในโลก และ ณ ขณะเวลานั้น หากมีการให้แลกเปลี่ยน ผู้ปฏิบัติตั้งลมอยู่ใต้น้ำนั้น จะยินดีที่จะแลกทรัพย์สมบัติหรือทุกสิ่งที่มี กับเศษเสี้ยววินาทีชีวิตของเขา"

สิ่งที่ได้มาจากอารมณ์ความรู้สึกในการปฏิบัติคือ "ความ ลด ละ เลิก" ในสิ่งสะสม ดับตัว "โลภะ"  ได้อย่างชะงัด อารมณ์นี้แหละ ที่เรียกว่า "มรณา" จะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำที่ให้เราระลึก เรียกว่า "มรณานุสสติ"  เพื่อหยุดความประมาท มองเห็นได้ชัดเจนกระจ่างว่า ความตายเป็นของธรรมดา แต่สิ่งมีค่าคือชีวิต กว่าทรัพย์สินทั้งปวง เวลาอันมีค่าที่เหลืออยู่  ย่อมจะถูกนำไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ ต่อ เรา เขา และสังคม อย่างมีค่าที่สุดทุกเสี้ยววินาที จะเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติหลังการฝึกนี้

ที่สำคัญ "ความเมตตา"  หรือ "เมตตาพรมวิหาร"  แปลว่า "เมตตาคือที่อาศัยแห่งพรหม" จะเกิดขึ้นใน "ใจ" ของเราเอง ด้วยจะเกิดอารมณ์ระลึกรู้ในสภาวะสุดท้าย ของลมหายใจนั้นว่า
ไม่เพียงแต่ "ชีวิต เราเท่านั้น แม้สรรพสัตว์น้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น มดแมง แมลงหนู หนอน แมว ฯลฯสารพัดที่เป็นสัตว์ร่วมวัฏฏะสงสาร ย่อมมีความรักในชีวิตเหมือนกันหมด มีอารมณ์เดียวกับเราเมื่อตอนจะหมดลมหาใจใต้น้ำนั้น 

อารมณ์นี้แหละ จะเกิดเป็นธรรมชาติ "ความเมตตา"  ที่เป็นภาษาใจ ที่บริสุทธิ์ ปราศจากความเสแสร้งที่ไม่ว่าสัตว์พืช มนุษย์ ก็สามารถสัมผัสรับรู้กันได้ และ การเบียดเบียนสัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งปวง จะไม่เกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติด้วยอารมณ์ "เมตตาพรหมวิหาร"  จะคอยกระตุ้นเตือนใจไว้ตลอด ชีวิตเขาจะมีแต่ความรัก ได้รับแต่ความรัก ความเมตตาด้วยอำนาจพลังแห่งสภาวะธรรมนั้น

สภาวะของ" เมตตา" เป็นสภาวะของ "พรหม" จึงสูงกว่า "เทวดา" ความปรารถนาใด ๆจึง "สำเร็จ"  เหนือกว่าธรรมชาติ เหนือกว่าจินตนาการ แต่ความปรารถนาของผู้ปฏิบัติในขั้น "เมตตาพรหมวิหาร"  ไม่มีความโลภ  ปนอยู่ ดังนี้ พลังแห่งสมาธิจะมีระดับสูง

ข้อพึงสังวรณ์....อย่าปฏิบัติใต้น้ำโดยไม่ผ่านตามขั้นตอนบนบก ให้อ่านคู่มือ the Secret Sutta 2  ให้เข้าใจ และปฏิบัติตามขั้นตอน 1234ให้ชำนาญก่อน


ขอความผาสุขสวัสดี สมปรารถนา ก้าวหน้าในการปฏิบัติ จงบังเกิดแก่ทุกท่านเทอญ เจริญพร