Pages - Menu

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

ว่าด้วยบททดสอบ..... (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 6 มีนาคม 2558)



ว่าด้วยบททดสอบ.....


ความแตกต่าง ระหว่างผู้ปฏิบัติ อย่างถูกต้อง ตามพุทธบัญญัติ"สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" กับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ  ย่อมเปรียบเทียบกับสภาวะ เช่นนี้ คือ

ยิ่งเรียนสูงขึ้นไปเท่าไร ข้อสอบ ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น นั่นคือการทดสอบตัวผู้ศึกษา ว่าได้เรียนรู้เข้าใจ เชี่ยวชาญในวิชชา ที่ตนได้รับมาหรือไม่ เราจะโทษ หรือโกรธครูอาจารย์ว่า ออกข้อสอบยาก ไม่สอบละ  ไม่ทำละข้อสอบ แล้วเดินออกจากห้องสอบ ผลคือ เราไม่ผ่านวิชชานั้นสอบตก..... ฉันใดก็ฉันนั้น

โยคาวจร หรือผู้ปฏิบัติ ก็เช่นเดียวกันเมื่อปฏิบัติแต่ระดับ ก็จะมีบททดสอบ แต่ละเรื่อง ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ เราเรียกว่า "ปัญหา-อุปสรรค-เคราะห์ ฯลฯ"  ที่เกิดขึ้น หรือเข้ามาในชีวิตเรา นั่นคือการทดสอบ พลังความแข็งแกร่งของสมาธิ ว่าเราทำได้แค่ไหน ? ที่ว่า กาย วาจา ใจ พร้อม น่ะ พร้อมแค่ไหน ? นำมาใช้ได้จริงหรือไม่ ? หากพร้อม   จะสามารถกำจัดอุปสรรค เคราะห์ ได้ นั่นหมายถึงเราทำข้อสอบได้ สอบผ่าน

       เพราะโดยธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง  ทุกข์ก็เป็น "สมมุติ"  ที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของ "เวลา"  เวลาจะเร็วหรือช้า ย่อมขึ้นอยู่กับ "ความรู้สึก=อารมณ์"  ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติ "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ย่อมได้รับการฝึกฝน ให้เชี่ยวชาญ รู้เท่าทัน ในการระลึกรู้ และสามารถควบคุม บังคับใช้ "อารมณ์ระลึกรู้=สติ" ไว้  ณ ตำแหน่งต่าง ๆให้ปรากฏผล "ที่ปรารถนา"  คืออารมณ์ "สุข"  ได้ทุกเมื่อ

"อารมณ์ สุข" นี้ มาจาก "อารมณ์ในขณะที่เรา อธิษฐานทำบุญ หรือ อนุโมทนาบุญ"  ดั่งที่เคยได้กล่าวไว้ ว่า ในทุกครั้งที่ทำบุญ เราจะปลื้มใจก็ให้จดจำ "ความปลื้มใจนั้นไว้"  เมื่อใดที่เกิด "ห้วงทุกข์ อุปสรรค"  = บททดสอบ ....แทนที่ อารมณ์เราจะคล้อยไปกับความทุกข์=บททดสอบนั้น เราก็ "ระลึกถึงอารมณ์ ปลาบปลื้ม ชื่นบาน ในบุญที่เราได้ทำ"  เหมือนเราเตรียมตัว ฝึกซ้อม ท่องตำรามาดี ได้เข้าห้องสอบ เราก็จะตื่นเต้นที่ได้สอบ เพราะมันคือการทดสอบความสามารถตัวเอง ว่าเก่งแค่ไหน  ?

     ความแตกต่างของผู้รับทุกข์ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนปฏิบัติ "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค"  จะหมดอาลัยตายอยาก ยอมพ่ายแพ้แก่อุปสรรค เหมือนคนที่เดินออกนอกห้องสอบโดยไม่ได้ทำข้อสอบ โทษว่าครูลำเอียง ออกข้อสอบยาก สรุป สอบตก
   
        แต่ผู้ที่ฝึกฝนปฏิบัติ "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค"  กลับรื่นเริงยินดี ที่จะพบกับอุปสรรค เพราะอารมณ์ต่างกันเหมือนนักมวยฟิตซ้อมดี จะขึ้นชิงแชมป์ หรือท่องมาดีจำได้ทุกหัวข้อ(อารมณ์บุญ)  พร้อมที่จะเข้าห้องสอบทุกเวลา  และเป็นความสนุก ภูมิใจ  ที่จะเชิดหน้า  ตะโกนให้ก้องฟ้า ว่า "ข้าผ่านการทดสอบ มาด้วยฝีมือ...และ ยังมีอีกไหม ข้อสอบ-บททดสอบที่ยากกว่านี้ ?"

ความแตกต่างจึงอยู่ตรงนี้

จงปลื้มใจ ที่มีโอกาสได้ "เข้าสอบ" แสดงว่า ครูรู้ว่า ระยะเวลา และหลักสูตรที่เรียนมา นั้นครบเครื่อง มีคำตอบ และแนวทางแก้ปัญหาของบททดสอบไว้พร้อม แต่นักเรียนไม่ฝีกฝน ท่องจำ กลับกลัวการสอบ ....นี่คือ ข้อแตกต่าง ของผู้สอบผ่าน กับ ผู้สอบตก ...เจริญพร