Pages - Menu

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

การอุทิศส่วนกุศล - แผ่เมตตา




             สาธุชนผู้ใฝ่ในธรรมปฏิบัติในพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" มีความสงสัยในเรื่อง "อุทิศส่วนกุศล กับ แผ่เมตตา" จะทำอย่างไร จึงจะถูกต้องและได้ผล

ความหมายของคำว่า "แผ่ส่วนกุศล" ส่วนใหญ่ปัจจุบันจะเข้าใจว่า คือการกรวดน้ำ หลังจากการทำบุญ หรือการแผ่เมตตาหลังจากทำสมาธิ

   ซึ่งความจริงแล้ว "ถูกต้อง ... แต่ไม่ทั้งหมด !!" เหมือนกับเราเห็นปูนปั้นเป็นรูปเสือ ถ้าถามว่า "นั่นอะไร ? " ก็ต้องตอบว่า. "เสือ" ไม่ได้ตอบว่า "ปูนปั้น" ถ้ามีใครตอบว่า "ปูนปั้น" คนถามก็จะหาว่า ยียวน กวนเกี๊ยะ" ไปโน่น

หากถามว่า ที่เขาตอบว่า "เสือ" ทั้งที่เป็นปูนปั้น น่ะถูกไหม ? ส่วนใหญ่ต้องบอกว่า "ถูก" แต่จริงแล้ว "มันไม่ใช่ เสือ มันเป็นปูน ไม่มีชีวิต ทำอะไรไม่ได้ !! " ฉันใดก็ฉันนั้น

การแผ่ส่วนกุศล หรือการแผ่เมตตา ที่ถูกต้อง ผู้ที่จะทำได้ก็จะต้องผ่านการปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ขั้นควบคุมธาตุได้(ธาตุกุศลตาบุคคล) คือได้ดวงกสิณ(กสิณ แปลว่า เครื่องยังให้เกิดแสงสว่าง) เมื่อได้แสงนั้นแล้วจึงนำดวงแสงกสิณไปปฏิบัติต่อในไต้น้ำเพื่อ ฝึกมรณานุสติ-เมตตาพรหมวิหาร(เมตตาเจโตวิมุติ) เพื่อให้เข้าถึงขั้นอัปปมัญญาโพชฌงค์

จากนั้นจึงนำเอาดวงแสงแห่งอัปปมัญญานั้น มาใช้ในการแผ่กระแสเมตตาให้กับเวไนยสัตว์ ไปทั่วทุกจักรวาล หากยังไม่ได้อัปปมัญญา ก็ไม่อาจแผ่เมตตาได้ ... นี่เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ ... แต่ที่เราเรียกกันเองว่า "แผ่เมตตา เช่น สัพเพ สัตตา ... นั่นเป็นรูปแบบ เหมือนเสือปูนปั้น ที่กล่าวมาในเบื้องต้น นั้น ย่อมปราศจากผลโดยสิ้นเชิง สรุปคือ หากยังปฏิบัติไม่ผ่านขั้นอัปปมัญญา ย่อมไม่อาจ "แผ่เมตตา" สิ้นเชิง



การให้ส่วนบุญกุศลกับคนเป็น(คนที่ยังไม่ตาย) เรียกว่า "ให้พร" ผู้ให้ต้องมี ศีล หรือ ภูมิธรรมสูงกว่าผู้รับ ด้วยอำนาจอภิญญา สมาธิที่มาจากการปฏิบัติ เช่น พระ(พระ มาจากคำว่า พร อ่านว่า พอน แปลว่าผู้ประเสริฐ)จึงมีการรับพรจากพระหลังจากถวายต่าง ๆ หรือ เป็นบุพการีผู้ให้กำเนิด เช่นพ่อแม่ให้พรลูกเป็นต้น



ต่อไปคือ เรื่องการอุทิศส่วนกุศล(ยกผลของบุญที่เราทำแล้วนั้นให้) คือ "บุญ" ที่เราได้ทำสำเร็จแล้วด้วย กาย วาจา ใจ เท่านั้นจึงเรียกว่า "บุญ" หากไม่ถึงพร้อมองค์ ๓ เรียกว่า "ทำทาน" ไม่ใช่ทำบุญ

สำหรับเรื่องนี้สืบเนื่องจนกลายเป็นประเพณีในยุคปัจจุบันนั้น ปรากฏมีมาแต่ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงเคยแนะนำพระเจ้าพิมพิสารให้อุทิศส่วนบุญหลังจากการถวายทาน ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมานเปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ติโรกุฑฑเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร อันมีเรื่องโดยสรุปว่าคราวหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารซึ่งได้ปฏิบัติตามพุทธวิถีสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน

      พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายเกิดศรัทธายิ่งในพุทธานุภาพ จึงได้ถวายเวฬุวนอุทยานแก่พระพุทธองค์เพื่อเป็นพระอาราม คืนนั้นเองได้เกิดเสียงประหลาดน่าสะพรึงกลัวแก่พระเจ้าพิมพิสาร รุ่งเช้าพระองค์จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อเล่าเรื่องนี้

พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า นั่นเป็นเสียงของญาติในอดีตของพระองค์ที่บังเกิดเป็นเปรต และเปรตเหล่านี้พากันมาร้องขอส่วนบุญ เพราะเมื่อวานนี้พระองค์บริจาคทานแล้ว แต่ไม่ได้อุทิศส่วนบุญไปให้

วันรุ่งขึ้นพระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์ไปรับทานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถวายภัตตาหารและไตรจีวรเสร็จ พระเจ้าพิมพิสารก็อุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติทั้งหลาย โดยมีการหลั่งทักษิโณทกหรือกรวดน้ำไปพร้อมกัน ทันใดนั้นอานิสงส์แห่งบุญก็เกิดแก่เปรตทั้งหลาย ทำให้ได้รับทั้งอาหารทิพย์ผ้าทิพย์ ร่างกายอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใส

จากเรื่องข้างต้นจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเพียงแต่แนะนำให้พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นอริยะบุคคลชั้นโสดาบัน "อุทิศส่วนกุศล(ผลของบุญ)" ให้แก่ญาติที่ล่วงลับในอดีตชาติ แต่สำหรับปุถุชนผู้ยังไม่บรรลุเป็นพระอริยะบุคคล แต่ได้ปฏิบัติตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" อันเป็นหนทางเดียวไม่มีทางอื่น ที่ไปสู่พระนิพพาน และในขั้นเริ่มต้นของผู้ปฎิบัติ ย่อมผ่านการฝึกฝน ให้กาย วาจา ใจ ถึงพร้อม ด้วย "สติ=ธรรมชาติระลึกรู้อารมณ์+ปิติ+นิมิต" ย่อมเกิดเป็น "ปริกมฺมจิต" ในขั้นอุปจารสมาธิ จึงสามารถสื่อสารด้วยภาษาใจ ไปยังเหล่าเปรต เจ้ากรรมนายเวร และสัตว์ในภพภูมิต่าง ๆ ให้รับรู้ และมารับเอาส่วนกุศล อันได้อุทิศแล้วด้วยใจ นั้นได้

ส่วนการหลั่งทักษิโณทกนั้นเป็นขัติยราชประเพณี ที่พระมหากษัตริย์ใช้ในการพระราชทาน หรือกล่าวสัจจาธิษฐานต่อปวงเทพยดาฟ้าดินเป็นพยาน อันจักเปลี่ยนแปลงมิได้ ดังเช่นพระนเรศวรมหาราช ทรงหลั่งทักษิโณฑกประกาศเอกราช เป็นต้น(เป็นที่มาของคำว่า "กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ตราบเท่าดินฟ้าสลาย)

ประเพณีการหลั่งทักษิโณทก (ใช้อุปกรณ์คล้ายที่กรวดน้ำยุคปัจจุบัน)นั้นมีมานานแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงนำประเพณีนี้มาใช้กับการอุทิศส่วนกุศล จึงกลายเป็นที่มาของการกรวดน้ำ ที่ปฏิบัติหลังจากการถวายสังฆทาน ภัตตาหารแก่พระสงฆ์  กลายเป็นประเพณีของชาวพุทธสืบมาจนทุกวันนี้

เพื่อความเข้าใจกระจ่าง และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในฐานะพุทธบริษัทที่ไม่ได้มีภูมิธรรมถึงขั้นอริยบุคคลเหมือนพระเจ้าพิมพิสาร สำหรับการ "อุทิศส่วนกุศล" จะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "อุทิศส่วนกุศล"  ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า "อุทิศ" แปลว่า "ยกให้" คือ "ผลบุญที่เราได้กระทำ สำเร็จแล้วด้วย "ใจ" ย้ำว่า "ด้วยใจ" ไม่ใช่หมายถึงไปทำบุญ ถวายสังฆทาน ภัตตาหารกับพระ คณะสงฆ์ แล้วจะได้บุญ เพราะบุญต้อง "สำเร็จด้วย การถึงพร้อมด้วย " กาย+วาจา+ใจ ในวาระจิตเดียว"


ดังนั้นบุญสูงสุดอยู่ที่การปฏิบัติให้ถึงพร้อม เช่นที่เราปฏิบัติ " สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ตั้งลม ระลึกรู้ แม้ได้ชั่วขณะหนึ่งที่เกิดความพร้อม ความเพียบพร้อม ถึงพร้อมด้วยองค์สามคือ กาย วาจา ใจ จะเกิดสัญญานให้เราได้รู้ได้ระลึกคือสภาวะที่เรียกว่า "ปิติ"(แปลว่า ถึงพร้อม,เพียบพร้อม)การปฏิบัติให้ถึงพร้อมนั้น "เป็นบุญ" ผลที่เกิดจากการปฏิบัตินั้นเรียกว่า "กุศล" ผลที่เกิดนี่แหละที่เรา ใช้ "ใจ" กำหนดภาพผู้ที่เราต้องการยกให้ เช่นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น ก็จะได้รับผลบุญ หรือที่เรียกว่ากุศลที่เราได้ทำนั้นไปถึงใคร ให้ใคร เจ้ากรรมนายเวรไหน ย่อมได้รับ เพราะ "สิ่งทั้งหลายย่อม สำเร็จได้ด้วยใจ"

   หากเรานึกระลึก. "ปิติ" จากที่เราปฏิบัติไม่ได้ ก็เหมือนกับ เราเองก็ไม่รู้ว่า จะเอาของ อะไรให้ ? และนึกภาพผู้ที่จะให้ไม่ได้ ก็คือ ไม่รู้ว่า จะให้ใคร...สรุปคือ สูญเปล่า ! เป็นชั้นความคิด ปลอบตัวเองว่าได้ให้แล้ว แต่ตามจริงไม่ได้ให้ และไม่มีผู้ได้รับ

   ดังนั้น ความสำคัญแห่งการ "อุทิศส่วนกุศล" ต้องได้ "ปิติ+ภาพผู้ที่เราจะให้" ชัดเจน การอุทิศนั้นจึงจะได้ผลสมปรารถนา ซึ่งสามารถสรุปรวมได้ว่า การอุทิศส่วนกุศล หรือ การแผ่เมตตา หากมิได้ปฏิบัติตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" แล้วละก็ ไม่ว่า "บุญ หรือ ทาน ที่ได้ทำไป ยังไงก็ไม่ถึงแก่ญาติมิตร หรือ เจ้ากรรมนายเวร เลย ...เรียกว่า สูญเปล่า เหมือนเอาน้ำตาลไปละลายในทะเล ไม่ได้ช่วยให้ทะเลลดความเค็มลง เพราะนอกจากหนทางแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค แล้วไม่มีหนทางอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ดังมีพุทธพจน์ยืนยันไว้ชัดเจนว่า " เอกมคฺโค... เป็นหนทางเดียวไม่มีทางอื่น..."

ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ ขอความผาสุขสวัสดี เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ สมปรารถนา จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ปฏิบัติชอบทุกท่าน โดยพลันทั่วกันเทอญ ฯ