โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 5 ตุลาคม 2558)



   ขอนอบน้อมแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายข้ามพ้นโอฆสงสารแห่งทุกข์

   ขอนอบน้อมแต่พระสัทธรรม ขององค์พระสัมมาสัมพุทธ อันเป็นคำสั่งสอนแนวทางสู่การพ้นทุกข์ อันมีพระนิพพานเป็นที่สุด

   ขอนอบน้อมแก่พระสงฆ์ ผู้ดำรงสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้


บัดนี้จักได้บรรยายธรรม เฉพาะสำหรับสาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติชอบในพุทธวิถีสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค สืบไป





"ความเป็นหนึ่งเดียวกันของการปฏิบัติภาวนา ดุจสายโซ่ที่ไร้ปลาย"

ด้วยพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฏก ว่า...

      อาปานสฺสติ  ภิกขเว  ภาวิตา  พหุลีกตา :  จตฺตาโร  สติปฏฺฐาเน  ปริปุเรนติ
       จตฺตาโร สติปฏฺฐานา  ภาวิตา พหุลีกตา :  สตฺต สมฺโพชฺฌงฺเค  ปริปุเรนติ
       สตฺต สมฺโพชฺฌงฺคม  ภาวิตา  พหุลีกตา :  วิชา  วิมุตฺตึ  ปริปุเรนติ ฯ

    ภิกษุทั้งหลาย อาปานัสสติ อันบุคคลได้อบรมให้มากแล้ว  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยสติปัฏฐาน ๔  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยโพชฌงค์ ๗  ผู้นั้นย่อมได้ถึงซึ่งวิชา และ วิมุติอย่างบริบูรณ์ ฯ
                      (วิ. ๒/๘๕ : ม.อุปริ ๑๔/๑๙๓)

นั่นหมายถึงว่า เมื่อปฏิบัติอาปานสติ ก็ย่อมเสริมสติปัฏฐาน เมื่อปฏิบัติสติปัฏฐาน ย่อมเสริมโพชฌงค์. เป็นผลต่อเนื่องกัน
ดุจดั่งว่าเรานั่งรถไปเชียงใหม่(ไปสู่การพ้นทุกข์คือพระนิพพาน)  ย่อมผ่านจังหวัดต่างๆ จึงจะถึงเชียงใหม่ได้ฉันนั้น
ความต่างคือเราจะจำเครื่องหมาย หรือตำแหน่งจังหวัดที่ผ่านไปนั้นได้หรือไม่

หรือเปรียบให้ง่ายขึ้นไปอีก เหมือนการรับประทานอาหาร ย่อมก่อให้เกิดความเจริญเติบโตของร่างกายไปโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ ไม่ใช่เติบโตเฉพาะส่วน



ที่นำมาบรรยาย ก็เพื่อให้สาธุชนได้ภาคภูมิใจ ในการปฏิบัติ ว่า ได้เดินถูกทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทุกประการ ไม่ไขว้เขว เป็นทางตรงสู่พระนิพพาน เพียงเส้นทางนี้ทางเดียว ไม่มีทางสายอื่น...เอก  มคฺโค..


ที่เราปฏิบัติกันมา สาธุชนหลายท่านคงไม่ทราบว่า ท่านได้ปฏิบัติผ่านขั้นตอนของ"โพชฌงค์"(องค์แห่งการตรัสรู้) บางส่วนแล้ว   เหมือนกับรถที่วิ่งผ่านจังหวัดต่าง ๆ ระหว่างทาง ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้น

ในครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ โพชฌงค์


โพชฌงค์ คืออะไร?

- โพชฌะ แปลว่า การตรัสรู้    
   อังค แปลว่า องค์

โพชฌะ กับ อังค บวกกันเป็นโพชฌงค์ แปลว่า ธรรมะเป็นองค์ตรัสรู้ หรือ ธรรมะเป็นตัวปัญญาตรัสรู้ มี ๗ ประการ  
จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติอาปานัสติ และสติปัฏฐาน๔ เท่านั้น เปรียบดั่งต้นมะม่วง ย่อมออกช่อ ออกลูกเป็นมะม่วง ไม่แปลเปลี่ยนเป็นมะพร้าว โพชฌงค์ เปรียบเสมือนช่อมะม่วง ที่จะเจริญเป็นผลมะม่วง 


ขั้นตอนของการปฏิบัติโพชฌงค์ จึงแทรกอยู่ภายในเมล็ดของอาปานัสติ และ สติปัฏฐาน๔ ประดุจดั่ง ผล ดอก ใบ ที่อยู่ในเมล็ดมะม่วง ฉันนั้น

ก่อนที่จะศึกษาในส่วนของโพชฌงค์ ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำว่า "ธรรมะ" เสียก่อน ความหมายของ "ธรรมะ" หมายถึง "ที่ตั้ง,ทรงไว้,คงสภาพไว้" ในที่นี้หมายถึง การระลึกรู้อารมณ์(สติ) ประกอบ นิมิต(เครื่องหมาย) มีปิติ(สัญญาณความพร้อม) เป็นตัวกำหนด มีลมหาใจ-เข้า-ออก-ระงับ ซึ่งเรียกว่า อาปานัส นำเข้าไปตั้งไว้=ฐานที่ตั้ง 

การตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ แห่งสภาวะอารมณ์ที่ระลึกนี้แหละ เรียกว่า "ธรรม" อันเป็นเครื่องนำไปสู่การตรัสรู้ (ไม่ใช่หัวข้อธรรมะ หรือ คำสั่งสอนอื่นใด ที่จะพอใจยกขึ้นมาพิจารณาเอาเองตามความชอบใจ ก็ได้ ดั่งที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง)

ในความหมายแห่งโพชฌงค์ ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ ต้องการเริ่มต้นจาก สร้างอุปนิสัย ให้เข้าถึงพุทธานุภาพ เป็นเบื้องต้น ซึ่ีงเราเรียกว่า "พุทธบูชา"

พุทธบูชา มี ๒ ประการ คือ

๑.    อามิสบูชา คือ ถวายดอกไม้ เครื่องบูชา
๒.    ปฏิบัติบูชา คือ ภาวนา ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ด้วยการถึงพร้อมในพุทธานุภาพด้วยกายวาจาใจ

ในการทำพุทธบูชา เป็นองค์ประกอบสำคัญของพุทธานุสติ อันเป็นบันไดขั้นต้นของพระอริยบุคคล(โสดาบัน)
คือ ถึงพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ (โอปกนศรัทธา) ในพุทธานุภาพ




               
- การปฏิบัติภาวนาฝึกใจ สร้างอัธยาศัยให้ระลึกรู้อารมณ์อันมี “พุทธานุภาพ” เป็นที่ตั้ง โดยตั้งอุปนิสัยกระทำอยู่เป็นนิจย์(อุปนิสย)  ด้วยการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เพื่อหมายระลึกรู้อารมณ์นั้นไว้ ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "สติสัมโพชฌงค์

- เมื่อวจีสังขาร(วาจา) ถึงพร้อมด้วย มโนสังขาร(ใจ) เป็นหนึ่งเดียว โดยมีคำกล่าวถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ผู้นั้นย่อมถึงพร้อมด้วย มหาจาคะ คือ ทานอันยิ่งใหญ่ = จาคานุสติ เกิด “ปิติ” ณ ขณะเวลาที่เปล่งวาจา+ใจ ถึงพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งหนึ่งเดียวอย่างไม่ลังเลสงสัย ย่อมเกิด “ปิติ” (อาการขนลุกชูชัน ฯลฯ) ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "ปิติสัมโพชฌงค์" 

   ปิติสัมโพชฌงค์นี้ เมื่อผู้ปฏิบัตินั้นสามารถระลึกรู้อารมณ์อันมีปิติแห่งพุทธานุภาพ อันเป็นต้นทางแห่งพระนิพพาน คือ การพ้นทุกจ์อันมีพระนิพพานเป็นที่สุด ลักษณะของ “ปิติ” นี้จึงเรียกว่า “ปิติสัมโพชฌงค์” นับเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง

- เมื่อตั้ง “ปิติ” นั้นไว้ที่ฐานนิยมะแห่งมหาภูตรูป พิจารณาความเป็นสมมุติ ความไม่เที่ยงแห่งสรรพสิ่ง ฝึกฝนสมมุติ เพื่อหลุดพ้นจากสมมุติ นั้น ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์"

- ผู้ปฏิบัติภาวนาย่อมต้องเพียรพิเศษ ที่จะต้องรักษา, เคลื่อน “ปิติ” พร้อมนิมิตไปยังนิยมะมหาภูตรูปต่าง ๆ หรือการเดินปะคำ แต่ละเม็ดให้พร้อมด้วยคำภาวนา ได้ดั่งปรารถนา เพื่อเข้าถึงความจริงแท้แห่ง “สภาพสมมุติ” เพื่อหลุดพ้นจาก “ความเป็นสมมุติ” ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "วิริยะสัมโพชฌงค์"

- สิ่งซึ่งทำให้เกิดความเพียรไม่ทอดทิ้ง(วิริยะสัมโภชฌงค์) นั่นคือ “ปิติ(ปิติสัมโภชฌงค์)” จะเป็นสัญญาณบอกเตือนความพร้อม ของทวิสังขาร(วาจา+ใจ) และ ไตรพิทย์สังขาร(กาย วาจา ใจ) ที่ถึงพร้อม เพราะปิติจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อมีการถึงพร้อมของ สังขาร หรือ อินทรี เท่านั้น (บางแห่งใช้คำว่า อินทรีย์เสมอกัน) ปิติ จึงเปรียบเสมือนเมล็ดให้เกิดการ สัมปยุตเป็นหนี่งเดียวของสังขาร(กายนอก+กายใน) อาการแห่งการสัมปยุตเป็นหนึ่งเดียวนี้(บางแห่งใช้อรรถว่า ความสงบกาย สงบจิต

เหตุที่เป็นดั่งนั้นก็เพราะ “ปิติ” เป็นเหตุใกล้แห่ง “ปัสสัทธิ” ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์"

- ลักษณะแห่งการบังคับให้ “ปิติ” สัมปยุตเป็นหนึ่งเดียวกับสังขารทั้ง ๓ (กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร) กับมหาภูตรูป ได้อย่างมั่นคงไม่ไหวหวั่น สั่นคลอน ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "สมาธิสัมโพชฌงค์"

- เมื่อสามารถสัมปยุตสังขาร กับมหาภูตรูป แม้สมมุติก็รู้ชัดว่าสมมุติ ก็มิได้ยึดติดในสมมุติได้แล้วนั้น ปล่อยวางสิ่งที่ได้ มุ่งเพียรปฏิบัติที่เหนือกว่านั้น เพื่อความรู้แจ้ง

โดยมีพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งต่อไป(บางอรรถว่า วางเฉยในธรรม คือ ไม่ยึดติดในที่ตั้งแห่งอารมณ์อันสำเร็จแล้วนั้น) ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "อุเปกขสัมโพชฌงค์"


จากที่ได้บรรยายมาแล้วข้างต้น สาธุชนทุกท่าน คงกระจ่างใจ และได้ทราบว่าที่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค มาโดยตลอดนั้นได้ผ่านขั้นตอน "องค์แห่งการตรัสรู้(โพชฌงค์) ไปพร้อมกัน

โดยส่วนใหญ่ต่างเข้าใจกันว่า การสวดโพชฌงค์สามารถรักษาโรคภัยได้ !? ...
ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะการเจ็บป่วยนั้น มาจากความไม่สมดุลย์ของมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม 

ดังนั้น การรักษาการเจ็บป่วย ก็คือ ปรับให้ธาตุทั้งหลาย สมดุลยภาพ เสมอกัน โรคภัยนั้นก็จะหายไป ร่างกายก็จะแข็งแรงเป็นปกติ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดวิธีปฏิบัติไว้ในสติปัฏฐาน ว่าด้วย กายานุปัสนา ภาคพิจารณากายโดย(มหาภูตรูป) นั่นคือการปรับธาตุ จึงสามารถรักษาโรคภัยต่าง ๆ ให้หายได้อย่างอัศจรรย์ เพราะเกิดจากอำนาจแห่งสมาธิพละ(สมาธิสัมโพชฌงค์) 

          แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ จึงไม่ทราบว่า อาปานัสติ สติปัฏฐาน และ โพชฌงค์ เป็นเรื่องเดียวกัน ดั่งได้อธิบายมาแล้ว จึงไขว้เขว จำมาผิด ๆ ถ่ายทอดผิด ๆ จากความคิดของตนว่า การสวดโพชฌงค์ทำให้หายโรคภัย ซึ่งสาธุชนทั้งหลายที่ได้ศึกษาข้อมูลนี้แล้วจะทราบอย่างชัดเจน

ในการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อเริ่มแต่การหาใจเข้า(อาปานัสติ) ใช้สติ(ระลึกรู้อารมณ์) นำไปตั้งไว้ที่ฐานธาตุต่าง ๆ เพื่อฝึกสมมุติ เข้าถึงธรรมชาติแห่งสมมุติ จนสามารถสมมุติสรรพสิ่งได้ตามปรารถนา นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า "อธิษฐาน" อันได้มาด้วย "บุญ"จากการปฏิบัติ

***** แต่กระนั้น สิ่งที่อธิษฐานก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะอยู่ภายใต้อำนาจแห่งธาตุทั้ง ๔ ย่อมแปรเปลี่ยนไป เมื่อเข้าใจถึงแก่นแท้แห่งสรรพสิ่ง ผู้ปฏิบัติแม้สามารถอธิษฐานได้ตามใจปรารถนา ก็ไม่ติดยึดในสิ่งอันเป็นสมมุติ ด้วยมิใช่ความสุขอันแท้จริง จึงมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ สุขอย่างถาวร อันหาอื่นใดเปรียบมิได้ คือ "พระนิพพาน" *****  ซึ่ง

  ปลายทางของการปฏิบัติ อยู่ที่พระนิพพาน โพชฌงค์คือจังหวัด เส้นทางที่ผ่าน ที่ท่านทั้งหลายได้ประกอบกุศลเจตนา เพียรปฏิบัติกันมานี้เอง




สมดั่งพุทธพจน์ที่ได้ยกไว้ ณ เบื้องต้น ว่า


      อาปานสฺสติ  ภิกขเว  ภาวิตา  พหุลีกตา :  จตฺตาโร  สติปฏฺฐาเน  ปริปุเรนติ
       จตฺตาโร สติปฏฺฐานา  ภาวิตา พหุลีกตา :  สตฺต สมฺโพชฺฌงฺเค  ปริปุเรนติ
       สตฺต สมฺโพชฺฌงฺคม  ภาวิตา  พหุลีกตา :  วิชา  วิมุตฺตึ  ปริปุเรนติ ฯ

    ภิกษุทั้งหลาย อาปานัสสติ อันบุคคลได้อบรมให้มากแล้ว  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยสติปัฏฐาน ๔  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยโพชฌงค์ ๗  ผู้นั้นย่อมได้ถึงซึ่งวิชา และ วิมุติอย่างบริบูรณ์ ฯ
                      (วิ. ๒/๘๕ : ม.อุปริ ๑๔/๑๙๓)

ขอความผาสุขสวัสดี ก้าวหน้าในธรรม จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ปฏิบัติชอบ ในพุทธวิถี สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ทุกท่านโดยทั่วกันเทอญ







สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS