สมัยบรรพาล พระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเพียงอายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลธรรมต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในยุคนั้น มนุษยโลกทั้งหลายล้วนนับถือท้าวมหาพรหม และ กบิลพรหมองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน กบิลพรหม เห็นว่าธรรมบาลกุมารซึ่งเป็นเพียงเด็กน้อย จะมีภูมิธรรมอันใดมาสอนมนุษย์ทั้งหลาย แทนพรหมที่มีอายุเป็นกัปกัลป์หาประมาณมิได้ ย่อมต้องเอาสัมธรรมปฏิรูป(ของปลอม) มาสอนแก่มนุษย์ให้หลงผิดเป็นแน่แท้ จำต้องทดสอบปัญญาหากว่ามิใช่ของจริงแท้ จะได้กำจัดเสีย
ด้วยเหตุดั่งนั้น กบิลพรหม จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ โดยได้มีคำมั่นสัญญาไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นมีว่า
ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด
ธรรมบาลกุมารขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น
ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก
นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด
นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร
สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า
เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
เวลาค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมาจากนกอินทรีย์มาตอบ ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน
แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ตามที่เราได้ให้สัญญาไว้ พวกเจ้าทั้งหลายอย่าได้เสียใจ เราเป็นกบิลพรหมย่อมถือ "สัจจะ" แต่ว่า ศีรษะของเรานั้นเมื่อตัดแล้ว ถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะโยนขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้านำลงไปไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่จะก่อความทุกข์ยากให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยเหตุดั่งนี้ เราจึงขอให้พวกเจ้าธิดาทั้งเจ็ด จงเอาพานมารับศีรษะเราทันทีที่ตัดแล้ว
แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาคนโตผู้ถือพาน ร่างของท้าวกบิลพรหมได้ระเบิดกระจายลงพื้นมนุษยโลกเนื้อหนังล้วนกลายเป็นอัญมณีที่มีพลังต่างกันไปด้วยอภิญญาฤทธิ์แห่งท้าวมหาพรหม เช่น ส่วนหัวใจ กลายเป็นเพชร ส่วนเป็นโลหิตแดงกลายเป็นทับทิม ส่วนน้ำเหลืองกลายเป็นบุษราคำ ส่วนหน้าผากกลายเป็นมรกต ส่วนเส้นผมกลายเป็นนิล ส่วนโลหิตดำ กลายเป็นเหล็กไหล เป็นต้น
เมื่อท้าวกบิลได้ตัดศีรษออก ธิดาคนโตคือ ทุงษเทวี ได้เอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ
พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ครั้งถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์
1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
2. นางสงกรานต์โคราดเทวี
โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
3. นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
4. นางสงกรานต์มณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี
กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา(ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จะผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่างๆ กันตามวันสงกรานต์นั้นจะตรงกับวันใดในสัปดาห์ดังกล่าวข้างต้น
สำหรับปี พุทธศักราช ๒๕๕๙ วันสงกรานต์ตรงกับวันพุธ นางสงกรานต์นามว่า มณฑาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย
หัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร(นอนลืมตา) มาเหนือหลังคัสพะ(ลา) เป็นพาหนะ
Source :
สมชัย ใจดี,ยรรยง ศรีวิริยาภรณ์. ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531.
สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2534.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สงกรานต์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533.
ยังไม่จบสมบูรณ์ มีต่อ ตอน "วันสงกรานต์สำคัญอย่างไร กับ ชนชาติไทย"
ขอความผาสุขสวัสดี มีโชคชัย จงบังเกิดแก่สาธุชนทั้งหลายถ้วนทั่วกันเทอญ