รวมคำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล เดือน เมษายน 2557

ขอความสุขสวัสดีมีโชคลาภ แลศุภมงคลจงบังเกิดผลแด่สาธุชนผู้ปฏิบัติถ้วนทั่วกันเทอญ


คำสอนพระอาจารย์ ๔ เมษายน ๒๕๕๗



การจะถอดรหัสเข้าถึง "อนัตตา" ตามความหมายที่แท้แห่งพุทธพจน์ที่ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ฯ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" ต้องเข้าใจความหมาย ในส่วนสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ก่อนที่จะทรงตรัสถึงอนัตตาว่า " เราตรัสรู้ บรรลุธาตุ" ตรงนี้...จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงย้ำไว้ก่อนอื่นใด 


เหตุที่ทรงตรัสเช่นนั้น ก็เพราะว่า "สรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประชุมกันเป็นเอกสมังคีของมหาภูตรูป๔ คือธาตุทั้ง๔ อันได้แก่ดินน้ำลมไฟ และมีอากาศเป็นธาตุที่แทรกเป็นตัวประสานอยู่เป็นธาตุที่๕ 


การควบคุมธาตุคือการควบคุมสมมุติ และความคุม "รูป" เพราะพระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้ภิกษุและผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ต้องพิจารณาธาตุ (นี่แหละเราจึงต้องฝึกกสิณกันไง...และกสิณจึงเป็นสมาธิภาคบังคับที่นักปฏิบัติจะขาดไม่ได้...ตามต่อไปเดี๋ยวรู้เอง) ดังปรากฏในการปฏิบัติสติปัฏฐานข้อที่ ๑ ว่า


   "...ภิกษุในศาสนานี้ ยอมตามเห็นกาย คือ ปถวี(ธาตุดิน) โดยสภาพความไม่เที่ยง(อนิจจัง) โดยนัยเดียวกันย่อมตามเห็นกายคืออาโป(น้ำ) กายคือวาโย(ลม) แลเนื้อหนัง ขนเล็บล้วนมีสภาพไม่เที่ยง เพราะการตามเห็นกายในกาย ประกอบด้วยธาตุทั้งปวงนี้ จึงชื่อว่า มีปกติตามเห็นกายในกาย..ฯ


จากพุทธพจน์ที่ทรงตรัสว่า "บรรลุธาตุ" หมายถึงการควบคุมธาตุ คือควบคุมรูป และสมมุติทั้งปวง ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติกสิณจะมีอานิสงค์ที่ควบคุมรูปได้เรียกว่า "ธาตุกุสลตาบุคคล" นี้คือคุมธาตุทั้ง ๔ จากนั้นใช้มนสิการ(ทุกท่านได้ฝึกไปบ้างแล้ว)ควบคุมธาตุ ๑๘ อยู่ในอำนาจสิ้นเชิงแล้ว จึงได้ชื่อว่า "มนสิการกุศลตาบุคคล" ย่อมมีอำนาจโดยสภาวะแห่งอภิญญาจิต อันเป็นองค์ธรรมแห่งมนสิการกุสลตา คือ

    ปัญญาเจตสิกสัมปยุตจิต ๔  มหากิริยาจิตฌานสัมปยุตจิต ๔ อภิญญาจิต ๒ มาาคจิต ๔ ดังนี้

    นี้เป็นภาคส่วนแห่งการคุมธาตุ หรือ รูป ซึ่งต้องใช้ส่วนของกสิณ ซึ่งมีมาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "ไม่ว่าตถาคตจะบังเกิดขึ้นบนโลกหรือไม่ก็ตาม..." ดังนี้


การปฏิบัติในส่วนของกสิณนั้นมีมาก่อนสมัยพุทธกาล เหล่าโยคาวจรผู้แสวงหาวิโมกข์ พ้นจากความทุกข์ต่างหาวิธีปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้น ไม่แก่ ไม่ตาย เขาเรียกสภาพนั้นว่า "ความเป็น "อมตะ" คือ  นี่คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติก่อนพุทธศาสนาจะกำเนิดขึ้นบนพื้นพิภพนี้


ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เพียงแต่ "สาธยายมนต์" คือ สวดมนต์ด้วย "กาย วาจา ใจ" ให้พร้อมกัน "ถึงพร้อม" อานิสงค์ก็ได้รับความเป็น "อมตะ" แล้ว ดังได้เคยกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้


เพราะการ "สาธยายมนต์ ด้วยพฤติที่ถึงพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ" จัดว่าเป็นรูปปาวจรกุศลขั้น "ปริต(อ่านว่า ปริตะ)" ย่อมส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลก ชั้นปริตตา ดังปรากฏในพระไตรปิฏกยืนยันไว้ ดังนี้ว่า

 "ปริตตาภานํ  เทว กปฺปานิ...ฯ

อายุของพรหมนั้น ยืนยาวมาก มากเสียจนนับไม่ไหว จึงให้คำแทนค่าว่า "อมตะ" คือ ไม่แก่ ไม่เจ็บ อายุนับด้วยปีไม่ได้" ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พรหมจึงหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นอมตะ เพราะเกิดมาก่อนพุทธเจ้ากุกุสันโธ เรื่อยมา ยังไม่แก่...ก็เลยเป็นเรื่อง เมื่อมาถึงยุคสมัยของพระพุทธองค์ ดังปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค พรหมนิมันตนิกสูตร  ว่าด้วยพกาพรหม มีทิฏฐิอันลามก ซึ่งภายหลังได้พระอรรถกถาจารย์ได้นำมารจนาไว้ เรียกว่าชัยมงคลคาถา อยู่ในบทที่ ๘ หรือ ที่เรารู้จักกันว่า "สวดพาหุง" ว่า

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง 
พ๎รัห๎มัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง 
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท 
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
พกาพรหม ถือตัวว่ามีความบริสุทธิ์ รุ่งเรืองและมีฤทธิ์ 
ยึดมั่นในความเห็นผิด ว่าเป็นอมตะ ดุจมีมือถูกอสรพิษขบเอา 
พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยญาณ ฯ


ด้วยเดชแห่งชัยชนะแห่งพุทธองค์ดังกล่าวนั้น  ขอชัยมงคลจงมีแก่ สาธุทุกท่าน ปรารถนาสิ่งใดอันเป็นกุศล จงสัมฤทธิผลโดยพลันเทอญ เจริญพร



คำสอนพระอาจารย์ ๗ เมษายน ๒๕๕๗



ขอความผาสุขสวัสดีจงมีแด่สาธุชนทุกท่าน ทาชิ เดเล


ในการให้ความหมาย และสื่อสาร เพื่อให้ผู้ที่มีกุศลศัทธา ตั้งใจที่จะศึกษาปฏิบัติเข้าใจ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย การใช้ไวพจน์ วลี หรือ การเปรียบเทียบย่อมแตกต่างกันไป ในสมัยหนึ่งคนสมัยนั้นอาจจะเข้าใจ เมื่อเวลาผ่านไป คนอีกสมัยหนึ่งก็อาจจะไม่เข้าใจ เพราะนึกไม่ออก บอกไม่ถูก เพราะไม่เคยพบสิ่งที่ได้นำมาเปรียบเทียบนั้น ความมืดบอดดุจดั่งหลงอยู่ในถ้ำ ที่ล้อมรอบด้วยหุบเหว รอเวลาที่จะตกตายหายไปใสห้วงแห่งอวิชชา อยู่ทุกขณะ นี้คือสภาพอันเป็นอยู่ของผู้ต้องเรียนรู้ จากสิ่งพิมพ์ คำแปล และการสื่อความหมายจากผู้ที่เรียกตัวว่า "ผู้รู้ หรือ ปราชญ์ทางพุทธศาสนา" ในยุคปัจจุบัน


สิ่งที่ทำให้หลงทางอย่างยิ่ง คือ การให้ความหมายของคำว่า "อนัตตา(อนตฺตา" ว่า อนัตตา มาจากคำว่า น อตฺตา แปลว่า มิใช่ตน ไม่ได้แปลว่าไม่มีตัวตน.... 
     ซึ่งห่างไกลไปจากความมุ่งหมายแห่งพุทธประสงค์ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า ".. ยํ โข ภิกฺขุ  อนตฺตนิยํ  ตตฺร  เต ฉนฺโท  ปหาตพฺโพ..ภิกษุทั้งหลาย ธรรมใดเป็นอนัตตา เธอควรละความพอใจในธรรมนั้นเสีย.. 

มิใช่ตนกับไม่มีตัวตนความหมายต่างกันมาก 
มิใช่ตนหรือมิใช่ตัวตนนั้น คือมีอยู่ แต่มีเพียงชั่วคราว เป็นสภาพว่างเปล่า เป็นสภาพที่หาเจ้าของไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใครๆ


วรรคล่างต่อจากพุทธพจน์นั้น ก็เป็นข้อความเสริมจากผู้ที่ใคร ๆ เรียกว่าปราชญ์ทางพุทธศาสนา ที่ให้ความหมายและพยายามที่จะให้ความหมายของคำว่า "อนัตตา" ก็นั่นแหละ ยังไม่ใกล้กับ "อนัตตา" ที่พระพุทธองค์ทรงให้ภิกษุทั้งหลาย ละความพอใจในอนัตตาตรงนั้น

     คำถามที่ เราชาวพุทธต้องถอดรหัส "อนัตตา" ตรงนี้ให้ได้ว่า " อนัตตา มีอะไร ที่ทำให้ภิกษุพอใจ ถึงขนาดจะไม่ยอมไปนิพพาน ถึงขนาดพระพุทธองค์ทรงให้ละเสีย...!?  ตรงนี้แหละคือหัวใจ คือ จุดสำคัญของรหัส "อนัตตา" ที่เราคุยกันมาตลอดจนถึงภาคที่ ๔ นี้


ตรงนี้เราต้องเจาะลึกเข้าในในส่วนที่ว่า "อะไรทำให้พกาพหรมเกิดหลงผิด" ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค พรหมนิมันตนิกสูตร  ว่าด้วยพกาพรหม มีทิฏฐิอันลามก ความโดยสรุปย่อ ว่า... พกาพรหมก็กล่าวพรหมสถานนั้นอย่างนั้นว่า 
 "....พรหมสถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ 
 และกล่าวเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นอันมีอยู่ว่า 
 เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่น ไม่มี...."
(อ่านรายละเอียด ได้บรรยายในตอนที่แล้ว)


" พรหมสถานที่นี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ..." ตรงนี้แหละคือตัวถอดรหัส ความหมายที่แท้จริงของคำว่า "อนัตตา"
เราก็จะต้องถอดรหัสกันต่อไปว่า อะไร และ ทำไม เหตุผลใดที่ทำให้ พกาพหรม คิดเช่นนั้น ตอบง่าย ๆ ไม่ต้องคิดนาน คือ...


พรหมเป็นเทพชั้นที่มีอายุยืนยาวที่สุด คือ สุดที่จะนับ ขนาดพกาพหรมเป็นพรหมเทพมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้ากุกุสันโธ ที่สำคัญคือไม่มีกามตัณหา สรุปตรงนี้ง่าย ๆ สภาวะของพรหม "มีสภาพยืนยาวเกินกว่าจะนับได้ เรียกว่า "อนันต์" จำคำนี้ไว้ให้ดี


เมื่อเอาคำว่า "อนันต์" รวมควบกับคำว่า "อัตตา แปลว่า ตัวตน" จะได้คำศัพท์ใหม่ว่า "อนัตตา อ่านว่า อะ นัด ตา" แปลความหมายโดยรวมว่า "มีตัวตนอยู่ยืนยาวจนสุดจะนับประมาณได้" นี้คือความหมายแท้จริงของคำว่า "อนัตตา" 



      ก็ด้วยเหตุที่ว่า "สามารถมีอายุยืนยาวอยู่ได้อย่างไม่อาจนับ ไม่มีทุกข์" นี้เอง ทำให้ภิกษุผู้ปฏิบัติเมื่อเข้าถึง "ธรรม=ที่ตั้ง" ซึ่งโยคาวจรผู้ปฏิบัติย่อมผ่านทางเส้นนี้ทั้งสิ้น ก็จะพึงพอใจ คิดว่าถึงแล้วพอแล้ว ศัพท์นี้หากเรียกให้ง่าย ๆ ก็เรียกว่า "เป็นอมตะ"  


แต่ความเป็น "อมตะ" นี้ก็ยังไม่ใช่ "นิพพาน" จึงทรงให้ละความพอใจนั้นเสีย ในความหมายของคำว่า "ธรรม" ในพุทธพจน์นี้ หมายถึง "การทรง(ลม)" หรือ ทรงสภาวะในนิยมะ(ฐาน) อันกำหนด ซึ่งผู้ปฏิบัติพรหมวิหาร(ฝึกอัปมัญญาใต้น้ำ) จะต้องผ่านทุกท่านไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น สภาวะการทรง(วิหารธรรม) ที่สามารถยืดอายุให้อยู่ได้ตามปรารถนา จึงไม่ใช่สภาวะแห่ง "นิพพาน" อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธองค์ ดังนี้


เพื่อให้ท่านสาธุชนเข้าใจอย่างกระจ่าง ในส่วนของ "อนัตตา" ซึ่งตอนนี้ได้ถูกไขรหัสจนชัดเจนแล้วนั้น ก็จะให้ข้อมูลเสริมเพิ่มเข้าไป เผื่อว่าไปเผยแผ่แล้วมีผู้ถาม จะได้ขยายความได้ชัดเจน หรือจะนำไปค้นคว้าต่อก็จะประเสริฐยิ่ง


"อนัตตา" หรือ "อมตะ"  ในยุคก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีวิธีปฏิบัติเข้าถึงอยู่แล้วเหาะเหินเดินอากาศ ไปเที่ยวทุกจักรวาล คุยกับพรหม-เทวดา เป็นเรื่องปกติ ในชมพูทวีปเรียกว่า "โยคะ" ซึ่งผู้สำเร็จโยคะก็จะเป็น"พรหม" แต่ก็ไม่ถึง "นิพพาน" คือ กิเลส ตัณหา อาสวะ อนุสัยยังไม่หมดสิ้นเชิง ซึ่งโยคีผู้สำเร็จก็รู้ดี ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงค้นพบหนทางไปสู่นิพพาน ดับกิเลส ตัณหา ราคะ อนุสัย ได้สิ้นเชิง ซึ่งเป็นการต่อยอดโยคะ จึงเป็นที่ยอมรับ และยกย่องให้เป็น "พระบรมศาสดา" ของโยคีทั้งปวง รวมทั้งพรหมเทพเทวา และมนุษย์ทั้งหลายด้วยประการฉนี้


การฝึก "อนัตตา(มีสภาวะดำรงอยู่อย่างไม่อาจประมาณนับได้" หรือ "โยคะ" ไปสู่ความเป็น "อมตะ" ตามความหมายของคำว่า "อนัตตา" ได้เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนประเทศจีนปัจจุบัน โดยผ่านเส้นทางสายโคราโครัม สู่เชียงอาน(ฉางอาน) ซึ่งรู้จักกันในนาม "อี้" ต่อมาเรียกว่า "เต๋า" คือการคุมสภาวะธาตุทั้ง ๔ ให้อยู่ภายใต้อำนาจ ผู้สำเร็จเต๋า เรียกว่า "เซียน" ซึ่งมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว


"เซียน" หมายถึง ผู้สำเร็จวิชชาสูงสุด ได้อภิญญา สามารถควบคุม ดิน น้ำ ลม ไฟ คือคุมรูปทั้งปวงได้โดยสิ้นเชิง สามารถอธิษฐานให้สิ่งใด ๆ อันเหนือธรรมชาติปรากฏได้ตามต้องการ แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็น "สมมุติบัญญัติ" ซึ่งไม่จำเป็นต้องถึงขั้นพระอรหันต์ ก็เป็น "เซียน" ได้เรียกว่า "ทรงอภิญญา" เพราะพระโยคาวจรผู้ฝึกอานาปานัสสติ และสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ย่อมมีอภิญญา อธิษฐานได้ดั่ง "ใจ" ปรารถนา เป็นปกติ 


ในประวัติศาสตร์จีนโบราณยุคแรก ระบุไว้ชัดเจนว่า "เต๋า" ได้เข้ามาจากสกุล "สุมา" (เป็นชื่อเรียกตามเผ่า Suma, Sumurer) ถ่ายทอดไปยังศิษย์เช่น เหลาจื้อ เม่งจื้อ ขงจื้อ เป็นต้น 
    ลักษณะพิเศษของ "เซียน" จะไม่เข้าหาสังคม จะปลีกตัวสันโดษวิเวก ศึกษาปฏิบัติ และเผยแพร่หลักปรัชญาการอยู่อย่างเป็นสุขจากวิถีปฏิบัติ  


ถอดรหัส "อนัตตา" ทั้ง ๔ ภาคที่ผ่านมา มั่นใจว่าต้องมีหลายสิ่ง หลายข้อความ ที่ทำให้สาธุชนผู้ใฝ่ในการศึกษา จะต้องสะดุ้ง กับสิ่งที่ได้รับนี้ แต่ขอยืนยันว่า "ความจริงจะมีเพียงหนึ่งเดียว Reality is Only One"` และสาธุชนอีกหลายร้อยท่านที่ได้เคยมาปฏิบัติ และได้อ่าน ก็จะไขข้อข้องใจในสิ่งที่เคลือบแคลงสงสัย ซึ่งจะเป็นพลวัตรปัจจัย ให้เพียรปฏิบัติยิ่งขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ ที่จะได้เข้าถึง "พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างแท้จริง"





ขอพลังแห่งพุทธานุภาพ จงสถิตย์อยู่กับสาธุชนทุกท่าน สิ่งใดอันเป็นกุศล และได้อธิษฐานแล้วด้วยใจ ขอจงสำเร็จพลันทันใด ทุกประการ ทุกท่านเทอญ ....เจริญพร

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS