Pages - Menu

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

"เมตตา" (ต่อ) (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 12 มีนาคม 2558)

วันนี้ จะบรรยายในเรื่องของ  "เมตตา" ให้สมบูรณ์ ต่อจากคราวที่แล้ว  เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านที่สนใจ  ใฝ่ศึกษา  นำไปค้นคว้า และปฏิบัติ  อ้างอิงได้ในอนาคต


ดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วในหมู่นักปฏิบัติ และนักวิชาการทางพุทธศาสนา ว่า  "เมตตา" เป็น "พรหมวิหาร" หมายถึง "คุณสมบัติของพรหม"  แต่สิ่งที่ขาดหายไปในคำภีร์พุทธในยุคปัจจุบันคือ วิธีปฏิบัติให้เข้าถึง  "พรหมวิหาร"

"เมตตา" เป็นธรรมชาติของ  "อารมณ์" ที่เหนือกว่าคำว่า  "รู้สึก" ต้องเรียกว่า "รู้ซึ้ง" เพราะใน อารมณ์เมตตา  ไม่มีคำว่า "หึงหวง" (โมหะมูลจิต) โกรธ(โทสะ) โลภ(อยากได้ให้มาก)

เมตตาเป็นความรู้สึกที่ซาบซึ้งเกินกว่าที่จะบรรยายด้วยอักษร หรือ การแทนค่าใด  ๆ  ให้มนุษย์สามารถเข้าใจได้  เหมือนกับเราไม่อาจอธิบาย  ลักษณะของแสงสว่าง นอกจากเรารับรู้ความสว่าง  นั่นแหละ

เมตตา เป็นความปรารถนาฝ่ายเดียวของผู้ให้  ที่ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน  ไม่ต้องการแม้แต่ความรัก  หรือความเห็นใจ  หรือ แ ม้แต่สิ่งใด  ๆ  ที่เป็นผลสะท้อนกลับมา  เป็นความรู้สึกที่ผู้ได้ส่งความเมตตา นั้น ภาคภูมิและอิ่มใจ  ปลื้มใจ  ที่ได้กระทำ พฤติกรรมที่เรียกว่า "เมตตา" นั้น  ยกตัวอย่างเช่น  ปล่อยโคกระบือ ที่จะถูกฆ่า ผู้ปล่อยเห็นน้ำตาของโคกระบือที่ไหลรินเป็นแนวทางยาว หยดสู่พื้น   มันคุกเข่าลงกับดินเมื่อเราตบหัว  เราพูดภาษามนุษย์  มันรับรู้ได้  ....ความรู้สึกของผู้ปลดปล่อย  ถ่ายชีวิตโคกระบือยามนั้น  มันเต็มตื้น  มันภาคภูมิใจ  ที่ได้ให้ชีวิต  สัตว์....ใช่  ...มันเป็นเพียงชีวิตสัตว์ ...แต่เรารับรู้  และเรามีความสุขในการให้ชีวิตสัตว์นั้น ...อารมณ์นั้นแหละเรียกว่า  "เมตตา" มันไม่อาจอธิบายได้  แต่คิดว่าผู้อ่านคงเข้าใจ

การที่จะเกิดความ "เมตตา" ที่แท้จริงได้นั้นต้องรู้ซึ้งใน "คุณค่าของชีวิต" มิ ฉะนั้นจะกลายเป็นความ  "ลำเอียง" เช่น  เรารักสัตว์เลี้ยงของเรา มาก ๆ  ใครรังแกไม่ได้ พอสุนัขข้างบ้านวิ่งมากัดสัตว์เลี้ยงของเรา ๆ ก็เอาอาวุธทำร้ายสุนัขนั้น  อย่างนี้ไม่ใช่เมตตา  แต่เป็น  "ความรัก" จึงมีโทสะ โมหะ แทรกอยู่  เนื่องจากยังไม่ได้ฝึก  "เมตตาพรหมวิหาร"

ผู้ที่ฝึกเมตตาพรหมวิหาร  จะรู้ถึงคุณค่าของชีวิต  "อย่างซาบซึ้ง" เพราะตัวเองได้สัมผัสกับความตาย จนกล่าวได้ว่า "จะตายหรือไม่ เราคือผู้กำหนด".....ได้กล่าวไปถึงการฝึกปฏิบัติเมตตาพรหมวิหาร ก็คือ การฝึก "มรณานุสติ" คือ ฝึกระลึกรู้อารมณ์แห่งความตาย

เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทต่อชีวิต  สัมผัสกับความตายได้ว่า  "ความตายนั้นมาถึงเราได้ทุกเศษเสี้ยววินาที"  เรารักชีวิตของเรา สัตว์เล็กใหญ่ ทั้งหลายที่ร่วมอยู่ในสังสารวัตร ก็ไม่ผิดกัน

ทั้งนี้เพราะการฝึก "มรณานุสติ หรือ เมตตาพรหมวิหาร" ฝึกที่ใต้น้ำ ในสภาวะปราศจากลมหาใจ  ช่วงสุดท้ายที่จะหมดลมหาใจ  อารมณ์นั้นก็ไม่ผิด กับการใกล้ตายของทุกสรรพสัตว์

อารมณ์ใกล้ตายตรงนี้แหละ  ที่เราจะ ระลึกรู้(สติ แปลว่า ระลึกรู้อารมณ์ ....มรณานุสติ=ระลึกรู้อารมณ์ของความตาย) จากอารมณ์ตรงนี้จึงทำให้เกิด  "เมตตา" ที่แท้จริง ชนิดไม่ลำเอียง  ไม่มี อกุศลเจือปน

ผู้ที่จะฝึก "เมตตาพรหมวิหาร  ใต้น้ำ" ได้ จะต้องผ่านการฝึก  "ปถวีกสิณ" จนได้ดวงกสิณก่อน  จึงนำดวงกสิณ(แสงสว่าง)ที่ได้จากบนบกลงไปใต้น้ำ และเจริญกสิณต่อเนื่อง

เมื่อเจริญกสิณมาจนกระทั่งสุดลมหาใจ  ที่ใต้น้ำ(ถึงภาวะแห่งมรณะ=สัมผัสกับความตาย) ดวงกสิณนั้นจะเปลี่ยนสีไป  ใสกว่า สว่างกว่าเดิม  ดวงกสิณที่ได้ใหม่นี้เรียกว่า  "ดวงอัปปมัญญา"

โยคาวจร(ผู้ปฏิบัติ) จึงประคองอารมณ์ดังกล่าวไว้แต่ต้น  พร้อมดวงอัปปมัญญา ขึ้นมาปฏิบัติต่อบนบก  โดยมิให้ดวงสว่างนั้นหายไป ตามภาษาปฏิบัติเรียก ดวงสว่างที่ได้มาจากการฝึก "เมตตาพรหมวิหาร-มรณานุสติ" นี้ว่า "อัปปมัญญาโพชฌงค์"  ซึ่งไว้สำหรับแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วสกลจักรวาล

สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจผิด คือ  เรื่อง  "แผ่เมตตา"  โดยมากเราเรียกกันตอนทีื  "ตรวจน้ำ"  ก็จะบอกว่า "แผ่เมตตา" ซึ่งจริงแล้ว "แผ่ไม่ได้"  ได้แต่ "อุทิศ แปลว่ายกให้ คือยกส่วนกุศล  ผลของบุญให้กับผู้ล่วงลับ แต่ไม่ใช่แผ่เมตตา" หรือ  นั่งสมาธิเสร็จก็จะบอกว่าแผ่เมตตา เราฟังมากันทุกท่าน  ซึ่งไม่ถูก

ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ต้องได้ "ดวงอัปปมัญญา" ที่ผ่านการฝึกรู้จักคุณค่าชีวิต รู้จักความตายมาแล้วเท่านั้นจึงจะ  แผ่เมตตาได้...นี่คือทางปฏิบัติจริง ....ซึ่งต่างกับที่เราอ่านจากหนังสือ  หรือที่นักพูดเขาพูดกัน....เพราะเขาไม่เคยปฏิบัติถึงขั้นนี้

ผู้ที่ปฏิบัติถึงขั้น  "มรณานุสติ หรือ เมตตาพรหมวิหาร" จะไม่ย้อนกลับมาทำบาป โดยเฉพาะปานาติบาต =พรากชีวิตสัตว์ ทรมาณสิ่งมีชีวิต หรืออกุศลอีกเลย ชีวิตผู้ปฏิบัตินั้นจะอุทิศเพื่อความสุขสมบูรณ์ของสังคมมวลรวม

ผู้ที่ปฏิบัติถึงขั้นนี้  โดยเฉพาะขณะเจริญกสิณดวงอัปปมัญญาใต้น้ำ หากปรารถนาสิ่งใด ๆ  แม้จะเหลือวิสัยของมนุษย์ หรือเหนือธรรมชาติ  สิ่งปรารถนานั้นก็เกิดขึ้น  ดั่งผู้ปรารถนานั้นทุกประการ ....เพราะสภาวะ ณ ขณะเวลานั้น ผู้ปฏิบัติอยู่ใน "สภาวะแห่งพรหม" จึงเรียกว่า "พรหมวิหาร" แปลว่า  "ที่อยู่แห่งพรหม"

ขอความผาสุข สมหวัง  สวัสดี มีโชคชัย  ปรารถนาสิ่งใดอันเป็นกุศล  จงสัมฤทธิ์ผล  ดั่ง "ใจ" ทุกประการเทอญ  เจริญพร