ทาน กับ การเสียสละ ต่างกันอย่างไร? ในพระไตรปิฎก
13:37 |
จากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการบรรยายธรรม ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง "ทาน" กับ "จาคะ (เสียสละ)" นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
เพราะ ในแนวทางแห่งการปฏิบัติตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" เน้นย้ำเรื่องการ "เสียสละ" ไม่ใช่ เน้นที่ "ทาน" เพราะผลนั้นแตกต่างกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากการให้ความหมายในเอกสารพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายระหว่างสองคำ เกลื่อนกลืน สับสนปนกันอย่างแยกไม่ออก เหมือนน้ำผสมน้ำมัน ที่ใส่อยู่ในขวดเดียวกันฉันใดฉันนั้น
ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น จึงต้องไปค้นหาหลักฐานทางวิชาการ ซึ่งก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าพระไตรปิฏก จึงนำมาให้สาธุชนผู้ใฝ่ในการศึกษาปฏิบัติชอบ จะได้ยึดเป็นแนวทางที่ถูกต้องต่อไป
ทาน (การให้) ต้องมีผู้รับ จะให้กับผู้ที่ขาด หรือพร่อง คือ ต้องทีผู้รับ-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.
มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก.
ทียเตติ ทานํ การให้ชื่อว่าทาน
จุดมุ่งหมายใช้คำนำ เฉพาะเจาะจงกว่าคำว่า สละ (จาคะ)เช่น ให้เงิน ให้ทอง ให้ข้าว ให้น้ำ
คำว่า เฉพาะเจาะจง ในคำว่าทาน หมายถึง มีผู้รับที่แน่ชัด ผู้รับไม่สาธารณะทั่วไป ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้รับในวงกว้างเท่าไร
จาคะ (การเสียสละ) เป็นอุดมการณ์ มอบแก่ผู้ที่สูงกว่า เช่นถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา สละชีพเพื่อชาติ เน้น-ไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่ก็ตาม -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.
คหบดี ! ก็จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) เป็นอย่างไร
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทินคือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.
จาคะ แปลว่า สละ
อจชิตฺถ จชเต จชิสฺสเต จชนํ วา จาโค
สละแล้ว กำลังสละ จะสละ หรือ การสละ ชื่อว่า จาคะ
จุดมุ่งหมายของจาคะ ใช้ในลักษณะให้หรือปล่อยหรือสละเช่น ให้สิทธิคนอื่นผ่านทาง ยกทางเป็นสาธารณะ ก็ชื่อว่าจาคะ คือ สละสิทธิของตนในทางนั้นให้แก่คนอื่นๆทั่วไป เป็นการสาธารณะ
ให้ทรัพย์คือเงินทองแก่กองการกุศล แบบนี้เป็นการให้แบบจาคะ คือ สละทรัพย์ ให้กองการกุศลที่ยังไม่รู้ผู้รับชัดเจน และเป็นการให้มีประโยชน์สาธารณะ
บริจาค บาลีเขียนว่า ปริจาโค (บางครั้งก็ซ้อนจ.จาน เข้ามาเป็น ปริจฺจาโค) ... คำนี้มาจากรากศัพท์ว่า จช ในความหมายว่า สละ ... โดยมี ปริ เป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์ในความหมายว่า รอบ .... และ ลง ณ. ปัจจัย ดังนี้
ปริ + จช + ณ = ปริจาโค (แปลง ช.ช้าง เป็น ค.ควาย) ปริ (รอบ) + จช (สละ) = สละรอบ (เฉพาะความหมาย) ดังนั้น ปริจาคะ, ปริจจาคะ หรือ บริจาค มีความหมายตรงตัวจึงแปลว่า สละรอบ หมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตัวโดยประการทั้งปวง...
ปริจจาคะ ศัพท์นี้ จัดเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งใน ทสพิธราชธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมสำหรับพระราชา ผู้นำ หรือนักปกครอง (ผู้สนใจดู http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=326 )
การปฏิบัติตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" นั้น
ขั้นที่ 1 ต้องถึงพร้อมด้วย ศีล คือ สัจจะ อันมาจาก วาจา+ใจ เพื่อใช้ใน
ขั้นที่ 2 คือ ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ(ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา) คือ จาคะ จากนั้นจึงขึ้นสู่
ขั้นที่ 3 คือ ภาวนา = รวมกาย+วาจา+ใจ เป็นหนึ่งด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นในพุทธานุภาพ ไม่หวั่นไหว เรียกว่า "โอปกนศรัทธา" ซึ่งเป็นขั้นแรกก้าวสู่มิติแห่งพระอริยะบุคล
ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ ขอความผาสุข สวัสดี จงบังเกิดมี แก่สาธุชนผู้ปฏิบัติชอบในพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ทุกท่าน ถ้วนทั่วกันเทอญ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น