Pages - Menu

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อาการปิติ(ทบทวน) คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 23 พฤษภาคม 2558




เนื่องจากหลายวันมานี้ ได้รับคำถามจากสาธุชนผู้ปฏิบัติ "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามมรรค" หลายท่าน เรื่องของ"ปิติ" เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่หรือเปล่า ? ก็จะขอนำมาอธิบายซ้ำกันอีกครั้ง 




สำหรับผู้ที่ฝึก ปากกับใจตรงกันได้จริง และได้กล่าววาจาถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการหาระยะของลมหาใจ โดยการทิ้งขนนก มั่นใจว่าท่านทั้งหลายคงได้ฝึกกันมาแล้ว

ข้อสำคัญในการทิ้งขนนก คือ เมื่อขณะที่ทิ้งขนนกนั้น จะต้องสามารถกำหนดระลึกรู้อารมณ์ ระยะขนนกที่ทิ้งลงพื้น(กายสังขาร) เสียงที่เปล่งโดยวาจา(วจีสังขาร) ที่พร้อมกับเสียงจากใจ(มโนสังขาร) ได้แล้ว พฤติ(อาการ)ที่เกิดขึ้นอันจะบ่งบอกถึงความพร้อมแห่ง กาย วาจา ใจ คือ อาการที่แปลก ๆ จะเกิดขึ้น เช่น หาว ขนลุก น้ำตาไหล หวิว ๆ เหมือนขี้นที่สูง ฯลฯ 


อาการนี้เรียกว่า "ปิติ" เป็นสภาวะที่ต่างไปจากสามัญมิติ อันเกิดขึ้นโดยปกติธรรมดาของมนุษย์ จะเกิดขึ้นในขณะที่เกิดความพร้อมของ ๓ องค์ประกอบดังกล่าวแล้วนั้น ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้เอง เช่นเราไปอยู่ในที่สงัด เงียบ ก็เกิดการรวมตัวของกาย วาจา ใจ ขึ้นได้ เช่น ขนลุกขนพอง แว๊บวับ แต่ไม่อาจควบคุมได้ 


ซึ่งต่างไปจากการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน เพราะผู้ที่ปฏิบัติตตามวิถีแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ตามปรารถนาของผู้ปฏิบัติ นี้เรียกตามภาษาอภิธรรมว่า "วสี"



การเกิดขึ้นของ "ปิติ" อันพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ กาย วาจา ใจ นั้นมีตัวภาวนาคือ นะ..โม.. ซึ่งเป็นนามของเทวดาที่มีหน้าที่ปกปักรักษาและดูแลผู้ปฏิบัตินั้นไม่ให้ทุกข์กายทุกข์ใจ 



แต่เราตอนแรกจะจำไม่ได้ว่าเกิดที่ตัวไหน เป็น นะ..หรือ โม...ตอนเดินหน้า(อนุโลม) หรือตอนที่เปล่งวาจา นะ โม...ถอยหลัง(ปฏิโลม) ดังนั้น เราจึงต้องค้นหาตัว "ปิติ" นี้ให้พบ เพราะต้องนำไปใช้ในการอธิษฐานทุกระดับ

               ตั้งแต่อธิษฐานเรื่องทรัพย์(โลกิยะ) ไปจนถึงดวงปัญญาหลุดพ้น(โลกุตระ) คือนิพพาน ก็ต้องใช้การปิติ อธิษฐานทั้งสิ้น 

การอธิษฐาน เป็นส่วนที่ต้องใช้ "กายในกาย" เท่านั้น ไม่อาจใช้กายนอก หรือ กายสังขารได้ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การที่เราจะตั้งเป้าหมายว่าจะขับรถไปไหน เป็นการตัดสินใจของคนขับรถ คือ "ใจ" 

ส่วน กาย อันได้แก่สังขาร รูปร่าง ตา หู จมูก ลิ้น นี้เป็นตัวรถ 


                         ส่วนวาจา ก็เป็นตัวเชื่อม คือ กำลังที่เหยียบคันเร่ง หรือ กำลังที่ส่งมือให้บังคับพวงมาลัยให้หมุนไปตามคนขับ(ใจ) ต้องการ เรียกว่า "ปัญจทวารวิถี" 


แต่การอธิษฐานใช้กายในกาย เรียกว่า "มโนทวารวิถี" มีวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะ เมื่อผู้นั้นได้ผ่านจากขั้นอุคหโกศล(เปล่งวาจา พร้อมทิ้งขนนก)มาแล้วเท่านั้น


                     วิธีเข้าสู่มิติแห่งใจนี้ภาษาปฏิบัติเรียกว่า "มนสิการ" คือ ปฏิบัติด้วยใจ(กายในกาย) ทั้งนี้เพื่อค้นหาตัว "ปิติ" ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดตอนไหน ? ตัวไหน? ขณะที่ลมหาใจ เข้าหรือออก? หาความแน่นอนเพื่อนำไประลึกรู้แล้วอธิษฐาน ก็จะมีคำถามมาว่า เพราะเหตุไร ? 
เพราะ :::::::


๑. อักขระอันทำให้เกิด "ปิติ" ตัวนั้น ๆ คือ นามของเทวดาประจำตัวเรา ที่เราจะเรียกมาปรึกษา หรือ ขอความรู้ที่เราต้องการ เช่น ข้อธรรมะที่ลึกซึ้งและไม่เข้าใจ ฯลฯ รวมทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เราแก้ไม่ได้อย่างฉับพลันทันที ถ้าเราไม่รู้แน่นอน ก็ไม่รู้ว่าเทวดาประจำตัวเราชื่ออะไร ?


๒. "ปิติ" หรืออารมณ์ที่ได้รับนั้น ต่อไปจะนำไประลึก เพื่อแปรเป็นภาพสิ่งที่เราต้องการด้วยวิธีเฉพาะของ มนสิการ ไม่มีวิธีอื่น และต้องทำด้วยกายในกายเท่านั้น 


การที่จะรู้ว่า "ปิติ" ที่เกิดขึ้นเป็นอักขระใน นะ...โม. ตัวอะไรนั้น หากเราจะคอยจำ แน่นอนว่าไม่มีทางจะจำได้ จึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยจำ ซึ่งเรียกว่า "ปะคำ" อันเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจำ และค้นหาปิติ ซึ่งใช้เฉพาะและควบคู่ไปกับการทำ "มนสิการ" อันขึ้นต้นด้วย"คณา(แปลว่า นับ)" คือ การนับลูกปะคำ นั่นเอง 



การใช้ประคำเป็นอุปกรณ์(เครื่องช่วย) ในการค้นหาปิติ จะทำได้ก็ต่อเมื่อผ่านขั้นอุคหโกศล(ทิ้งขนนก)มาแล้ว เพื่อเข้าสู่กายในขณะที่กายนอกรับรู้สัมผัส มีวาจาเป็นตัวควบคุมเปล่งวาจา พร้อมไปกับกาย = มือ จับ นิ้ว-เคลื่อนเขี่ยเม็ดปะคำ ในขณะหนึ่งเดียวกัน 


เหมือนกับการทิ้งขนนกซึ่งเป็นท่ายืน แต่การทำมนสิการ(นับประคำ) เป็นท่านั่ง สิ่งที่เปลี่ยนไปจากการทิ้งขนนกคือ เน้นให้เสียงออกมาจากใจก่อน แล้วปากออกเสียงตาม เพราะในขั้นมนสิการ เน้นการบังคับใจ เริ่มที่ใจเป็นหลักสำคัญ 


ฉะนั้น การทรงสภาพอยู่กับกายในกาย(ใจ) จะต้องใช้เวลามากกว่ากายนอกที่ผ่านมา เรียกว่า "ใจนำ กายตาม" คือ เมื่อใจเอ่ยวาจานะปาก(วาจา)ว่านะ นิ้วมือ(กาย)จึงเขี่ยลูกปะคำ ทำอย่างนี้เรื่อยไป ทั้งเดินหน้า(อนุโลม)และถอยหลัง(ปฏิโลม) มีสิ่งควรทราบนิดหนึ่งถึงความแตกต่างระหว่าง การออกเสียงของ วาจา(วจีสังขาร) กับ กายในกาย(มโนสังขาร) คือ หาก ใจ(กายในกาย)นำ ปาก(วจีสังขาร)เปล่งเสียงตาม(เกือบพร้อม ๆ กัน) เรียกว่า ภวนา(มนสิการ คือ ทำด้วยใจ.... 



หาก ปาก(วจีสังขาร) ออกเสียงนำ ใจ(มโนสังขาร)ออกเสียงตาม เรียกว่า ปริกรรม ซึ่งผลที่ได้ต่างกัน(เป็นรายละเอียดมาก ไม่ขอกล่าาวถึงในที่นี้) ในการอธิษฐาน ซึ่งสำเร็จได้ด้วยใจเท่านั้น ไม่มีหนทางอื่น 


การอธิษฐานยังสามารถกำหนดได้อีกว่า สิ่งที่ต้องการนั้นจะเป็นแบบไหน อย่างไร ด่วน หรือ ช้า เร่งรีบ หรือ เรื่อย ๆ เป็นแบบวัตถุจับต้อง หรือเป็นกระแส เช่น การให้เกิดความนิยมชมชอบ ยกย่องสรรเสริญ ก็สามารถกำหนดให้เป็นไปตามปรารถนาได้ ทุกประการ ดังมีพระบาลีว่า

     อธิฏฺฐานาอิทฺธิ... ตตฺถ  สมฺมาปโยคปจฺจยา  อิชฺฌานฏฺเฐน  อิทธิ ฯ  


.....สำหรับวันนี้คงเท่านี้ก่อน ให้กลับไปทบทวนดูว่า ขาดตกบกพร่องตรงไหน จะได้เติมเสริมเต็ม เพื่อความสมบูรณ์ได้ผลสมดั่งที่ท่านทั้งหลายได้มีกุศลเจตนา ปฏิบัติชอบในแนวทางแห่งสติปัฏฐาน จะเป็นเครื่องยืนยันว่า "ของจริง ต้องพิสูจน์ได้ เหมือนปืนจริงต้องยิงได้ แต่...ข้อสำคัญใส่กระสุนหรือเปล่า ! และหันปากกกระบอกปืนไปทางไหน ต่างหาก ? 


ขอความสุขสวัสดี ลาภผลพูนทวี พบสิ่งที่ปรารถนาอันอธิษฐาน สัมฤทธิผลทุกประการดั่งใจโดยพลัน ทุกท่านเทอญ....เจริญพร