Pages - Menu

วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

สติปัฏฐานนี้ เป็นหนทางเดียวเท่านั้น อันจักล่วงทุกข์ และไปสู่นิพพาน ไม่มีทางสายอื่น.. (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 31 มีนาคม 2558)

วันนี้จะได้บรรยายในส่วนที่เป็นประโยชน์ และเห็นผลได้ทันที สำหรับท่านที่ปฏิบัติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค โดยเฉพาะ .... สำหรับท่านที่ปฏิบัติในแนวทางอื่น ไม่อาจนำไปใช้ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ด้วยว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า "เอกมคฺโค..สติปฏฺฐานา.." สติปัฏฐานนี้ เป็นหนทางเดียวเท่านั้น อันจักล่วงทุกข์ และไปสู่นิพพาน ไม่มีทางสายอื่น..


เรา ท่านทั้งหลาย มักได้ยินถ้อยคำที่เป็นภาษาบาลีว่า "กมฺมุนา  วตตี  โลโก" แปลความเป็นไทยว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" เมื่อเราได้ฟังแล้ว เราก็คล้อยตามและเชื่อไปตามนั้น โดยมิได้พิจารณาให้ถ่องแท้ ว่า ผู้ที่แปลความหมายในบาลีนั้น ให้ความหมายครบถ้วนตามพุทธประสงค์ ที่พระพุทธองค์ทรงดำรัสหรือไม่ ?


คำว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" นั้น หมายถึง สัตว์ทั้งหลาย (ในที่นี้คือ คน หรือ มนุษย์) ที่ไม่ได้ประพฤติ ปฏิบัติตามแนวแห่ง "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ย่อมอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรม ไม่มีข้อยกเว้น

แต่ผู้ปฏิบัติตามแนวแห่ง "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" เป็นผู้ที่ "อยู่เหนือกรรม" และ "สามารถที่จะกำหนดให้รับเฉพาะแต่กุศลกรรมได้ดั่งประสงค์" นี่คือความแตกต่าง

และนี่คือ ความลับแห่ง "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" เพราะเมื่อปฏิบัติแล้ว ย่อมขจัดเสียซึ่ง "ทุกข์ โทมนัส ปริเทว" ทั้งปวง หมายถึง "ทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งก็คือ อกุศลกรรม จะไม่อาจแสดงผลใด ๆ ต่อผู้ปฏิบัติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ได้เลย....คำถามคือ ...วิธีปฏิบัตินั้นทำอย่างไร ไม่ให้มีทุกข์เกิดขึ้น ด้วยประการทั้งปวง ?


เราอย่าลืมว่า เส้นทางแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค นั้น ปลายทางหรือเป้าหมายสูงสุดท้ายคือ พระนิพพาน อันเป็นบรมสุข (นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ  สุขยิ่งกว่านิพพานไม่มี) นั่นหมายถึงว่า เส้นทางแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค คือ เส้นทางแห่งความสุข ไม่ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติ หรือ ระหว่างปฏิบัติก็ตาม เปรียบดั่งเราเอาช้อนตัก"น้ำตาล" ใส่ปากมันจะ "หวาน" ตั้งแต่เมล็ดแรกจนเมล็ดสุดท้ายของน้ำตาล  ฉันนั้น .... ดังนั้น หากใครที่เกิด กินน้ำตาลแล้วเกิด "ขม" แสดงว่า "ป่วย" หรือ มีความผิดปกติทางประสาทสัมผัสรส นัยหนึ่งคือ มีความทุกข์ระหว่างการปฏิบัติต้องมีอะไรผิดพลาด อย่างแน่นอน...

ในสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ "ความสุข สมหวัง สมปรารถนา" คือ "ความพึงพอใจ หรือ อารมณ์ที่มีสุข " เรียกว่า "นิฏฐารมย์" และ "ความทุกข์ คือ ความไม่พึงพอใจ ไม่ได้ดั่งปรารถนา" เรียกว่า "อนิฏฺฐารมย์" สรุปง่าย ๆ คือ ชอบ(รัก) กับ ไม่ชอบ(เกลียด) เป็นต้น

ความทุกข์ที่เกิดจากภาพ จากความคิด ทำให้เกิดความสิ้นหวัง รันทดท้อ  เป็น "อารมณ์" ต่างจาก อุปสรรค ข้อติดขัด คนอิจฉา ฯลฯซึ่งนั่นเกิดจาก "พฤติกรรมของผู้อื่น" ชนิดนี้เรียกว่าบททดสอบ ซึ่งไว้ฝึกความแกร่งของพลังสมาธิ

จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้ว ทั้ง "สุข และ ทุกข์" ขึ้นอยู่กับ "อารมณ์" ซึ่งในทางปฏิบัติ "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" ให้ใช้ "สติ คือ ธรรมชาติระลึกรู้อารมณ์ เป็นหลักในการปฏิบัติ คือ ให้เราจดจำอารมณ์สิ่งที่เรา "รัก" หรือ เรา "ชอบ" ไว้ให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น "ได้รับรางวัล หรือ สิ่งที่พอใจ" ก็ให้ "จดจำอารมณ์นั้นไว้" เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดสิ่งใด ๆ เข้ามากระทบแล้วเกิด "อารมณ์ไม่ชอบ" ขึ้นมา ก็ให้ระลึกเอา "อารมณ์ที่เราชอบ เราพอใจ เข้าไปแทนที่"


มันเป็นกฏธรรมชาติ เรียกว่ากฏแห่งการทดแทน หรือ UREKA Rule สติคือธรรมชาติระลึกรู้อารมณ์ ดังนั้น การรู้เท่าทันอารมณ์และระลึกอารมณ์เฉพาะที่ชอบ ที่รัก ไปแทนที่สิ่งไม่ชอบเสมอ อารมณ์ไม่ชอบ หรือ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้


ผู้ที่ "ท้อแท้ หมดหวังในชีวิต" ก็เกิดอารมณ์เศร้า(โสกปริเทว) ก็เอาอารมณ์ที่เป็นสุขเข้าไปแทนที่...นี่คือ ความสำคัญของ "สติ ธรรมชาติแห่งการระลึกรู้อารมณ์"  ซึ่งเมื่อฝึกสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จะสามารถควบคุมสภาวะดังกล่าวนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ อารมณ์การท้อแท้ สิ้นหวังในชีวิต คิดสั้น ก็จะไม่มีที่ให้แสดงผล เพราะถูกแทนที่ไปด้วย "อารมณ์สุข สมหวัง" เสียแล้ว


ทีนี้มาดูว่า ทำอย่างไรจะให้สมปรารถนา หรือ ได้มาซึ่งสิ่งที่เราปรารถนา ... ส่วนนี้ต้องอาศัย "ภาพ" ทางปฏิบัติเรียกว่า "นิมิต" ซึ่งผู้ที่ฝึกก็จะนำเอาภาพที่ปรารถนา พร้อมกับอารมณ์ที่เป็นสุข ลงไปตั้ง และทรงสภาวะนั้นไว้ เรียกว่า "ทรง" หรือ "ตั้งลม" ตรงนี้แหละเป็นเหมือนเครื่องตีตราประทับ(เรียกว่า โวฏฐัพนะ) ที่จะบันทึก(ชวนจิต)ไว้ในบัญชี หรือ ห้องสมุดแห่งความจำเรียกว่า "สัญญา" ซึ่งต่อไปไม่ว่าครั้งไหน ๆ ในคราวหน้า หากมีความทุกข์ชนิดคล้ายกันนี้เข้ามา จะถูกแทนที่ด้วยภาพ และ อารมณ์ที่ถูกบันทึกไว้นี้ทันที ชีวิตก็จะไม่พบกับความเศร้าหมอง ทางใจโดยสิ้นเชิง


ในส่วนของภาพสิ่งที่ปรารถนา จะถูกแปรสภาพให้เป็น "รูป" หรือ วัตถุที่สัมผัสแตะต้องได้ และอยู่ในลักษณะที่ผู้กำหนดนั้น "พึงพอใจ" อันเป็น "นิฎฐารมย์ = อารมณ์ที่พึงพอใจ" ทุกครั้งไป


จากที่ได้บรรยายมาโดยสังเขป จะเห็นได้แล้วว่า ...เหตุใด ผู้ที่ปฏิบัติ "สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค" จึงไม่พบกับความทุกข์ และ ไม่อยู่ภายใต้กฏแห่งกรรม เพราะสามารถกำหนดได้ เนื่องจาก

                      "กรรม จัดเป็น สมมุติ" 

เส้นทางแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค คือเส้นทางปฏิบัติ สู่สภาวะเหนือสมมุติ คือ "นิพพาน" ดังนี้ ฯ


ขอความผาสุขสวัสดี  ก้าวหน้าในการปฏิบัติ สมปรารถนาในสิ่งอันเป็น "กุศล" ทุกประการ ทุกท่านเทอญ ฯ  เจริญพร