Pages - Menu

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ว่าด้วย "ความสำคัญของ อารมณ์ปริตตะ"





  "......จตุตถฌานที่เป็นไปในอิทธิวิธะ ย่อมมีอารมณ์เป็นปริตตะ และมหัคคตะ อย่างไร ?

คือว่า ในกาลใด พระโยคาวจรมีความประสงค์ทำกายให้อาศัยจิตแล้วไป(เหาะไป) ด้วยกายที่มองไม่เห็นก็ยังกายให้เปลี่ยนไปด้วยอำนาจแห่งอธิจิต ย่อมตั้งนิมิตอารมณ์ไว้ ณ ฐานที่ตั้งแห่งใจ ย่อมยกกายขึ้นในอารมณ์แห่งมหัคคตะ ในกาลนั้น อิทธิวิธะ อันพึงประสงค์นั้นก็ พึงสำเร็จด้วยมีอารมณ์เป็นปริตตะ เพราะ มีรูปกายเป็นอารมณ์   
มีอรรถาธิบายว่า มีอารมณ์ที่พร้อมแล้วด้วยการประกอบวจีสังขาร แลมโนสังขารในกาลใด พระโยคาวจรทรงอารมณ์ไว้ ณ ฐานที่ตั้งแห่งใจ อาศัยกายมีความประสงค์จะไปด้วยกายที่มองเห็น ก็พึงบังคับจิตให้เปลี่ยนไปตามอำนาจแห่งกาย  ย่อมตั้งอารมณ์ที่มีปิติเป็นบาทไว้ ณ ฐานที่ตั้งแห่งใจ คือย่อมยกขึ้นตั้งไว้ในรูปกาย ในกาลนั้น อิทธิวิธะนั้น  ก็มีอารมณ์เป็นมหัคคตะ  เพราะมีมหัคคจิตเป็นอารมณ์เพราะทำอรรถาธิบายว่า มีอารมณ์ที่ได้ด้วยการประกอบ จตุตถฌานที่เป็นไปด้วยทิพยโสต   มีอารมณ์เป็นปริตตะอย่างเดียว เพราะปรารภเสียงเป็นไป
จตุตถฌานที่เป็นไปด้วยเจโตปริยญาณ มีอารมณ์เป็นปริตตะ เป็นมหัคคตะ และอัปปมาณะอย่างไร ?  

คือว่า ในเวลาที่รู้จิตอันเป็นกามาพจรของชน แลโอปปาติกะเหล่าอื่น  เจโตปริยญาณนั้นตั้องมีอารมณ์เป็นปริตตะ  ในเวลาที่รู้รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิตของชน แลโอปปาติกะอื่น ก็มีอารมณ์เป็นมหัคคตะ ในเวลาที่รู้มรรคและผลของชนอื่น ก็มีอารมณ์เป็นอัปปมาณะ ในอธิการนี้ ปุถุชนย่อมไม่รู้จิตของพระโสดาบัน พระโสดาบันย่อมไม่รู้จิตของพระสกทาคามี ด้วยอาการอย่างนี้ พึงทราบจนถึงพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์ย่อมรู้จิตของบุคคลทั้งหมด ก็อริยบุคคลอื่นอีกที่สูง ย่อมรู้จิตของบุคคลผู้ต่ำ พึงทราบความต่างกันดังกล่าวมานี้

จตุตถฌานที่เป็นไปในยถากัมมุปคญาณ  ย่อมมีอารมณ์เป็นปริตตะในเวลาที่รู้กรรมที่เป็นกามาพจร  มีอารมณ์เป็นมหัคคตะ ในเวลาที่รู้กรรมที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร
     จตุตถฌานที่เป็นไปในทิพยจักษุ มีอารมณ์เป็นปริตตะอย่างเดียวเพราะมีรูปเป็นอารมณ์...."
 นี้เป็นข้อความอันยืนยัน ความสำคัญแห่งอารมณ์ปริตตะ ที่ปรากฏเป็นหลักฐานในพระไตรปิฏกบาลี ซึ่งในวันเสาร์-อาทิตย์นี้ จะได้ขยายความในรายละเอียด เพื่อเข้าสู่การปฏิบัติในส่วนแห่งมโนทวารวิถี อันมี "มนสิการ" เป็นประตูบานแรกที่จะผ่านเข้าไป สู่มิติแห่งใจ อันจะเป็นหนทางดำเนินไปสู่อัปปนาสมาธิ ดังพุทธพจน์กำหนดวิถีปฏิบัติไว้ชัดเจนว่า " อัปปนาสมาธิ จักเป็นไปมโนทวารวิถี เท่านั้น "


ขอความสำเร็จ ผาสุข สวัสดี สมปรารถนาก้าวหน้าในธรรมปฏิบัติ จงบังเกิดแก่ สาธุชนทุกท่านถ้วนทั่วกันเทอญ 







สารบัญทั้งหมดอยู่ด้านขวามือของทุกหน้า(เวอร์ชั่นเว็บ)