ความตายยังพ่ายพุทธานุภาพ






เพราะความตาย เป็นสมมุติ สำหรับผู้ปฏิบัติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค










บอกเล่าประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติชอบ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ทำบุญอย่างไร ถึงจะได้สวย (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 29 ตุลาคม 2558)






ขอนอบน้อมแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เองด้วยเศียรเกล้า

ขอนอบน้อมในพระธรรม ของพระพุทธองค์ อันนำพ้นจากห้วงแห่งมหันตทุกข์

ขอนอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติชอบ สืบต่อพระพุทธศาสนา โดยพระธรรมวินัย


ขอความผาสุข สวัสดี มีโชคโภคทรัพย์ ความเจริญก้าวหน้า ในกิจการงาน และการปฏิบัติ จงบังเกิดแก่สาธุชนผู้มีจิตกุศลปฏิบัติชอบ ในพุทธวิถี สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรคทุกท่าน






ในวันนี้จะบรรยายในหัวข้อ "ทำบุญอย่างไร ให้สวย" ซึ่งจะบ่งออกเป็น 2ประเด็นหล้ก ๆ คือ


     1. ทำบุญอะไร จึงทำให้เกิดมารูปสวย รวยทรัพย์ ?

 และ

     2. เกิดมาแล้ว ทำบุญอย่างไร ถึงจะสวย รวยทันใจ ?


จะกล่าวถึงประเด็นแรกก่อน คือ เหตุที่ทำให้สตรีบางคนในโลกนี้เกิดมา รูปงาม ร่ำรวยและสูงศักดิ์ต่างกัน ก็จะนำข้อมูลอันปรากฏเป็นพุทธพจน์ ในพระไตรปิฏกมายืนยัน เพื่อป้องกันความไขว้เขว สับสน และเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้า สำหรับท่านสาธุชนผู้ใฝ่ในการศึกษา-ปฏิบัติสืบไป


๑.ทำไมสตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ทั้งยังยากจนและต่ำศักดิ์อีกด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคาม (สตรี) บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ ไม่เป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ยวดยาน ระเบียบ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ และ เป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือการไหว้ การบูชาของผู้อื่น กีดกันตัดรอนผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ทั้งเป็นคนยากจนขัดสนทรัพย์สมบัติและต่ำศักดิ์”
มหาวรรค จ. อํ. (๑๙๗)



๒. ทำไมไม่สวยแต่รวยและสูงศักดิ์

ปัญหา ทำไมสตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ แต่มีทรัพย์สมบัติมากและมีศักดิ์สูง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคาม (สตรี) บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด.... แต่เขาเป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ยวดยาน แก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจไม่ริษยาในลาภ สักการะ..... ของผู้อื่น ไม่กีดกันตัดรอน.... ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งมีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์สมบัติและสูงศักดิ์”
(มหาวรรค จ. อํ. (๑๙๗)


๓. ทำไมจึงสวยแต่ยากจนและต่ำศักดิ์

ปัญหา เพราะเหตุไร สตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปงาม แต่ยากจนขัดสน และต่ำศักดิ์ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคาม (สตรี) บางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าเล็กน้อยก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว แต่เขาเป็นผู้ไม่ให้ทานคือข้าว น้ำ ผ้า..... แก่สมณะหรือพราหมณ์
และเป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ..... ของผู้อื่น ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้..... ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม..... แต่เป็นคนยากจนขัดสนและต่ำศักดิ์”
(มหาวรรค จ. อํ. (๑๙๗)


๔. ทำไมจึงสวย รวยทรัพย์ สูงศักดิ์

ปัญหา เพราะเหตุไร สตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปงาม บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ และสูงศักดิ์อีกด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคาม (สตรี) บางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง... เป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม..... แก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้ไม่มีใจริษยาในลาภ สักการะ..... ของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน...
ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนั้น..... กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม..... ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณดียิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์ฯ”
(มหาวรรค จ. อํ. (๑๙๗)



ที่บรรยายมานั้น เป็นส่วนของ "กุศล=ผลของบุญ ในชาติก่อนที่ทำไว้ และส่งผลมาถึงในชาตินี้
ในวันพรุ่งนี้ จะมาต่อกันในประเด็นที่ 2 คือ
ทำบุญอย่างไร ให้สวยทันที



ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกป้องผองภัย และดลบันดาลให้ ทุกท่านสมปรารถนาในสิ่งอันเป็นกุศลเทอญ













สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

วันมหาวัน

เฉพาะข้างขึ้น

ศุกร์สิบเสาร์สิบห้า                 มหาวัน
(ศุกร์ 10 ค่ำ เสาร์ 15 ค่ำ)

สิบสี่สุริยฉัน                          โชคใช้
(อาทิตย์ 14 ค่ำ)

พุธสี่สิบสองจัน                      ครูเจ็ด
(พุธ 4 ค่ำ จันทร์ 12 ค่ำ พฤหัส 7 ค่ำ)

วันวานอย่างนี้ได้        โชคล้ำ ดีเหลือ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

พระพุทธเจ้าปราบมาร

เนื่องจากเราใช้บทเพลงนี้ฝึก วาจาใจพร้อม แล้วรู้สึกได้ว่าพร้อมหรือไม่พร้อม จึงอยากแบ่งปัน

และที่สำคัญเราจะเห็นภาพที่พระอาจารย์ได้ผ่านมารทั้งหลายมาเยี่ยงในบทเพลงนี้มาแล้วเช่นกัน

สาธุค่ะ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

เคล็ดลับของการทำบุญ ทำบุญอย่างไรจึงจะได้รับผลทันที (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 13 ตุลาคม 2558)

ขอความผาสุข สวัสดี จงมีแด่สาธุชนทุกท่าน ต่อไปนี้จักได้บรรยาย สาระธรรม อันเป็นอรรถประโยชน์แด่ทุกท่าน สืบไป





ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
ขอนอบน้อมแด่พระธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระอริยสงฆ์ผู้ดำรงพระธรรมวินัย สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้


วันนี้จะได้กล่าวถึง "เคล็ดลับของการทำบุญ" ว่า "ทำบุญอย่างไร จึงจะได้รับผลทันที"

ที่ต้องนำเรื่องนี้มากล่าวก็เพราะว่า สาธุชนส่วนใหญ่ที่มีจิดใจประกอบด้วยกุศลศรัทธาในยุคปัจจุบันนี้ มักชอบในการ "ทำบุญ" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี


....แต่ว่า มักไม่ค่อยได้ตระหนัก หรือ รู้ลึกไปถึงความเป็นจริงว่า "ที่ได้ตั้งใจทำบุญ" ไปนั้น จะได้รับผลเมื่อไร เพราะต่างก็เชื่อตามๆ กันว่า ที่ทำบุญไป คงจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ ในขณะนี้(ชาตินี้) ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตามความเป็นจริง แล้วนั้น ขอบอกว่า "ไม่ใช่ !!"

ที่บอกว่าไม่ใช่ ก็เพราะว่า การทำบุญที่จะให้ผลทันที ในชาตินี้ ภพนี้นั้น มีวิธีทำบุญเฉพาะ ซึ่งต้องทำให้ถูกวิธี ถึงจะได้รับผลบุญในทันทีชาตินี้เลย จะเรียกว่าเป็น "เคล็ดลับในการทำบุญ" ก็ได้  และนี่แหละที่เราจะมากล่าวถึงกันในวันนี้


ก่อนอื่นต้องรู้กันก่อนว่าความหมายของคำว่า "บุญ" จริง ๆ ในพระพุทธศาสนาให้ผลอย่างไร  และชนิดไหน จึงเรียกว่า "บุญ" เอาที่แน่ ๆ ก็ต้องยกพระบาลีที่มีมาในพระไตรปิฏกมายืนยัน เพื่อไม่ให้เป็นข้อสงสัย ขัดแย้งในภายภาคหน้า การให้ผลของบุญ ที่ส่งผลให้สมปรารถนานั้นมีพระบาลี ดังนี้


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ

เอสเทวมนุสานํ  สพฺพกามโท  นิธิ
ยํ  ยํ  เทวาภิปตฺเถนฺติ  สพฺพเมเตน  ลพฺพติ
สุวณฺณตา  สุสรตา   สุสณฺฐานํ  สรูปตา
อธิปปจฺจํ   ปริวาโร   สพฺพเมเตน  ลพฺภติ ฯ

บุญนิธินั้น ย่อมอำนวยผลที่ปรารถนาทุกอย่าง แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่ปรารถนาในอิฐผลใด อิฐผลนั้นย่อมสำเร็จได้ด้วยบุญนิธินี้

ความมีวรรณะงาม
ความมีเสียงไพเราะ
ความยิ่งใหญ่ 
ความมีผู้ใช้สรอย 

อิฐผลทั้งหมดที่ปรารถนานั้น ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ฯ



ตามพระบาลีที่ยกขึ้นมาเบื้องต้นนั้น ก็เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า

         ๑. บุญมีที่เก็บ ที่สะสมบุญอยู่จริง (ที่สอนว่าบุญเบิกได้เหมือนธนาคาร ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย หรือคิดขึ้นมาเอง)

         ๒. "บุญทำให้เราได้สมปรารถนา ที่อธิษฐานได้จริง"


แต่ที่สำคัญคือ บุญที่เราทำนั้น จะให้ผลสมปรารถนาเมื่อไร นี่ซิเรื่องสำคัญ เป็นประเด็นหลักของการบรรยายวันนี้ ซึ่งการที่บุญจะให้ผลสมปรารถนาในทันที หรือ ในชาติปัจจุบันนี้(ไม่ต้องรอตายก่อน แล้วค่อยไปรับชาติหน้า) นั้นขึ้นอยู่กับเคล็ดลับใหญ่ ๆ คือ


๑. เนื้อนาบุญ คือ บุคคลที่เราทำบุญด้วย เหมือนปลูกข้าวในนา ย่อมได้รวงข้าว ต่างกับปลูกข้าวบนแผ่นสังกะสีมีแต่เสียเมล็ดพันธุ์ข้าวจึงมีพระบาลีเตือนไว้ว่า

 " ปูชา จ  ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ บูชา(ทำบุญ) กับผู้ที่ควรบูชา จึงจะประสบสิ่งเป็นมงคลกับชีวิต

๒. การทำบุญต้องทำโดยไม่ต้องมีใครชวน(สสงฺขาริกฺ) คือมีกุศลเจตนาอยากทำบุญ ก็ทำเลย แต่ต้องอธิษฐานด้วย กาย วาจา ใจ ที่ถึงพร้อมในขณะจิตแรก(ผู้ที่ฝึกสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จะทำได้ทุกท่าน)


การทำบุญนั้นจะได้ผลในทันที จะต้องกระทำด้วยการถึงพร้อมด้วย กุศลเจตนาในวาระจิตดวงที่ ๑ ซึ่งเรียกว่า

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรม(การกระทำ)ที่ให้ผลในปัจจุบัน คือให้ผลในภพชาตินี้ เป็นกรรมที่ให้ผลรวดเร็วเป็นปัจจุบันทันด่วน ไม่ต้องรอรับผลในชาติหน้าหรือชาติไหน ๆ คือให้ผลทันทีทันตาเห็น

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้น เกิดจากเจตนาที่ประกอบอยู่ในปฐมชวนจิตดวงที่ 1 ดังมีพระบาลี ว่า

ทิฏฺฐธมฺมเวทนียํ ปฐมํ ชวนํ ภเว

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้น ได้แก่ เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนจิตดวงที่ 1

ชวนจิตมี ๗ ขณะ เจตนาในชวนจิตดวงที่ ๑ เมื่อให้ผลเป็นทิฏฐธัมมเวทนีย กรรม คือ ให้ผลในปัจจุบันชาตินั้นเอง
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมมี 2 ประเภทที่ให้ผลในชาตินี้มีชื่อเฉพาะว่า

ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่บันดาลให้ได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้ทันที เพราะกรรมประเภทนี้มีกำลังในการให้ผลมาก จึงสามารถที่จะบันดาลให้บุคคลที่กระทำกุศลกรรมได้รับผลภายใน 7 วันอย่างแน่นอน


ข้อสำคัญผู้ที่ได้ทำบุญด้วยทิฏฐธรรมเวทนียกรรม จะต้องประกอบด้วยสมบัติประการ จึงจะได้รับผลทันที

สมบัติ 4 ประการ คือ

1.คติสมบัติ การได้เกิดในสุคติภูมิ
2.อุปธิสมบัติ ผู้ที่เกิดมามีร่างกายที่ ไม่พิกลพิการ
3.กาลสมบัติ การได้เกิดในยุคสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข พระราชาเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้คุณค่าพระพุทธศาสนา
4.ปโยคสมบัติ เพียรปฏิบัติในหนทางอันชอบ
เมื่อท่านสาธุชนได้หันมองกลับดูตัวตนของตนเอง แล้วพิจารณาดูจะเห็นได้ว่า ทุกท่านล้วนเป็น "ผู้ที่กำเนิดมาชนิดเป็นมหาบรมโชค มีสมบัติประการ ครบสมบูรณ์"  ตามคุณสมบัติ คือ

      ๑. มีสุคติสมบัติ คือ เกิดมนุษยภูมิ ไม่ได้เกิดในภูมินรก เปรต อสุรกาย
      ๒. มีอุปธิสมบัติ คือ เกิดมาร่างกายสมประกอบไม่พิกลพิการ
      ๓. มีกาลสมบัติ คือ คือ การได้เกิดในแผ่นดิน(ไทย) อันร่มเย็นเป็นสุข มีพระราชาเป็นสัมมาทิษฐิ รู้คุณค่าพระพุทธศาสนา (ตรงนี้สำคัญและได้กล่าวแทบทุกครั้งในการบรรยาย ว่าท่านสาธุชนทั้งหลายควรที่จะภาคภูมิใจ ในการที่เกิดมาเป็นชนชาติไทย อันเป็นแผ่นดินที่มีพืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ เป็นพุทธศาสนูปถัมภก(อุปถัมพระพุทธศาสนา=รู้คุณค่าพระพุทธศาสนา.... ประเทศอื่นแม้มีกษัตริย์ หรือผู้นำ ที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ก็ทำบุญไม่ขึ้น แม้ประชาชนในประเทศนั้น ๆ จะนับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม..น่าสงสารชนพวกนั้นทำบุญอย่างไร ก็ต้องไปรับชาติหน้า ๆๆๆๆ จนกว่าจะสิ้นวัฏฏะสงสาร ไม่รู้ว่าชาติไหน ที่แน่ ๆ ชาตินี้ยังไงก็ไม่ได้ผลบุญที่ทำ)
       ๔. มีปโยคสมบัติ คือ ได้มาพบ และเพียรปฏิบัติในหนทางอันชอบ ซึ่งก็คือการปฏิบัติภาวนาตามพุทธวิถี สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค (หนทางนี้ทางเดียว ไม่ใช่ทางอื่น...เอกมคฺโค..)



ตอนนี้คงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมสาธุชน ที่ได้เข้ามาศึกษาปฏิบัติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค แม้เพียงน้อยนิด เริ่มต้น ก็ได้รับสิ่งอันเป็นมงคลอยู่เสมอ ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ก็ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมดนั้น


ที่ได้นำมาบรรยายนี้ ก็เพื่อให้สาธุชนทั้งหลาย ได้เข้าใจ และเข้าถึง "เคล็ดลับของการทำบุญ ให้ได้ผลทันที" และขจัดข้อสงสัยกับหลายท่านว่า เหตุใดจึงไม่แจกซอง หรือประกาศเรี่ยไร บอกบุญ เหมือนกับทุกแห่ง ทุกสำนักเขาทำกัน
ทั้งนี้ก็เพราะว่า "เรา" มีกุศลเจตนาที่จะให้สาธุชนทุกท่าน "ได้รับผลบุญในทันที" โดยให้ท่านได้ทำบุญด้วย จิตดวงแรก อันเป็น "ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม" ซึ่งจะแสดงผลในทันที ในภพชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า...


ฉะนั้น สาธุชนที่มีกุศลเจตนา ประกอบศรัทธา จะทำบุญในครั้งต่อ ๆ และต้องการให้ได้รับผลในชาตินี้ ชนิดทันตาเห็น ก็ต้องฝึกถึงพร้อมในจิตดวงที่ ๑ ตามที่แสดงมานั้น ทุก ๆ ครั้งที่ทำบุญ

ด้วยผลานิสงค์แห่งกุศล ใน "บุญ" อันท่านทั้งหลายได้กระทำถึงพร้อมแล้วนั้น ขอความผาสุข สวัสดี มีโชคชัย ประสบแต่สิ่งอันเป็นมงคล ปรารถนาผลใดอันประเสริฐเลิศแล้วที่ใจอธิษฐาน จงสำเร็จทุกประการ ทุกท่านเทอญ ฯ
    เจริญพร








สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ


สารบัญ หัวข้อหลักที่ควรทราบ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

เส้นทางการเดินทางไป ณ วัดสุวรรณโคมคำ(ห้วยโผ) อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน


วัดสุวรรณโคมคำ (ห้วยโผ)
ต.แม่ยวม  อ. แม่สะเรียง 
 จ. แม่ฮ่องสอน





การเดินทาง

จาก กทม  โดยรถยนต์ส่วนตัว


เส้นตาก - แม่ระมาด - แม่สะเรียง 

เส้นนี้ไม่แนะนำ เพราะว่าเป็นทางเลียบชายแดนตลอด ค่อนข้างเปลี่ยว ทางไม่ค่อยดีเท่าไหร่




เส้นกรุงเทพเส้นหลักๆที่ไปแม่สะเรียงมี2เส้น
คือ 

นครสวรรค์-ตาก-เถิน-ลี้-ฮอด-แม่สะเรียง
  เส้นนี้โค้งมาก  ใช้เวลามาก  รถทัวร์วิ่งเส้นนี้  

และ   

นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-เชียงใหม่-จอมทอง-ฮอด-แม่สะเรียง        เส้นนี้เร็วสุดและเจอโค้งน้อยสุด



หมายเหตุ: เส้นทางเป็นเขาชันประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร คนขับไม่ชินทางควรขับด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท หากไปหลายท่าน  เช่ารถตู้จาก กทม ไปจะสะดวกกว่า




เดินทางโดยเครื่องบิน ต่อด้วย รถยนต์




จาก กทม โดยเครื่องบิน 

กทม - เชียงใหม่

ต่อด้วยรถยนต์(เช่า)

เชียงใหม่ - หางดง - จอมทอง - สันป่าตอง  - ฮอด - แม่สะเรียง


***********************************

เส้นทางจากสนามบินเชียงใหม่ - แม่สะเรียง 













ที่พักในแม่สะเรียง


เนื่องจากที่วัดยังไม่มีที่ให้พำนัก ต้องจองโรงแรมในแม่สะเรียง แต่หากนำเต้นท์มาเอง สามารถกางนอนได้ มีห้องน้ำหลายห้องไว้บริการ





รายชื่อโรงแรมในตัวอำเภอแม่สะเรียง







จากที่พักในตัวอำเภอแม่สะเรียงไปวัดสุวรรณโคมคำ

ไปได้สองเส้นทาง

1. ตัดเข้าตัวเมืองแม่สะเรียง 
(เส้นทางหมายเลข 1194)

2. ไปเส้นรอบนอกแล้วตัดเข้าเส้นทางเชื่อม
(เส้นทางหมายเลข 105)




แผนที่ตำแหน่ง วัดสุวรรณโคมคำ











  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

นิมิต สำคัญอย่างไร ? (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 7 ตุลาคม 2558)




ขอนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้ นำมวลสรรพสัตว์ก้าวพ้นทุกข์ไปสู่พระนิพพาน
ขอนอบน้อมแด่พระธรรมอันนำทางไปสู่การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น
ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์สาวกแห่งพระพุทธองค์ ผู้ดำรงค์สืบทอดพระธรรมวินัย
ไว้ตราบเท่าทุกวันนี้

ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีืืแด่สาธุชน ผู้ปฏิบัติชอบในพุทธวิถี สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค

จากประสบการณ์ของพุทธศาสนิกชน ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสำนักปฏิบัติต่าง ๆ มานับร้อย  คงจะได้รับทราบการถ่ายทอดที่คล้ายคลึงกันว่า "อย่ายึดติดในนิมิต ให้ปล่อยวาง" โดยสำนักต่าง ๆ เหล่านั้นอ้างว่า  "นิมิต เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ ...หากไปยึดติด(ระลึกรู้) จะทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า  ไม่สำเร็จ ... คำถามคือ ต้องทิ้งนิมิต และนิมิตเป็นอุปสรรรของการปฏิบัติ จริงหรือ ?


คำตอบคือ  ไม่จริง ! ... เพราะการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน(เช่นหนี้สิน โรคภัย...) ไปสู่ความสุขสูงสุดอันหาใดเปรียบมิได้คือ "พระนิพพาน ย่อมต้องอาศัย  นิมิต เป็นเครื่องนำทาง... ถึงฝั่งพระนิพพานเมื่อไร จึงจะทิ้งนิมิตได้เมื่อนั้น"


"นิมิต" แปลว่า "เครื่องหมาย" ในทางปฏิบัติหมายถึงเครื่องช่วยให้ระลึกรู้ มีอยู่ ๓ ลักษณะใหญ่คือ ลมหาใจเข้า ออก, ภาพ, เสียง ที่จะนำมาใช้เป็นอุปการะประกอบการปฎิบัติภาวนา โดยการภาวนานั้นก็จะเริ่มตั้งแต่ขั้นต้นระดับอุปจาระสมาธิ(ใช้กายนอก=ปัญจทวารวิถี) ไปจนถึงขั้นสูงระดับอัปปนาสมาธิ(ใช้กายใน=มโนทวารวิถี) ซึ่งจะต้องใช้ "สติ(ธรรมชาติระลึกรู้อารมณ์ อันประกอบด้วยนิมิต)" เป็นตัวควบคุมจนกว่าจะสำเร็จขั้นสูงสุดคือเป็น "อรหันต์" จึงจะทิ้งนิมิตที่กล่าวมานั้นได้





สาธุชนที่ได้ปฏิบัติตามพุทธวิถีสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค (อันเป็นหนทางปฏิบัติสายเดียว ไม่มีทางอื่น...เอกมคฺโค) ย่อมต้องเริ่มต้นด้วยอาปานัสติ(ลมหาใจ)+อุคหโกศล(วจสา การใช้เสียงเป็นนิมิต)คือ วจีสังขาร เพื่อเชื่อมมโนสังขาร กับกายสังขาร ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยยกวจสา(เสียง)ขึ้นสู่วิถีเป็นตัวระลึกรู้(สติ)ในอาปานัสสติ(ลมหาใจ) กำหนดให้เสียงของกายสังขาร(ปาก)กับเสียงของใจ(มโนสังขาร)ให้พร้อมกัน เสียงและลมหาใจนั้นเป็น "นิมิต" การยกขึ้นสู่วิถีของใจเรียกว่า "มนสิการ"





เมื่อเสียงของวจีสังขารกับเสียงมโนสังขารพร้อมกัน จะเกิดสัญญาณให้ผู้ปฏิบัติได้รับรู้อย่างชัดเจน เพื่อเป็น "นิมิต(เครื่องหมาย)" ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติสูงขึ้นไปอีก นิมิตที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า "ปิติ" เป็นลักษณะแห่งการถึงพร้อมของวาจาและใจ จากนั้นจึงกำหนดจดจำระลึกรู้อารมณ์ที่เกิดปิตินี้ นำไปทำ "พุทธบูชา มหาจาคะ(ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา" อันเป็นบันไดขั้นต้นของพระอริยบุุคคลชั้นโสดาบัน คือ ถึงพร้อมด้วยกายวาจาใจ อย่างจริงแท้หนึ่งเดียว ในพุทธานุภาพ(โอปกนสัทธา)
    ณ ขณะวาจา ใจ ถึงพร้อม นี้จะเกิดสภาวะอันเรียกว่า "อธิจิต" ที่มีอำนาจเหนือจิตของปุถุชนผู้ไม่ได้ปฏิบัติในพุทธวิถีสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค





เพื่อเสริมความสมบูรณ์ สำหรับสาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลปฏิบัติ จะค้นคว้าหารายละเอียด ในส่วนที่จำเป็นของการใช้ "มนสิการนิมิต อธิจิต" จึงขอยกข้อความในพระไตรปิฏกมาไว้เพื่อสะดวกในการสืบค้นต่อไป

   (พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓)
[๕๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ควรมนสิการ นิมิต ๓ ตามกาลอันควร คือ

มนสิการสมาธินิมิต (ข่มใจให้ตั้งมั่นอยู่ใน อารมณ์เดียว) ตามกาลอันควร

มนสิการปัคคาหนิมิต (ทำความเพียรยกจิตให้อาจหาญแช่มชื่นขึ้น) ตามกาลอันควร

มนสิการอุเบกขานิมิต (เพ่งดูเฉยอยู่ไม่ข่มไม่ยก เมื่อจิตสงบเรียบร้อยแล้ว) ตามกาลอันควร

    ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตจะพึงมนสิการแต่สมาธินิมิตส่วนเดียวไซร้ เป็นฐานะอยู่ ที่จิตจะพึงเป็นไปทางโกสัชชะ (ความเกียจคร้านความซึมเซื่อง) ถ้าจะพึงมนสิการแต่ปัคคาหนิมิตส่วนเดียวเล่า ก็เป็นฐานะอยู่ ที่จิตจะเป็นไปทางอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)

ถ้าจะพึงมนสิการแต่อุเบกขานิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ก็เป็นฐานะอยู่ ที่จิตจะไม่พึงตั้งมั่นเพื่อความสิ้นอาสวะ

    เมื่อใด ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต มนสิการสมาธินิมิตตามกาลอันควร มนสิการปัคคาหนิมิตตามกาลอันควร มนสิการอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร เมื่อนั้นจิตนั้นจึงจะเป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน เป็นจิตผุดผ่อง และมั่นแน่วแน่เป็นอย่างดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

   เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทอง เตรียมเบ้าติดไฟ เกลี่ยถ่านเอาคีมจับทองวางบนถ่านแล้ว สูบไปตามกาลอันควร พรมน้ำตามกาลอันควร(หยุดสูบและพรหมน้ำ) เพ่งพิจารณาดู (ว่าสุกหรือยัง) ตามกาลอันควร

ถ้าช่างทองหรือลูกมือสูบเผาทองไปส่วนเดียว ก็เป็นได้อยู่ ที่ทองนั้นจะพึงแก่ไฟ ถ้าพรมน้ำไปอย่างเดียว ก็เป็นได้อยู่ ที่ทองนั้นจะพึงอ่อนไฟ ถ้าหยุดเพ่งพิจารณาดูอยู่อย่างเดียว ก็เป็นได้อยู่ ที่ทองนั้นจะไม่สุกดี เมื่อใด ช่างทองหรือลูกมือสูบเผาทองไปตามกาลอันควร พรมน้ำตามกาลอันควร หยุดเพ่งพิจารณาดูตามกาลอันควร เมื่อนั้น ทองนั้นจึงจะอ่อน ควรแต่งได้ สีสุกและไม่แตก ใช้การได้ดี จะประสงค์ทำเป็นเครื่องประดับชนิดใด ๆ เช่น เข็มขัด ตุ้มหู สร้อยคอ สังวาล ก็ได้ตามต้องการ ฉันใดฉันนั้นแหละ


ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ควรมนสิการนิมิต ๓ ตามกาลอันควร คือ มนสิการสมาธินิมิตตามกำลังอันควร มนสิการปัคคาหนิมิตตามกาลอันควร มนสิการอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตจะพึงมนสิการแต่สมาธินิมิตส่วนเดียวไซร้ เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะเป็นไปทางโกสัชชะ.

ถ้าจะพึงมนสิการแต่ปัคคาหนิมิตส่วนเดียวเล่าก็เป็นฐานะอยู่ ที่จิตจะเป็นไปทางอุทธัจจะ ถ้าจะพึงมนสิการ แต่อุเบกขานิมิต โดยส่วนเดียวไซร้ ก็เป็นฐานะอยู่ ที่จิตจะไม่พึงแน่วแน่เป็นอย่างดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

เมื่อใด ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต มนสิการสมาธินิมิต ตามกาลอันควร
เมื่อนั้น จิตนั้นจึงเป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน เป็นจิตผุดผ่องและมั่น แน่วแน่เป็นอย่างดีเพื่อความสิ้นอาสวะ
เธอน้อมจิต (อย่างนั้น) ไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งอภิญญา สัจฉิกรณียธรรมใด ๆ ในเมื่อความพยายามมีอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้อาจทำให้ประจักษ์ได้ในอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมนั้น ๆ (คือ)


- ถ้าเธอจึงอธิษฐานจำนงค์ว่า ขอเราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างต่างวิธี (อธิษฐานสมมุติสิ่งต่างๆ ด้วยการกำนดมหาภูตรูปทั้ง ๔  ให้เป็นไปดั่งปารถนา เพื่อเข้าถึงความจริงว่า "สิ่งทั้งหลาย ล้วนเป็นสมมุติ)


-   อรรถกถาสมุคคตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสมุคคตสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้ :-
อธิจิต ได้แก่จิตในอุปจารแห่งสมถะ นั่นแล.

บทว่า ตีณิ นิมิตฺตานิ ได้แก่ เหตุ ๓.
บทว่า กาเลน กาลํ ได้แก่ ในกาลอันสมควร

อธิบายว่า ตลอดกาลอันเหมาะสม. ในบทว่า กาเลน กาลํ สมาธินิมิตฺตํ มนสิกาตพฺพํ เป็นต้น มีอธิบายว่า ภิกษุพึงกำหนดกาลนั้น ๆ แล้ว มนสิการถึงเอกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เดียวเป็นเลิศ) ในเวลาที่จิตประกอบด้วย เอกัคคตา.



ด้วยพลานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ขอความเจริญ สุขสำราญ เบิกบานในธรรม จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ทุกท่านทั่วกันเทอญ




ทำไมจึงต้องอาศัยนิมิต






สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ


สารบัญ หัวข้อหลักที่ควรทราบ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 5 ตุลาคม 2558)



   ขอนอบน้อมแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายข้ามพ้นโอฆสงสารแห่งทุกข์

   ขอนอบน้อมแต่พระสัทธรรม ขององค์พระสัมมาสัมพุทธ อันเป็นคำสั่งสอนแนวทางสู่การพ้นทุกข์ อันมีพระนิพพานเป็นที่สุด

   ขอนอบน้อมแก่พระสงฆ์ ผู้ดำรงสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้


บัดนี้จักได้บรรยายธรรม เฉพาะสำหรับสาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติชอบในพุทธวิถีสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค สืบไป





"ความเป็นหนึ่งเดียวกันของการปฏิบัติภาวนา ดุจสายโซ่ที่ไร้ปลาย"

ด้วยพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฏก ว่า...

      อาปานสฺสติ  ภิกขเว  ภาวิตา  พหุลีกตา :  จตฺตาโร  สติปฏฺฐาเน  ปริปุเรนติ
       จตฺตาโร สติปฏฺฐานา  ภาวิตา พหุลีกตา :  สตฺต สมฺโพชฺฌงฺเค  ปริปุเรนติ
       สตฺต สมฺโพชฺฌงฺคม  ภาวิตา  พหุลีกตา :  วิชา  วิมุตฺตึ  ปริปุเรนติ ฯ

    ภิกษุทั้งหลาย อาปานัสสติ อันบุคคลได้อบรมให้มากแล้ว  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยสติปัฏฐาน ๔  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยโพชฌงค์ ๗  ผู้นั้นย่อมได้ถึงซึ่งวิชา และ วิมุติอย่างบริบูรณ์ ฯ
                      (วิ. ๒/๘๕ : ม.อุปริ ๑๔/๑๙๓)

นั่นหมายถึงว่า เมื่อปฏิบัติอาปานสติ ก็ย่อมเสริมสติปัฏฐาน เมื่อปฏิบัติสติปัฏฐาน ย่อมเสริมโพชฌงค์. เป็นผลต่อเนื่องกัน
ดุจดั่งว่าเรานั่งรถไปเชียงใหม่(ไปสู่การพ้นทุกข์คือพระนิพพาน)  ย่อมผ่านจังหวัดต่างๆ จึงจะถึงเชียงใหม่ได้ฉันนั้น
ความต่างคือเราจะจำเครื่องหมาย หรือตำแหน่งจังหวัดที่ผ่านไปนั้นได้หรือไม่

หรือเปรียบให้ง่ายขึ้นไปอีก เหมือนการรับประทานอาหาร ย่อมก่อให้เกิดความเจริญเติบโตของร่างกายไปโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ ไม่ใช่เติบโตเฉพาะส่วน



ที่นำมาบรรยาย ก็เพื่อให้สาธุชนได้ภาคภูมิใจ ในการปฏิบัติ ว่า ได้เดินถูกทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทุกประการ ไม่ไขว้เขว เป็นทางตรงสู่พระนิพพาน เพียงเส้นทางนี้ทางเดียว ไม่มีทางสายอื่น...เอก  มคฺโค..


ที่เราปฏิบัติกันมา สาธุชนหลายท่านคงไม่ทราบว่า ท่านได้ปฏิบัติผ่านขั้นตอนของ"โพชฌงค์"(องค์แห่งการตรัสรู้) บางส่วนแล้ว   เหมือนกับรถที่วิ่งผ่านจังหวัดต่าง ๆ ระหว่างทาง ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้น

ในครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ โพชฌงค์


โพชฌงค์ คืออะไร?

- โพชฌะ แปลว่า การตรัสรู้    
   อังค แปลว่า องค์

โพชฌะ กับ อังค บวกกันเป็นโพชฌงค์ แปลว่า ธรรมะเป็นองค์ตรัสรู้ หรือ ธรรมะเป็นตัวปัญญาตรัสรู้ มี ๗ ประการ  
จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติอาปานัสติ และสติปัฏฐาน๔ เท่านั้น เปรียบดั่งต้นมะม่วง ย่อมออกช่อ ออกลูกเป็นมะม่วง ไม่แปลเปลี่ยนเป็นมะพร้าว โพชฌงค์ เปรียบเสมือนช่อมะม่วง ที่จะเจริญเป็นผลมะม่วง 


ขั้นตอนของการปฏิบัติโพชฌงค์ จึงแทรกอยู่ภายในเมล็ดของอาปานัสติ และ สติปัฏฐาน๔ ประดุจดั่ง ผล ดอก ใบ ที่อยู่ในเมล็ดมะม่วง ฉันนั้น

ก่อนที่จะศึกษาในส่วนของโพชฌงค์ ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำว่า "ธรรมะ" เสียก่อน ความหมายของ "ธรรมะ" หมายถึง "ที่ตั้ง,ทรงไว้,คงสภาพไว้" ในที่นี้หมายถึง การระลึกรู้อารมณ์(สติ) ประกอบ นิมิต(เครื่องหมาย) มีปิติ(สัญญาณความพร้อม) เป็นตัวกำหนด มีลมหาใจ-เข้า-ออก-ระงับ ซึ่งเรียกว่า อาปานัส นำเข้าไปตั้งไว้=ฐานที่ตั้ง 

การตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ แห่งสภาวะอารมณ์ที่ระลึกนี้แหละ เรียกว่า "ธรรม" อันเป็นเครื่องนำไปสู่การตรัสรู้ (ไม่ใช่หัวข้อธรรมะ หรือ คำสั่งสอนอื่นใด ที่จะพอใจยกขึ้นมาพิจารณาเอาเองตามความชอบใจ ก็ได้ ดั่งที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง)

ในความหมายแห่งโพชฌงค์ ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ ต้องการเริ่มต้นจาก สร้างอุปนิสัย ให้เข้าถึงพุทธานุภาพ เป็นเบื้องต้น ซึ่ีงเราเรียกว่า "พุทธบูชา"

พุทธบูชา มี ๒ ประการ คือ

๑.    อามิสบูชา คือ ถวายดอกไม้ เครื่องบูชา
๒.    ปฏิบัติบูชา คือ ภาวนา ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ด้วยการถึงพร้อมในพุทธานุภาพด้วยกายวาจาใจ

ในการทำพุทธบูชา เป็นองค์ประกอบสำคัญของพุทธานุสติ อันเป็นบันไดขั้นต้นของพระอริยบุคคล(โสดาบัน)
คือ ถึงพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ (โอปกนศรัทธา) ในพุทธานุภาพ




               
- การปฏิบัติภาวนาฝึกใจ สร้างอัธยาศัยให้ระลึกรู้อารมณ์อันมี “พุทธานุภาพ” เป็นที่ตั้ง โดยตั้งอุปนิสัยกระทำอยู่เป็นนิจย์(อุปนิสย)  ด้วยการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เพื่อหมายระลึกรู้อารมณ์นั้นไว้ ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "สติสัมโพชฌงค์

- เมื่อวจีสังขาร(วาจา) ถึงพร้อมด้วย มโนสังขาร(ใจ) เป็นหนึ่งเดียว โดยมีคำกล่าวถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ผู้นั้นย่อมถึงพร้อมด้วย มหาจาคะ คือ ทานอันยิ่งใหญ่ = จาคานุสติ เกิด “ปิติ” ณ ขณะเวลาที่เปล่งวาจา+ใจ ถึงพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งหนึ่งเดียวอย่างไม่ลังเลสงสัย ย่อมเกิด “ปิติ” (อาการขนลุกชูชัน ฯลฯ) ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "ปิติสัมโพชฌงค์" 

   ปิติสัมโพชฌงค์นี้ เมื่อผู้ปฏิบัตินั้นสามารถระลึกรู้อารมณ์อันมีปิติแห่งพุทธานุภาพ อันเป็นต้นทางแห่งพระนิพพาน คือ การพ้นทุกจ์อันมีพระนิพพานเป็นที่สุด ลักษณะของ “ปิติ” นี้จึงเรียกว่า “ปิติสัมโพชฌงค์” นับเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง

- เมื่อตั้ง “ปิติ” นั้นไว้ที่ฐานนิยมะแห่งมหาภูตรูป พิจารณาความเป็นสมมุติ ความไม่เที่ยงแห่งสรรพสิ่ง ฝึกฝนสมมุติ เพื่อหลุดพ้นจากสมมุติ นั้น ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์"

- ผู้ปฏิบัติภาวนาย่อมต้องเพียรพิเศษ ที่จะต้องรักษา, เคลื่อน “ปิติ” พร้อมนิมิตไปยังนิยมะมหาภูตรูปต่าง ๆ หรือการเดินปะคำ แต่ละเม็ดให้พร้อมด้วยคำภาวนา ได้ดั่งปรารถนา เพื่อเข้าถึงความจริงแท้แห่ง “สภาพสมมุติ” เพื่อหลุดพ้นจาก “ความเป็นสมมุติ” ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "วิริยะสัมโพชฌงค์"

- สิ่งซึ่งทำให้เกิดความเพียรไม่ทอดทิ้ง(วิริยะสัมโภชฌงค์) นั่นคือ “ปิติ(ปิติสัมโภชฌงค์)” จะเป็นสัญญาณบอกเตือนความพร้อม ของทวิสังขาร(วาจา+ใจ) และ ไตรพิทย์สังขาร(กาย วาจา ใจ) ที่ถึงพร้อม เพราะปิติจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อมีการถึงพร้อมของ สังขาร หรือ อินทรี เท่านั้น (บางแห่งใช้คำว่า อินทรีย์เสมอกัน) ปิติ จึงเปรียบเสมือนเมล็ดให้เกิดการ สัมปยุตเป็นหนี่งเดียวของสังขาร(กายนอก+กายใน) อาการแห่งการสัมปยุตเป็นหนึ่งเดียวนี้(บางแห่งใช้อรรถว่า ความสงบกาย สงบจิต

เหตุที่เป็นดั่งนั้นก็เพราะ “ปิติ” เป็นเหตุใกล้แห่ง “ปัสสัทธิ” ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์"

- ลักษณะแห่งการบังคับให้ “ปิติ” สัมปยุตเป็นหนึ่งเดียวกับสังขารทั้ง ๓ (กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร) กับมหาภูตรูป ได้อย่างมั่นคงไม่ไหวหวั่น สั่นคลอน ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "สมาธิสัมโพชฌงค์"

- เมื่อสามารถสัมปยุตสังขาร กับมหาภูตรูป แม้สมมุติก็รู้ชัดว่าสมมุติ ก็มิได้ยึดติดในสมมุติได้แล้วนั้น ปล่อยวางสิ่งที่ได้ มุ่งเพียรปฏิบัติที่เหนือกว่านั้น เพื่อความรู้แจ้ง

โดยมีพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งต่อไป(บางอรรถว่า วางเฉยในธรรม คือ ไม่ยึดติดในที่ตั้งแห่งอารมณ์อันสำเร็จแล้วนั้น) ในทางปฏิบัติภาวนาเรียกว่า บรรลุซึ่ง "อุเปกขสัมโพชฌงค์"


จากที่ได้บรรยายมาแล้วข้างต้น สาธุชนทุกท่าน คงกระจ่างใจ และได้ทราบว่าที่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค มาโดยตลอดนั้นได้ผ่านขั้นตอน "องค์แห่งการตรัสรู้(โพชฌงค์) ไปพร้อมกัน

โดยส่วนใหญ่ต่างเข้าใจกันว่า การสวดโพชฌงค์สามารถรักษาโรคภัยได้ !? ...
ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะการเจ็บป่วยนั้น มาจากความไม่สมดุลย์ของมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม 

ดังนั้น การรักษาการเจ็บป่วย ก็คือ ปรับให้ธาตุทั้งหลาย สมดุลยภาพ เสมอกัน โรคภัยนั้นก็จะหายไป ร่างกายก็จะแข็งแรงเป็นปกติ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดวิธีปฏิบัติไว้ในสติปัฏฐาน ว่าด้วย กายานุปัสนา ภาคพิจารณากายโดย(มหาภูตรูป) นั่นคือการปรับธาตุ จึงสามารถรักษาโรคภัยต่าง ๆ ให้หายได้อย่างอัศจรรย์ เพราะเกิดจากอำนาจแห่งสมาธิพละ(สมาธิสัมโพชฌงค์) 

          แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ จึงไม่ทราบว่า อาปานัสติ สติปัฏฐาน และ โพชฌงค์ เป็นเรื่องเดียวกัน ดั่งได้อธิบายมาแล้ว จึงไขว้เขว จำมาผิด ๆ ถ่ายทอดผิด ๆ จากความคิดของตนว่า การสวดโพชฌงค์ทำให้หายโรคภัย ซึ่งสาธุชนทั้งหลายที่ได้ศึกษาข้อมูลนี้แล้วจะทราบอย่างชัดเจน

ในการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อเริ่มแต่การหาใจเข้า(อาปานัสติ) ใช้สติ(ระลึกรู้อารมณ์) นำไปตั้งไว้ที่ฐานธาตุต่าง ๆ เพื่อฝึกสมมุติ เข้าถึงธรรมชาติแห่งสมมุติ จนสามารถสมมุติสรรพสิ่งได้ตามปรารถนา นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า "อธิษฐาน" อันได้มาด้วย "บุญ"จากการปฏิบัติ

***** แต่กระนั้น สิ่งที่อธิษฐานก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะอยู่ภายใต้อำนาจแห่งธาตุทั้ง ๔ ย่อมแปรเปลี่ยนไป เมื่อเข้าใจถึงแก่นแท้แห่งสรรพสิ่ง ผู้ปฏิบัติแม้สามารถอธิษฐานได้ตามใจปรารถนา ก็ไม่ติดยึดในสิ่งอันเป็นสมมุติ ด้วยมิใช่ความสุขอันแท้จริง จึงมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ สุขอย่างถาวร อันหาอื่นใดเปรียบมิได้ คือ "พระนิพพาน" *****  ซึ่ง

  ปลายทางของการปฏิบัติ อยู่ที่พระนิพพาน โพชฌงค์คือจังหวัด เส้นทางที่ผ่าน ที่ท่านทั้งหลายได้ประกอบกุศลเจตนา เพียรปฏิบัติกันมานี้เอง




สมดั่งพุทธพจน์ที่ได้ยกไว้ ณ เบื้องต้น ว่า


      อาปานสฺสติ  ภิกขเว  ภาวิตา  พหุลีกตา :  จตฺตาโร  สติปฏฺฐาเน  ปริปุเรนติ
       จตฺตาโร สติปฏฺฐานา  ภาวิตา พหุลีกตา :  สตฺต สมฺโพชฺฌงฺเค  ปริปุเรนติ
       สตฺต สมฺโพชฺฌงฺคม  ภาวิตา  พหุลีกตา :  วิชา  วิมุตฺตึ  ปริปุเรนติ ฯ

    ภิกษุทั้งหลาย อาปานัสสติ อันบุคคลได้อบรมให้มากแล้ว  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยสติปัฏฐาน ๔  ผู้นั้นย่อมชื่อว่าทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
    ผู้ใดอบรมให้มากด้วยโพชฌงค์ ๗  ผู้นั้นย่อมได้ถึงซึ่งวิชา และ วิมุติอย่างบริบูรณ์ ฯ
                      (วิ. ๒/๘๕ : ม.อุปริ ๑๔/๑๙๓)

ขอความผาสุขสวัสดี ก้าวหน้าในธรรม จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ปฏิบัติชอบ ในพุทธวิถี สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ทุกท่านโดยทั่วกันเทอญ







สารบัญทั้งหมดจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้า (ทุกหน้า) เวอร์ชันสำหรับเว็บ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS