อธิจิตตสูตร
พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่อง อธิจิตว่า... “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการนิมิต ๓ โดยกาลอันสมควร คือ พึงมนสิการสมาธินิมิตโดยกาลอันสมควร ๑ พึงมนสิการปัคคหนิมิตโดยกาลอันสมควร ๑ พึงมนสิการอุเปกขานิมิตโดยกาลอันสมควร ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการสมาธินิมิตโดยส่วนเดียวเท่านั้ไซร้ ฐานะนั้น พึงให้จิตเป็นไปเพื่อโกสัชชะได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุประกอบเนือง ๆ ซึ่ง อธิจิต พึงมนสิการอุเปกขานิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ฐานะนั้น พึงให้จิตเป็นไปเพื่ออุทธัจจะได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุประกอบเนือง ๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการอุเปกขานิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ ฐานะนั้น จิตย่อมไม่ตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในกาลใดแล ภิกษุประกอบเนือง ๆ ซึ่งอธิจิตมนสิการสมาธินิมิต ปัคคหนิมิต อุเปกขานิมิต โดยกาลอันควร จิตนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติอ่อนควรแก่การงาน เป็นปภัสสร ไม่เปราะ (คือ ไม่ย่อยยับ)ย่อมตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง ประกอบเบ้า (คือทำเตาสำหรับหลอมทอง) ครั้นประกอบเบ้าแล้วก็สุมไฟปากเบ้า ครั้นสุมไฟแล้วก็เอาคีมคีบทองใส่เข้าไปในปากเบ้า ย่อมสูบลมเข้าไปตามกาลอันควร ย่อมเอาน้ำประพรมโดยกาลอันควร ย่อมวางเฉยโดยกาลอันควร.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายถ้านายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง พึงเป่าลมเข้าไปโดยส่วนเดียวไซร้ฐานะนั้น ทองก็พึงละลายไป. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง พึงเอาน้ำประพรมโดยส่วนเดียวไซร้ ฐานะนั้น ทองก็จะพึงเย็นไป.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านายช่างทอง หรือลูกมือนายช่างทองพึงดูทองนั้นเฉย ๆ อยู่อย่างเดียวไซร้ ฐานะนั้น ทองก็ไม่พึงสุกปลั่ง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล นายช่างทอง หรือลูกมือนายช่างทอง ย่อมเป่าลมเข้าไปโดยกาลอันควร ย่อมเอาน้ำประพรมโดยกาลอันควร ดูเฉย ๆ อยู่ตามกาลอันควร ทองนั้นย่อมเป็นธรรมชาติอ่อน ควรแก่การงาน สุกปลั่ง ไม่เปราะ ย่อมใช้งานได้ดี. นายช่างทอง หรือลูกมือนายช่างทอง จำนงอยู่ด้วยเครื่องประดับชนิดใด ๆ ผิว่าจะทำเข็มขัด จะทำตุ้มหู จะทำสร้อยคอ จะทำมาลัยทอง แท่งทองคำนั้น ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งอธิจิต ฯลฯ ย่อมตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. ภิกษุนั้นย่อมน้อมจิตไปเพื่อธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ด้วยอภิญญาใด เมื่อสติในอายตนะนั้น ตั้งอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้สามารถเพื่อทำให้แจ้ง ด้วยอภิญญาในธรรมนั้น ๆ นั่นแหละ ดังนี้ พึงทราบว่า ทั้งหมดนี้ ชื่อว่า อธิจิต
(พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒)
ขยายศัพท์ ::
โกสัชชะ หมายถึง ความเป็นผู้เกียจคร้านในที่นี้ พระผู้มีพระภาคก็ทรงใช้คำว่า โกสัชชะ ซึ่งวิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า กุสีตสฺส ภาโว โกสชฺชํ (ความเป็นบุคคลผู้เกียจคร้าน ชื่อว่า โกสัชชะ)
ปล่อยจิตไปตามกระแสอารมณ์ ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมอันเป็นอกุศล ไม่ใช้ใจควบคุม เหมือนรถที่วิ่งไปโดยไร้คนขับย่อมไร้จุดหมาย เพิ่มพูนการอารมณ์ในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือ ในกามคุณ๕ หรือ ความไม่เคารพ กระทำที่ไม่ต่อเนื่อง การทำที่ขาดความมั่นคงประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ตั้งมั่น ความประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า โกสัชชะ หรือ ความเกียจคร้าน.
ธรรมที่ตรงกันข้ามกับโกสัชชะ คือ วิริยะ เพียรประกอบกุศลไม่หยุด จนกว่าจะถึงเป้าประสงค์ ตามความเป็นจริงของชีวิต ก็ย่อมเป็นไปกับอกุศลมากกว่ากุศล อันเนื่องมา จากกิเลสที่สะสมมา ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ยังเป็นผู้เกียจคร้าน เกียจคร้านในการเจริญกุศลทุกประการ เกียจคร้านเพราะปล่อยจิตไปตามกระแส ไม่ใช้ใจควบคุม เหมือนรถที่วิ่งไปโดยไร้คนขับ ต่างกับผู้ปฏิบัติตามพุทธวิถี “สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค” เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น วิริยะความเพียรที่เกิดกับความเห็นถูก ก็เพียรไปในทางกุศลธรรมมากขึ้น ไม่ได้หมาย ความว่าอกุศลจะไม่เกิด แต่เมื่อเกิดแล้ว วิริยะ ความเพียรก็เพียรละเว้นอกุศล เพียรเจริญอธิจิต นำมาอธิษฐานได้ผลจริง จึงไม่มีเกียจคร้านหลงเหลืออยู่
สมาธินิมิต คือเครื่องหมายสำหรับตั้งสมาธิ คือ การนำลมหาใจ ไปตั้งไว้ ณ ตำแหน่งที่ตั้งแห่งธาตุทั้งหลาย อันเรียกว่า ปถวีธาตุ เพื่อ สัมปยุตธาตุ ควบคุมธาตุ อันเป็นสมมุติ ผู้ควบคุมธาตุได้นั้นชื่อว่า “ธาตุกุศลตาบุคคล”
ปัคคาหนิมิต หมายถึง การปรารภความเพียรทางใจ คือ ตัดสินใจเริ่มปฏิบัติชอบในพุทธวิถี “สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค” เท่านั้น จัดเป็น สัมมาวายามะ เรียกว่า ปัคคาหนิมิต. คือ
การระลึกรู้ไปอยู่ที่สมาธินิมิต(ที่ปถวีธาตุ) การรับรู้อารมณ์+ปิติ+นิมิต=สติปัฏฐาน ปัคคาหนิมิตนี้เปรียบเสมือนเกียร์รถ ที่สามารถเปลี่ยนให้ ถึงจุดหมายได้ เร็ว-ช้า ตามใจปรารถนา
อุเบกขานิมิต คือ การถอยออกมาสู่ภาวะระลึกรู้ ความต้องการว่า “จะอธิษฐานเรื่องอะไร” อารมณ์จะไม่เกาะเกี่ยวกับสภาวะของ ปิติ นิมิต หรือ ลมหาใจ แต่ให้ระลึกอยู่ใน(ภาพที่อธิษฐานนั้น) เป็นอารมณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ปรารถนาอธิษฐาน จึงจะสำเร็จสมประสงค์ อุเปกขานิมิต เปรียบเสมือนเกียร์ว่างของรถ เมื่อเราจะเปลี่ยนเกียร์เร่งให้รถวิ่งเร็ว เพื่อให้ไปถึงจุดหมายเร็วขึ้น ก็ต้องปรับเข้าเกียร์ว่างก่อน จึงเปลี่ยนเป็นเกียร์สูงขึ้นไป ผลจึงปรากฏรวดเร็วในปัจจุบันทันที
::: จุดพลาดของนักปฏิบัติ ทำให้ไม่เกิดผลตามที่ปรารถนา
เพราะปฏิบัติสมาธิแบบอื่น อันมิใช่พุทธวิถี “ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ” อันเป็นหนทางปฏิบัติหนึ่งเดียว ไม่มีหนทางอื่นนอกเหนือไปจากนี้
เพราะกำหนดสมาธินิมิต โดยส่วนเดียว เป็นเหตุให้สภาวะจิตเกิดอารมณ์แห่งความเกียจคร้าน
เพราะกำหนดปัคคาหนิมิต โดยส่วนเดียว เป็นเหตุให้จิตเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน
เพราะกำหนดอุเบกขานิมิต โดยส่วนเดียว ไม่คืนสู่สภาวะของปัคคาหนิมิต เป็นเหตุให้ไม่ได้ผล
__________________________________
พระธรรมบาล /บันทึก
ณ มหาวิหารสมปรารถนา วัดสุวรรณโคมคำ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น