คำสอนพระอาจารย์ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗
พุทธานุภาพ สำคัญยิ่งต่อนักปฏิบัติอย่างไร ?
ขอความสวัสดีมีโชคชัย ลาภผล ทรัพย์ทั้งหลาย อันเป็นไปในมนุษยสมบัติ จงบังเกิดมีแด่สาธุชนที่ใฝ่ในกุศลศัทธาปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ทุกท่านถ้วนทั่วกันเทอญ
เมื่อปาก(วจีสังขาร=วาจา)ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับ ใจ(มโนสังขาร) โดยอาศัยนิมิต (คือคำภาวนา นะโมตัสสะ..) ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น โดยมีสติ(ระลึกรู้อารมณ์ของอักขระที่ภาวนานั้นทุกขณะ ที่เสียงอันได้ติดตามลมหาใจ เคลื่อนไปจนหยุดอยู่ที่ตำแหน่งที่สุดแห่งลม(นิยะมะ=ฐาน) นิ่งสนิทอยู่ตรงนั้น นี้เรียกว่า การถึงพร้อมด้วยวาจา+ใจ เพื่อใช้ในการกล่าวสัจจะวาจา ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ตรงนี้แหละเป็นส่วนสำคัญที่สุด
ชื่อมั่นอย่างที่สุดว่า ท่านนักปฏิบัติ(และนักล่าอาจารย์ พวกอินเดียร์น่าโจนส์) หลาย ๆท่าน ก็คงได้พบอยู่แทบทุกสำนักที่ให้กล่าวคำถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ...แต่คำถามนั้นมีอยู่ว่า " ทำไมจึงไม่เกิดความสำเร็จ หรือก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะอันที่จริงก็กล่าวก่อนปฏิบัติทุกที บางท่านกล่าววาจามาเป็นสิบ ๆ ปี ก็ยังอยู่ที่เดิม เหมือนเดินบันไดเวียน ไม่ไปถึงไหน เพราะอะไร ?"
*******************************
คำตอบต่อไปนี้ถือว่าสำคัญมาก จะเรียกว่าสำคัญอย่างยิ่งของนักปฏิบัติ และผู้ที่จะก้าวพ้นความเป็นสามัญมนุษย์ สู่ความเป็น "พุทธบุตร" หรือ เรียกให้ถูกตามสถานะของชาวพุทธ คือ "เป็นพุทธบริษัท" อย่างแท้จริง จะได้หรือไม่ จะพ้นหรือเปล่า ก็อยู่ที่ว่า การเปล่งวาจาที่เป็นคำกล่าวที่ว่า อิมาหํ ภนฺเต ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจชามิฯ แปลความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอมอบกายถวายชีวิต และภพชาตินี้เป็นพุทธบูชา" ความสำคัญคือ วาจาที่เปล่งออกมา ได้เปล่งจากอาการที่ถึงพร้อมด้วย วจีสังขาร และ มโนสังขาร...แต่โดยทั่วไป เปล่งแต่เสียงที่ออกมาจากคอ...เหมือนเด็กท่องอาขยาน เพียงแต่กล่าวปาว ๆ ให้เสร็จ ๆ ไป ไม่ให้ความสำคัญนักกับ การถึงพร้อมดังกล่าวนี้ และนี่คือกุญแจ หรือ บันไดขั้นแรก ของการเป็น "พุทธบริษัท" อย่างแท้จริง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักปฏิบัติที่หวังความก้าวหน้า มีพระนิพพานอันเป็นบรมสุขเป็นที่หมาย
*******************************
การถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ด้วยสัจจะวาจาที่เปล่งออกมาจากนิยมะ(ฐาน)แห่งมโนสังขาร(ใจ=กายในกาย) ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เรียกว่า "มหาวิบาก" จิตจะยกขึ้นสู่วิถีอันเป็นกุศล เปลี่ยนสภาวจิตเป็น "มหคจิต" บังเกิดเป็น "มหาทานอันยิ่งใหญ่" สภาวะนี้เรียกว่า ถึงพร้อมด้วย "จาคะ(ทาน) อันเกิดขึ้นด้วยกุศลมูลจิตแห่งมรรคสัจจะอันเรียกว่า "สัมมาวาจา" อันจัดเป็น "ยอดศีล" ถึงเป็นสภาวะแห่งการถึงพร้อมด้วย "ศีล" นี่คือความแตกต่าง ที่ในทุกสำนักซึ่งนักล่าอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ได้เคยรับทราบ ไม่เคยมีใครอธิบาย จึงไม่เข้าใจถึงความสำคัญสุด ๆ ของการถึงพร้อมของ วาจา+ใจ ในพุทธานุภาพ
ความมั่นคง ศรัทธา อันเกิดจาก "ใจ" เป็นสัจจะนี้ เรียกว่า "โอปกันนะศรัทธา" เป็นพลังอย่างยิ่งที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติ ให้ห่างไกลจาก ความทุกข์หยาบ ๆ ในทางโลก เช่น ความยากจน ผิดหวัง รันทดท้อ ฯลฯ ที่สามัญมนุษย์ทั้งหลายได้รับ ผู้ที่ได้เปล่งวาจาด้วยการถึงพร้อมดั่งว่า ย่อมพบแต่ความสุข สมหวังดั่งปรารถนา ปราศจากเคราะห์ภัยร้ายทั้งปวง ดังมีพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้ ดังนี้ว่า
" ดูก่อน สารีบุตร ผู้ใดมีความเลื่อมใสยิ่งในตถาคต ถึงที่สุดส่วนเดียว เขาย่อมไม่สงสัย, ลังเลในตถาคต หรือ คำสอนของตถาคต
สารีบุตร เมื่อเขาเป็นผู้มี(โอปกน)สัทธาแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้ปรารถนาความเพียร เพื่อละอกุศลทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลกรรมทั้งหลาย
สารีบุตร ความเพียรนั้นย่อมเป็นอินทรีย์วิริยะ อินทรีย์สติ อินทรีย์สมาธิ ทั้งหมดนี้เรียกว่า ถึงพร้อมด้วยโอปกนสัทธา..." (มหาวาร, สังยุตนิกาย ๑๕/๒๙๙/๑๐๑๗
ดังนั้น ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ที่เสียเวลา เสียทรัพย์ เสียใจ และบางท่านก็ท้อใจ คิดเอาเองว่า ตัวเองไม่มีบุญในการปฏิบัติ เพราะเมื่อปฏิบัติแล้ว ไม่เห็นว่าชีวิตจะดีก้าวหน้า ฐานะก็ยิ่งย่ำแย่ลง(บางคนโดนพระไถจนแห้ง...หมดตัวก็มี..ถึงขนาดบอกว่าเจอโจรยังดีกว่าเจอพระ...ว่าไปโน่น !!) นั่นก็เพราะ ที่ผ่านมาไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกวิธีตามขั้นตอน เพราะไม่มีใครสอน ที่ทำกันอยู่ก็เข้าไม่ถึงพุทธานุภาพ เพราะผิดวิธี เมื่อเข้าไม่ถึงพุทธานุภาพ แน่นอน นอกจากความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นแล้ว การปฏิบัติผิดทางยังกลายเป็นโทษอีกต่างหาก
ในส่วนของความสำคัญที่นักปฏิบัติ ไม่ได้เข้าถึงพุทธานุภาพ ไม่ได้ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชานี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนถึงโทษภัยที่จะเกิดขึ้น ในการปฏิบัติโดยมิได้ถึงพุทธานุภาพ ว่า
"...จริงอยู่ โยคาวจรบุคคล ครั้นมิได้ถวายตนเป็นพุทธบูชาอย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ในที่เสนาสนะอันสงัด ครั้นอารมณ์น่ากลัวมาปรากฏในคลองจักษุ ก็ไม่สามารถยับยั้งตนอยู่ได้ จะหลีกเลี่ยงหนี่ไปยังแดนหมู่บ้าน กลายเป็นผู้คลุกคลีอยู่ด้วยคฤหัส ทำการแสวงหาลาภสักการะ อันไม่สมควรด้วยอาการทุจริตต่าง ๆ มิช้าก็ถึงแก่ความฉิบหาย...." (สารีบุตร, ปฏิสัมภิทามรรค)
พุทธานุภาพ นั้นเป็น "อจาละนุภาเวนะ แปลว่า พลังอันไม่มีวันเสื่อมสูญ" โยคาวจรผู้ที่ปฏิบัติเข้าถึงพุทธานุภาพ จึงมีพลังที่เหนือกว่าสามัญมนุษย์ปกติ เปรียบได้กับ ไฟฟ้า ที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่ทั่วไป ผู้ที่เรียนรู้วิธีต่อเชื่อมต่อเตรียมพร้อมสายไฟ หลอดไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า ย่อมสามารถนำพลังไฟฟ้ามาใช้เป็นประโยชน์ได้ไม่จำกัดกาล และสถานที่ แม้ความมืดมิดก็ถูกขจัดไป เพราะรู้วิธีต่อเชื่อมที่ถูกต้อง แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้ คิดเองเออเอง เห็นสายไฟไม่ผิดอะไรกับราวตากผ้า ก็คิดว่าลวดตากผ้าก็เอามาต่อไฟฟ้าได้ ...ผล คือ ตายสถานเดียว
เมื่อมาถึงตรงนี้ นักปฏิบัติผู้มีใจกุศลตั้งมั่น ต้องการความก้าวหน้า และความสำเร็จในการปฏิบัติ ย่อมสามารถจำแนกแยกแยะ และมองเห็นวิถีแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ที่มีขั้นตอนสู่ "พุทธานุภาพ" สำคัญต่อความเป็นพุทธบริษัท ด้วยประการ ฉะนี้
ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อันมีพุทธานุภาพเป็นเบื้องต้น จงอำนวยอวยชัย ให้บังเกิดศุภผล สิ่งอันเป็นมหามงคล จงมีแด่สาธุชนทุกท่านทั่วกันเทอญ ฯ ....เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 21 มีนาคม 2557
หลายท่านคงจะมีข้อสงสัย เมื่อมีใครมาถามว่า ทำสามาธิที่ใช้ปะคำเป็นเครื่องมือนั้น ไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา และบางท่านก็หาคำตอบไม่ได้ ก่อให้เกิดความไม่แน่ใจ ทั้งที่คนถามนั้นก็ไม่รู้จริงเสียด้วยซ้ำไป(เพราะถ้ารู้คงไม่ถาม) ว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรคนั้น จะขาดเสียซึ่งปะคำเป็นอันมิได้ เปรียบประดุจดั่งท้องฟ้าย่อมมิอาจปราศจากดวงดาราในยามราตรีและดวงสุริยาในยามทิวา ฉันนั้น
ปะคำนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ต่อจากเมื่อเราได้ฝึกจนสามารถควบคุมให้ วาจา(วจีสังขาร) กับ ใจ(มโนสังขาร) รวมเป็นหนึ่งเดียวได้แล้ว ก็เหลือเพียงหนึ่งเดียวคือ กายนอก(กายสังขาร) ที่จะต้องนำมารวมเข้าไปกับ วาจาและใจ(ซึ่งได้รวมกันได้แล้ว)
ปะคำ" นั้นเป็นเครื่องมือ(บาลีเรียกว่า อุปการ อ่านว่า อุบ-ปะ-กา-ระ ภาษาไทยทับศัพท์ว่า อุปกรณ์) มีมาก่อนสมัยพุทธกาล สำหรับในทางพระพุทธศาสนา ใช้สำหรับปฏิบัติสมาธิในภาค "นสิการ๘"
ประคำใช้ฝึกเพื่อรวม กาย วาจา ใจ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยจะมีสัญญานบอกความพร้อมของ กายวาจา ใจ เกิดขึ้น ในทันทีที่สังขารทั้ง3 คือกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร พร้อม อาการนี้เรียกว่า "ปิติ" ซึ่งจะอาศัยนิมิตของอารมณ์ภาวนา คือ อักขระ นะ โม...ซึ่งจะภาวนาไปพร้อมกับกายเนื้อ((กายนอก=นิ้ว) เคลื่อนเม็ดปะคำแต่ละเม็ด พฤตินี้เรียกว่า" คณา" แปลว่า "นับ"(จึงเรียกว่านับปะคำ) ขึ่งเป็นพฤติแรกของ มนสิการ
ทั้งนี้ประคำใช้ฝึกมนสิการ ในการตั้งธาตุ รวมสัปยุตธาตุ(ควบคุมสมมุติส่วนรูป) ฝึกวิวัฏฏนา คือเปลี่ยนแปลงธาตุให้เป็นสิ่งต่าง ๆ ได้ตามปราถนา และนี่คือที่มาของการอธิษฐานฤทธิ์ เหาะเหิน เดินอากาศ ก็เกิดจากอภิญญาจิต ที่ควบคุมรูปธาตุ จากอารมณ์ "ปิติ" การระลึกรู้อารมณ์เรียกว่า "สติ" และเมื่อนำไปตั้งไว้ ณ ฐาน(นิยะมะ) ที่กำหนด จึงเรียกว่า "สติปัฏฐาน" ดังนี้
ในอันดับแรกมาทำความเข้าใจกับประคำที่ใช้สำหรับปฏิบัติ สติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรคก่อน ประคำเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกในการรวม กาย วาจา ใจ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยจะมีสัญญานบอกความพร้อมของ กาย วาจา ใจ เกิดขึ้น เรียกว่า "ปิติ" ซึ่งจะอาศัยนิมิตของอารมณ์ภาวนา คือ อักขระ นะ โม...ซึ่งจะภาวนาไปพร้อมกับกายเนื้อ(กายนอก=นิ้ว) เคลื่อนเม็ดปะคำแต่ละเม็ด พฤตินี้เรียกว่า" คณา" แปลว่า "นับ"(จึงเรียกว่านับปะคำ) ขึ่งเป็นพฤติแรกของ มนสิการ? เสียก่อน ว่าส่วนประกอบของประคำมีอะไรบ้าง และหมายความว่าอย่างไร ?
1.ลูกสะกด จะมี4 ลูก จะเริ่มจากลูกแรกก่อน เรียกว่าลูกปถม แทนธาตุดิน
2.เม็ดปะคำจะร้อยประคำด้วยสูตรการร้อยและการว่าคาถาเสกแต่ละเม็ดจำเป็นต้องทำ3จังหวะคือหายใจเข้าเอาคาถาเข้าไปในระยะ1ขนนกตก ระงับลมเข้าหรือการตั้งลม ในนิยมะฐานดิน อีก1ขนนกตกและเปล่งวาจาพร้อมเป่าคาถาอีกระยะ1ขนนกตกถึงพื้น(ซึ่งต้องฝึกทิ้งขนนกพร้อมออกเสียง ให้ปากใจตรงกัน เท่าระยะขนนกตกถึงพื้นพอดี)
3.ช่วงระหว่างเม็ดประคำ26ลูกจะคั่นด้วยลูกสะกด 1 ลูกรวมเป็น 27 ใช้ แทนมหคจิตของแต่ละธาตุ.จึงแบ่งเป็น 4 ช่วงตามธาตุทั้ง4 คือเริ่มจากลูกสะกดลูกแรก(ปถม)มหคจิต ธาตุดิน 27. มหคจิตธาตุน้ำ 27 มหคจิตธาตุไฟ 27 มหคจิตธาตุลม27รวมทั้งหมดทั้งสาย จะมีปะคำ 108 เม็ด หมายถึงตัณหา108 และทั้งหมดจะเป็นสายวงกลมนั้นคือ วัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด
4.ใจปะคำ คือจุดรวมกำเนิดของกิเลส ตัณหา มหคจิต หมายถึงสิ่งทั้งหลายย่อมถูกกำหนดเกิด ดับ ด้วย "ใจ"
ในส่วนของมนัสสิการ จะเริ่มจากสำเนียกระลึกรู้อารมณ์ประกอบเสียง(วจีสังขาร) ว่าเกิด "ปิติ" ตรงไหนแน่นอน จะเป็นทางอนุโลม คือขณะ นะโมตัสสะ... หรือปฏิโลม คือ สะทัสพุธ...ตัวไหนเป็นปิติแน่นอน เพื่อใช้ในการวิวัฏนา คือแปลงนิมิต(อธิษฐาน) ให้เป็นสิ่งที่ปรารถนา นั่นคือการควบคุมสมมุติให้อยู่ในอำนาจ โดยอาศัย "ใจ"
ดังนั้น การทำมนสิการ จึงต้องทำด้วย "ใจ" อันเรียกว่า "มโนทวารวิถี" เท่านั้น ...นี่แหละที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มโนบุพฺพํ คมา ธมฺมา มโน เสฏฐา มโนมายา ฯ สิ่งทั้งหลาย สำเร็จได้ด้วยใจ ก็ตรงนี้
...ดังนั้น..ในมนสิการ จึงต้องปฏิบัติด้วยกายเนื้อ คือมือ เดินปะคำ อันเรียกว่า คณา แปลว่านับ และ ใจ(กายในกาย)ออกเสียง พร้อมไปกับ วาจา(ปาก) ทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน จึงเรียกว่า ถึงพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ และถึงพร้อมกันเมื่อไร ก็เกิดอาการเช่นขนลุกชูชัน ฯลฯ เป็นต้น หากไม่มีปะคำ เป็นเครื่องช่วย ก็จะไม่รู้ว่าเกิดปิติตัวไหน จึงมีไว้ให้ระลึกรู้ อย่างแน่นอนว่า เม็ดไหน ตัวอักขระอะไร ในขณะนับปะคำทางอนุโลม หรือ ปฏิโลม
เมื่อทำมนสิการระรึกรู้อารมณ์ปิติได้แน่นอนแล้ว ปะคำก็ไม่ต้องใช้ เพียงใช้ "อารมณ์ระลึกรู้ในอักขระที่ได้ปิติ(สติ) ไปตั้งไว้ที่ ฐาน(นิยะมะ ) จึงเรียกว่า สติปัฏฐาน ใช้พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นสมมุติ ไม่มีตัวตน เป็นเพียงธาตุต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถ ควบคุมสมมุติทั้งหลายให้เป็นไปตามปราถนา ผู้สำเร็จมนสิการเรียกว่า ธาตุกุสลตาบุคคล คือคุมธาตุทั้ง๔ อันเป็นต้นเหตุแห่งสมมุติทั้งปวงได้สิ้นเชิง เป็นการควบคุมส่วนรูป
โยคาวจรผู้ได้ปฏิบัติมนสิการชนเชี่ยวชาญชำนาญแล้ว สามารถสมมุติ(อธิษฐาน) เหตุการณ์ และสิ่งทั้งหลายได้ตามปรารถนา จัดว่าได้ก้าวพ้นจากขั้นมนสิการนี้แล้ว จากนั้นจึงก้าวขึ้นสู่การฝึกใช้อารมณ์แห่งกสิณ เพื่อควบคุมและส่วน "นาม" อันได้แก่ สัญญา เวทนา อันเเป็นส่วนรับรู้ของอายตนะภายใน ต่อไป
ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ ขอความสวัสดีมีชัย ปรารถนาสิ่งใดอันเป็นกุศล จงสัมฤทธิผลโดยพลันเทอญ เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 24 มีนาคม 2557
ขอความผาสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลปฏิบัติทุกท่าน ทั่วกัน
ในวันนี้จะได้กล่าวถึงข้อสงสัย ที่สาธุชนหลายท่าน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค อย่างถูกต้อง หรือ ไปปฏิบัติในสำนักอื่น ๆ ที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ แต่ไม่รู้ความหมายของคำว่า "ตั้งลม" หรือ "ทรงลม" คืออะไร ? บางแห่ง บางอาจารย์ บางสำนัก ถึงกับปฏิเสธอย่างไม่ดูเดือนดูตะวัน ว่า "ตั้งลม-ทรงลม อะไรเนี่ยะ มันไม่มีในพระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนา ไม่มีกล่าวไว้ในสติปัฏฐาน..." ซึ่งถ้าหากไม่วิสัชนาให้กระจ่าง ก็เห็นว่าพุทธศานิกชนจะต้องหลงทางไปลงอบายเสียเป็นแน่แท้
ก่อนที่จะวิสัชนาถึงส่วนของ "ตั้งลม-ทรงลม" ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติอาปานัสติ เพื่อเข้าสู่สติปัฏฐานนั้น ก็ต้องไล่เรียงขั้นตอนไปเสียแต่เริ่มต้นก่อน เพื่อความกระจ่าง จะได้ไม่มีข้อโต้แย้ง ทั้งทางวิชชาการพุทธศาสตร์ และทางปฏิบัติได้อีกในอนาคต
ในพระไตรปิฏกบาลี สุตตันตปิฏก เล่ม๒, มหาสติปัฏฐานสูตร, ฑีฆนิกาย,มหาวรรค... ได้บรรยายถึงลักษณะของการปฏิบัติอาปานัสสติ ไว้เป็น ๓ ลักษณะตามสภาวะแห่งไตรลักษณ์ คือ อุปาทขณะ อันได้แก่ขณะที่ ๑ เมื่อเร่ิมลมหาใจเกิดขึ้น คือหายใจเข้า เรียกว่า อัสสาสะ ขณะที่ ๒ คือ ฐีติขณะได้แก่ขณะที่๒ เมื่อสุดลมหาใจเข้าไปนิ่งสงบหยุดอยู่ภายใน และขณะที่ ๓ ได้แก่ภังคขณะ คือเมื่อหายใจออก หรือสิ้นสุดการหายใจ ในช่วงคาบหนึ่ง ๆ โดยกล่าวถึงการหายใจเข้าออกเป็นเบื้องต้น ว่า
โส สะโต วา อัสสะสะติ. เธอย่อมมีสติหายใจเข้า,
สะโต ปัสสะสะติ. ย่อมมีสติหายใจออก,
คำว่า สติ คือธรรมชาติระลึกรู้ตามลมหาใจ ที่เข้าและออก โดยใช้ความรู้สึกตามติดเข้าไป นับตั้งแต่เริ่มหายใจเข้าไปจนสุดลมหาใจ นี้เรียกว่า การระลึกรู้ แต่ส่วนใหญ่ที่สอนกันในสำนักต่าง ๆ ใช้คำพูดในการสอนผิด คือ มักใช้คำว่า "ดูลมหายใจ" ซึ่งขัดต่อหลักความเป็นจริง เพราะ "ลมหายใจ มองไม่เห็น จึงดูไม่ได้ แต่รู้ได้ จึงเรียกว่า "ระลึกรู้ หรือ สติ" คือ ต้องรู้ทั้งเข้าและออก ว่ามีลักษณะอย่างไร อารมณ์ต่างกันอย่างไร เรียกว่า เทียบเคียงความแตกต่างของอารมณ์ เพื่อให้จดจำระลึกไว้ นี้เป็นขั้นแรก
ต่อไปเป็นลักษณะส่วนที่ ๒ ของการทำอาปานัสสติคือ กำหนดรู้ความสั้นยาวของลมหายใจ (ซึ่งโดยทั่วในทุกสำนักที่สอน ๆ กัน ก็บอกไม่ได้ว่า หายใจวันนี้ กับเมื่อวานนี้เวลาเดียวกัน ยาวกว่ากันกี่เซ็นติเมตร สั้นกว่ากันกี่เซ็นติเมตร...แล้วลมหายใจเมื่อสิบนาทีก่อน กับตอนนี้สั้นยาวกว่ากันกี่เซ็นต์ ถ้าบอกไม่ได้ แสดงว่า "สอนกันผิด" เพราะความจริงแล้วต้องบอกได้ ซึ่งในพระบาลีระบุชัดว่า ให้ใช้การ "สำเนียก" คือ นอกจากระลึกรู้อารมณ์ความแตกต่างของลมหายใจเข้าออกแล้ว ยังตัองรู้ความสั้นยาวของลมหายใจ (ซึ่งผู้ที่ได้รับการฝึกอัปนาโกศล หรือ ที่เรารู้จักกันว่า "ทิ้งขนนก" เท่าระยะอักษร จะทราบดีว่าจะวัดความยาวของลมหายใจ เข้าออกอย่างไร) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสำเนียกระลึกรู้ความสั้นยาว ดังกำหนดไว้ในพระบาลีว่า
ลักษณะที่ ๑ หายใจยาว
ทีฆัง วา อัสสะสันโต. เมื่อหายใจเข้ายาว,
ทีฆัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว,
ทีฆัง วา ปัสสะสันโต. หรือเมื่อหายใจออกยาว,
ทีฆัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว,
ลักษณะที่ ๒ หายใจสั้น
รัสสัง วา อัสสะสันโต. เมื่อหายใจเข้าสั้น,
รัสสัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น,
รัสสัง วา ปัสสะสันโต. หรือเมื่อหายใจออกสั้น,
รัสสัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น,
... จะเห็นได้จากพระบาลีว่า หากไม่มีการฝึกฝนอย่างถูกต้อง จะไม่มีทางรู้ได้เลยถึงความยาว-สั้นแห่งลมหาย เรียกว่าเสียเวลาไปเปล่า ไม่ตรงตามที่บัญญัติไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรสิ้นเชิง
สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า,
สัพพะกายะปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก,
คำว่า "สำเนียก" หมายถึง การกำหนดรู้เสียง และ ระยะแห่งลมหายใจ ว่ามีความสั้น หรือ ยาวต่างกันเพียงใด ซึ่งผู้ที่จะสำเนียกได้ต้องฝึกโดยวิถีแห่งอัปนาโกศล อันเริ่มด้วย วจสา คือ การเปล่งวาจา พร้อมไปกับลมหายใจ เพื่อนำมาใช้ในการวัดระยะสั้นยาวของลมหายใจดังปรากฏในพระบาลีส่วนนี้ (วิธีปฏิบัติมีไว้ให้พร้อมแล้ว...ค้นคว้าศึกษาได้)
ต่อไปก็ถึงลักษณะที่ ๓ ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติ และคือที่มาของหัวข้อที่ได้ตั้งไว้ คือการทรงลม-ตั้งลม หรือ ฐีติขณะ ดังปรากฏในพระบาลี ว่า
ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร (คือลมอัสสาสะปัสสาสะ) หายใจเข้า,
ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก,
ตรงนี้แหละที่เรียกว่า การตั้งลม-ทรงลม เป็นสภาวะที่ไม่มีการหายใจทั้งเข้าและออก(ระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ) ส่วนนี้เป็นฐีติขณะ จะมีจิตทำหน้าที่ถึง ๕ ดวง(ต่างจากสภาวะลมหายใจเข้า=อุปาทขณะ=จิตดวงเดียว ลมหายใจออก=ภังคขณะ=จิตดวงเดียว) ซึ่งอารมณ์แห่ง ฐีติขณะนี้สามารถจะกำหนดให้ยืดยาวเท่าใดก็ได้ จึงเรียกว่า "ทรง" แปลว่า รักษาสภาพ ซึ่งใช้ในการทรงฌาน ทรงญาณ เข้านิโรธ ก็ใช้สภาวอารมณ์นี้ในการระลึก เรียกว่า อติมหันตารมย์
ในสภาวะแห่งการ "ทรงลม หรือ ตั้งลม" จะอยู่ในสภาพที่เหนือไปจากสามัญมนุษย์ปกติธรรมดา เพราะอยู่ในสภาพที่ไม่มีการหายใจ ดังเราจะเห็นจากในจารจารึกคัมภีร์ต่าง ๆ แม้ในพระไตรปิฏกได้กล่าวถึงพระอริยบุคคล เข้าฌานสมาบัตินับร้อย ๆ ปี หรือ ทรงฌานไปท่องเที่ยวเทศนากับปวงเทพยดา ก็อาศัยการทรงฌานจากการระลึกอารมณ์ส่วนระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ และการควบคุมกองลม นำไปไว้ยังฐานธาตุที่กำหนด (ระลึกรู้อารมณ์=สติ นำไปตั้งไว้=ปัฏฐาน จึงเรียกว่า สติปัฏฐาน ซึ่งสามารถกำหนดไว้ตามฐานธาตุ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งทั้งปวง)
ฉะนั้น ดังได้วิสัชนา ถึงที่มาของการ "ทรงลม-ตั้งลม" นั้น นอกจากจะมีมาในพระไตรปิฏก สุตันต เล่ม๒ มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรคแล้ว ยังเป็นขั้นตอนสำคัญที่โยคาวจรที่จะต้องปฏิบัติให้ได้เพื่อให้เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ผู้ที่ไม่สามารถ "ตั้งลม หรือ ทรงลม" ได้ก็อย่าได้หวังว่าจะพบความสำเร็จจากการปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง และทางไปพระนิพพาน ก็มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือสติปัฏฐาน๔ และสติปัฏฐาน๔ ก็จะต้องปฏิบัติด้วยอาปานัสสติ อีกทั้งอาปานัสตินั้น ก็ต้อง"ทรงลม-ตั้งลม" เพื่อนำการ "สำเนียกระลึกรู้ คือ สติ นี้ไปใช้ ในสติปัฏฐาน...เปรียบเสมือนโซ่ไร้ปลาย ที่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันมิได้ ดังมีพุทธพจน์ยืนยันไว้ดังนี้ว่า
อาปานสฺสติ ภิกขเว ภาวิตา พหุลีกตา;
จตฺตาโร สติปฏฐาเน ปริปุเรนติ....
ภิกษุทั้งหลาย อาปานัสสติ อันบุคคลใดได้อบรมให้มากแล้ว
ผู้นั้นย่อมชื่อว่า ทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์....
เอกมคฺโคติ เอโก เอว มคฺโค
น หิ นิพฺพาน คามิมคฺโค....
หนทางนี้เป็นหนทางเดียว ไม่มีทางสายอื่น อันจะนำไปสู่พระนิพพานได้ ..
ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกป้องคุ้มครองภยันตราย ทุกข์ทั้งปวงให้ห่างไกล ศุภโชคชัย ลาภผล ทรัพย์ทั้งหลายจงบังเกิดมี สรรพสิ่งที่เป็นกุศลอันได้อธิษฐาน จงประจักษ์ผลโดยพลัน ทุกท่านเทอญ ....เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 26 มีนาคม 2557
ความลับแห่งอานาปานัสสติ
ขอความเจริญผาสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรคทุกท่าน
ในการบรรยายครั้งที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงการปฏิบัติอานาปานัสสติ ซึ่งเปรียบเสมือนรากแก้วของโยคาวจรผู้ปฏิบัติ ซึ่งหากไม่บรรลุถึงขั้นทรงลม-ตั้งลม(ไม่ครบวงรอบ) ไม่อาจที่จะก้าวไปสู่มิติแห่งใจ หรือที่เรียกว่า "มโนทวารวิถี" ได้ นั่นหมายถึงว่า ยังไม่อาจที่จะเข้าสู้บันไดขั้นแรกแห่งพระนิพพานโดยสิ้นเชิง
ในส่วนของอานาปานัสสตินี้ พระสารีบุตรอัครมหาสาวกเบื้องขวา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รจนาส่วนที่เป็น "ความลับอย่างยิ่ง ของอานาปานัสสติ" ซึ่งนักปฏิบัติทั่วไปในประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยได้รับทราบ หรือไม่ได้รับการถ่ายทอดเนื้อหาข้อมูลของปฏิสัมภิทามรรคส่วนนี้กันนัก
เพื่อมิให้ส่วนสำคัญอันพระอริยะเจ้าที่ได้มีกุศลเจตนา จารจารึกไว้ให้พุทธบริษัทผู้ปฏิบัติชอบประกอบด้วยบุญ ศึกษา และปฏิบัติ เปรียบเสมือนหางเสือ ที่คอยคัดเรือให้มุ่งตรงสู่ทิศทางเป้าหมายอันประสงค์คือพระนิพพาน อย่างมั่นคง ไม่หลงทาง
ก็ขอนำเอา "ความลับ-แห่งผลของการปฏิบัติอานาปานัสติ" มาบรรยายเป็นหลักฐานไว้ ผิว่าผู้หนึ่งผู้ใดประกอบด้วยบุญบารมีที่ได้สั่งสมมาในปุเรชาติ สามารถเข้าใจในองค์ธรรม กระจ่างแจ้งในความหมาย จักได้มุ่งเพียรปฏิบัติด้วยศรัทธาอันมั่นคง ได้รับผลอันพึงใจ ดุจดั่งปลูกผลไม้ ได้เห็นดอกผลงอกงามฉันนั้น
พระสารีบุตรอรหันตเถรเจ้า ได้จารึกไว้ดังนี้ว่า
อานาปานสฺสติ ยสฺส ปริปุณฺณา สุภาวิตา
อนุปุพฺพํ ปวิจิตา ยถาพุทฺเธน เทสิตา
โส อิมํ โลกํ ปกาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมาติ ฯ
ความว่า :: ภิกษุใด ได้เจริญอานาปานัสสติให้บริบูรณ์ดีแล้ว
อบรมแล้วตามลำดับ ตามที่พระบรมศาสดาทรงแสดงแล้ว
ภิกษุนั้น ย่อมมองทะลุโลกถ้วนทั่วสว่างไสวไร้สิ่งบดบัง
ดุจดั่งดวงจันทร์ที่พ้นแล้วจากหมอกเมฆ ฉะนั้น ฯ
ข้อความในพระบาลีอันพระสารีบุตร ได้รจนาไว้นั้น นับว่าเป็น "ความลับสุดยอด ของอานาปานัสสติ" ที่ผู้ปฏิบัติจักต้องพึงทราบ นั่นคือ เมื่อปฏิบัติได้ครบวงรอบ คือ ในลักษณะทั้ง ๓ แห่งไตรลักษณ์(๓ จังหวะ) อย่างสมบูรณ์ดังได้กล่าวไปในการบรรยายครั้งที่แล้วนั้น จักมีผลให้สิ่งอันปิดบังขวางกั้นทั้งปวงบนพื้นพิภพนี้ ไม่เป็นอุปสรรค์แก่ผู้ปฏิบัติอานาปานัสสติอย่างสิ้นเชิง ไม่มีความลับใด ๆ ที่จะซ่อนพ้นผู้ปฏิบัติอานาปานัสสติสมบูรณ์ได้เลย นี่คือความหมายโดยสรุปย่อ ๆ
เพื่อให้เข้าใจกระจ่าง ในความหมายแห่งพระบาลี จึงต้องอาศัยมหานิเทส คือ ขยายความในศัพท์ต่าง ๆ ของพระคาถาของพระสารีบุตรอรหันตเถรเจ้า เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติ และเพื่อคัดเรียบเรียงไว้ไม่ให้สูญหายต่อไปในภายภาคหน้า
ในอานาปานัสสติ นั้น จะให้ความสำคัญของ "ลมหาใจ เข้า และ ออก รวมทั้ง การระงับลมหาใจ คือ การทรงลม-ตั้งลม ทั้งสามจังหวะนี้เป็นที่สุด"
ลมหาใจเข้าชื่อว่า "อปนา(อ่านว่า อะ-ปะ-นา) ไม่ใช่ลมหาใจออก สติ(ระลึกรู้อารมณ์) ตั้งอยู่ที่ลมหาใจออก
คำว่า "ปริปุณฺณา" หมายถึง ความบริบูรณ์ เพราะอรรถว่า "ถือเอารอบ"(ครบ ๓ จังหวะ คือ เข้า ตั้ง ออก) เพราะอรรถว่า "รวมไว้" แลเพราะอรรถว่า "เต็มรอบ"
คำว่า "สุภาวิตา" หมายถึง ภาวนา ๔ คือ
๑. ที่เรียกว่า "ภาวนา" นั้นเพราะอรรถว่า "ที่ตั้งแห่งลม(ธรรม=ที่ตั้ง,ทรงไว้) แห่งลม ในอานาปานัสสตินั้น มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
๒. เพราะสังขารทั้ง ๓ คือ กายสังขาร(กายนอก) วจีสังขาร(วาจา) มโนสังขาร(กายในกาย) สนธิรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
๓. เพราะ นำไปซึ่งความเพียรอันสมควรแก่ที่ตั้งแห่งลมทั้งหลาย ไม่ก้าวก่ายกัน (คือการทรงลมในนิยะมะ=ฐาน=ธาตุ ทั้ง ๕ นั้นมีตำแหน่งเฉพาะ และปรับเปลี่ยนหมุนเวียน(จักร-วัฒน) ไม่สับสน
๔. เพราะเป็นที่ซึ่งโยคาวจร ย่อมอาศัยอารมณ์และเข้าอยู่(ทรงสภาวะ)ในวิหารธรรม(ฐานที่ตั้ง)นั้น
ภาวนา จึงมีความหมายดังกล่าวมาทั้ง ๔ ประการ เป็นอรรถแก่ภิกษุผู้พึงกระทำให้เป็นดังยาน พึงกระทำให้เป็นที่ตั้ง พึงน้อมไป พึงอบรม(เพียรปฏิบัติ) ปรารภเสมอดีแล้ว ฯ
ข้อคำอธิบายดังได้กล่าวมา เป็นนิเทสขยายความในพระบาลี อันพระสารีบุตรอรหันตเถรเจ้า ได้จารึกไว้ ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวด้วย "ภาวนา" ในส่วนขยายความตอนจากนี้ จะได้นำมาบรรยายให้สาธุชนได้ค้นคว้าศึกษากัน ในครั้งต่อไป
ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ จงดลบันดาลให้สาธุชนผู้มีกุศลเจตนา ฝักใฝ่ในการปฏิบัติ จงเจริญก้าวหน้า ปรารถนาสิ่งใดอันเป็นกุศล จงสัมฤทธิ์ผลทันตา เทอญ....เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗
ความลับของอานาปานัสสติ ตอน 2
สาธุชนพึงสดับ ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งได้มาเฝ่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถามว่า "พระพุทธเจ้าข้า มีวิธีปฏิบัติแบบพิเศษ บรรลุเฉียบพลันทันที บ้างหรือไม่...?"
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า " ดูก่อนพราหมณ์ อันวิถีทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร คือนิพพานนั้น ไม่มีวิธีลัด เปรียบประดุจดั่งเดินจากชายหาดลงไปในมหาสมุทร์ ย่อมค่อย ๆ ทอดลึกลงไป การปฏิบัติย่อมเป็นเช่นนั้น พราหมณ์"
ในความหมายของพุทธพจน์ส่วนนี้ ทรงอธิบายชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าไม่มีทางลัด การปฏิบัติย่อมเป็นไปตามขั้นตอน และค่อย ๆ ลึกซึ้งไปเรื่อย ๆ ดังนี้
.... สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทราบ คือ ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะอุบัติขั้นบนพื้นพิภพนี้ ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วถึง ๓ พระองค์ และแน่นอนที่สุด การเผยแผ่พื้นฐานของการปฏิบัติ ก็ได้สืบต่อกันมาจนถึงยุคพุทธกาล ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญฌาน(ชาน) เข้าสมาบัติ หรือ การเข้านิโรธ ก็มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งเรียกว่า "โยคี" ในภาษาปฏิบัติ เรียกว่า "โยคาวจร" คือผู้จารึกไปเพื่อหาทางหลุดพ้น
พระพุทธองค์ทรง เสริมต่อยอดในส่วนการปฏิบัติอันมีการถ่ายทอด ณ ขณะเวลานั้น ให้เต็ม คือ ให้เข้าสู่หนทางแห่งพระนิพพานได้ พระองค์จึงทรงได้รับการยกย่องจากเหล่านักปฏิบัติ อันเรียกว่าศาสดาทั้งหลายในยุคนั้นว่า เป็น"พระบรมศาสดา" เพราะทรงรู้หนทางพ้นทุกข์ และมีวิธีปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์คือการเวียนว่ายตายเกิดได้จริง ซึ่งเหล่าโยคีทั้งหลายที่ปฏิบัติมาได้เพียงฤทธิ์ สูงสุดคือแค่พรหม ไปไม่ถึงนิพพาน แต่รู้ว่านิพพานมี แต่หาวิธีปฏิบัติไม่ได้ นั่นเอง
ดังนั้น การปฏิบัติโดย อานาปานัสสติ คือ การกำหนดระลึกรู้ลมหาใจเข้าออก ก็มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว การกำหนดฐาน(นิยะมะ)ธาตุ ก็มีมาแต่เดิมในส่วนของโยคะ ซึ่งใช้ในการควบคุมธาตุ(มหาภูตรูป) แต่แยกไปเป็นส่วน ๆ แล้วแต่อาจารย์ไหนชำนาญด้านไหน ซึ่งเรียกว่า "กสิณ"
รวมทั้ง การสัมปยุตธาตุ(อธิษฐาน) ให้สรรพสิ่งเป็นไปดั่งประสงค์ของโยคาวจร ก็ล้วนมีมาก่อนพระพุทธศาสนา
จึงไม่พักต้องกล่าวถึงการทำสมาธิ ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดา ของยุคพุทธกาลที่เหล่าโยคีปฏิบัติได้ มีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศ มุดน้ำดำดิน คุยกับเทวดาเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงเข้าศึกษาปฏิบัติกับกาฬเทวินดาบส และอุทกดาบส จนหมดวิชา พระองค์สำเร็จฌานสมาบัติ๘ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า การจะดำเนินไปสู่ทางพระนิพพานนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยวิถีทางเดียวกัน เปรียบประดุจดั่งสร้างบ้าน(ไม่ใช่เพิงหมาแหงน) บ้าน ต้องเริ่มด้วยเสา พาดตง ลงคาน วางพื้น ขึ้นหลังคา แล้วใส่ฝา ฯลฯ การสร้างบ้ายย่อมต้องสร้างไล่ไปตามลำดับ ไม่มีวิีธีอื่น (แม้แต่สมัยปัจจุบัน ก็ไม่มีการเอาหลังคาไปแขวนไว้ในอากาศ แล้วตั้งเสาทีหลัง ถึงจะเป็นบ้านชิ้นส่วนประกอบสำเร็จก็เหอะน่า...!!)
การปฏิบัติอานาปานัสสติ เปรียบดั่งเสา ที่รองรับน้ำหนักของบ้าน และก่อให้เกิดรูปทรงเป็นบ้าน ส่วนกสิณเปรียบเสมือนพื้นบ้าน ส่วนสมาบัติ,นิโรธคือห้องในตัวบ้าน(ห้องที่อาศัย=วิหารธรรม) ญาน คือหอคอย ดาดฟ้า ที่ตรวจการณ์ ดั่งนี้เป็นต้น
ยิ่งก่อสร้างบ้านใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งต้องปักเสาให้ลึกมากเท่านั้น นั่นหมายถึง การจะปฏิบัติมุ่งสู่พระนิพพานต้องอาศัยโอปกันนศัทธา ต้องมีพื้นฐานอานาปานัสสติ ที่ลึกอย่างยิ่ง
ฉะนั้น ความสำคัญของอานาปานัสสติ จึงจัดว่าเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่ง หากบ้านทรงสูง หรือตึกเสียดฟ้า หากปราศจากเสียซึ่งเสาที่มั่นคง ก็ไม่อาจทนทานต่อลมพายุร้าย(กิเลส ตัณหา ราคะ อนุสัย) หรือแผ่นดินไหว ได้อย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้พระสารีบุตรอรหันตเถรเจ้า จึงรจนาถึงความสำคัญในส่วนของอานาปานัสสติไว้เป็นพิเศษยิ่ง
ในบทแห่งคาถา ว่าด้วย "ความลับแห่งอาปานัสสติ" บาทต่อไปนั้นมีว่า
"ยานีกตา" มีความหมายว่า "..ภิกษุนั้น หวังในที่ตั้ง(ลม)ใด ๆ ย่อมต้องถึงพร้อมสังขาร๓ ด้วยความชำนาญ ด้วยกำลังแห่งความเพียร(วิริยะ) พร้อมด้วยความมุ่งมั่น(จิตตะ) ที่ตั้ง(ลม)เหล่านั้นอันภิกษุนั้นประสงค์ ย่อมทรงสภาพอยู่ด้วยอารมณ์(สติ) ในมนัสสิการ(สัลลักขณา) เป็นเครื่องอาศัย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่าให้เป็นดั่ง "ยาน" ฯ
"วตฺถุกตา" มีความหมายว่า เมื่อ "ใจ" มั่นคงดีในนิมิตแห่งธาตุวัตถุอันกำหนด ระลึกอยู่ไม่สอดส่าย ภาพนิมิตวัตถุธาตุนั้นปรากฏชัด แลนำนิมิตแห่งวัตถุที่กำหนดนั้นมาตั้งไว้ ณ ฐาน(นิยะมะ) อันกำหนด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า ให้เป็นดั่ง "ที่ตั้ง" ฯ
"อนุฏฺฐิตา" มีความหมายว่า เมื่อใดที่ระลึกรู้ที่จะแปรเปลี่ยนฐานที่ตั้งธาตุ ให้หมุนไป ณ นิยะมะ(ฐาน)ใด แห่งมหาภูตรูป ก็ระลึกอยู่ได้ คุมอยู่ได้ด้วยอาการนั้น ๆ หรือ เมื่อระลึกให้แปรเปลี่ยนฐานที่ตั้งธาตุ ก็น้อม "ใจ" พร้อมไปด้วยการเปลี่ยนแปรแห่งฐานนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า "ให้ ใจ ตามติดไป น้อมตามไป" ฯ
ด้วยพลานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ขออุปสรรค อุปัทวภัยจงห่างพ้น สิ่งใดอันปรารถนาที่เป็นกุศล เสริมสร้างเป็นประโยชน์แก่ตน สังคม ประเทศชาติ จงบังเกิดขึ้นมิได้ขาด ทั้งลาภยศ สรรเสริญ ความเจริญในหน้าที่การงาน ดั่งอธิษฐานโดยพลันเทอญ ...เจริญพร
หมายเหตุ :: ภาพประกอบ วตฺถุกตา และ อนุฏฺฐิตา ได้แสดงไว้เป็นภาพที่ 2
คำสอนพระอาจารย์ 28 มีนาคม 2557
ทาชิ เดเล ... ขอความสมหวังอันเป็นมงคล ดั่งที่ท่านปรารถนาจงปรากฏเทอญ
พระสารีบุตรอรหันตเถรเจ้า ได้ย้ำเน้นถึงความสำคัญ ของการปฏิบัติอานาปานัสติ ถึงการ "ครบรอบ" ดังปรากฏ อธิบายถ้อยคำ ในพระคาถานั้น ว่า
"ปริจิตา" หมายความว่า พึงใช้สติระลึกตามลมหาใจให้ครบรอบ โดยถือเอารอบหนึ่ง ๆ คาบหนึ่ง แห่งลมหาใจ พึงอบรมให้แคล่วคล่อง ในลักษณะทั้ง ๓ คือ อัสสาสะ ๑ ระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ ๑ ปัสสาสะ ๑ ดังนี้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า "อบรม"
"สุสมารทฺธา" ก็ด้วยอารมณ์ที่ทรงไว้ ณ ฐานธาตุ(นิยะมะ) อันได้ปรารภ กำหนดไว้ก่อนจะเริ่มเคลื่อนลมอัสสาสะ(ลมหาใจเข้า) ว่าจะไปทรงลมไว้ ณ ฐานใดตำแหน่งใด นี้คือ ปรารภดี
เพราะอรรถว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นจาก อำนาจแห่งอานาปานัสสตินั้น จะไม่แปรเปลี่ยนอีกเลย
"สุสม(สุ-สะ-มะ)" หมายความว่า มีทั้งความนิ่งสงบเสมอกันอันเลิศ และความนิ่งสงบเสมอกันอันประเสริฐสุด
ก็ความเสมอเลิศ นั้นเป็นไฉน ?
อันประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจากความนิ่งสงบเสมอกัน แห่งสังขาร ๓ ณ ตำแหน่งที่ทรงลม(องค์ธรรม) นั้น ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการตรัสรู้ นี้เป็นความเสมออันเลิศ
ความเสมออันประเสริฐสุดเป็นไฉน ?
การดับลงแห่งอารมณ์ ณ ตำแหน่ง(นิยมะ-ฐานธาตุ) อันโยคาวจรได้กำหนดไว้แล้วนั้น เป็นนิพพาน นี้เป็นความนิ่งสงบเสมอกัน อันประเสริฐสุด
ความนิ่งสงบเสมออันเลิศ และ ความนิ่งสงบเสมออันประเสริฐสุดที่กล่าวมานี้ ภิกษุนั้นรู้แล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ด้วยความเพียรแห่งอิทธิบาท
ภิกษุนั้นไม่ย่อหย่อน ตั้งปรารถนาไว้มั่นคงแล้ว มีสติระลึกอารมณ์ตั้งมั่นไว้ ณ นิยะมะอันประสงค์ไม่หลงลืม เมื่อ กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ถึงพร้อมในวาระจิตเดียว อารมณ์เดียว ณ นิยะมะนั้น เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า "สุสม" มึความนิ่งสงบเสมอกันอันเลิศ มีความนิ่งสงบเสมอกันอันประเสริฐสุด ดังนี้ ฯ
คำว่า "โลโก" หมายความถึง ขันธโลก ธาตุโลก(เรามักเรียกว่า โลกธาตุ) อายตนโลก วิปัติภวโลก วิปัตติสัมภวโลก สัมปัตติภวโลก โลก ๑๘ หรือ ๑๘ โลกธาตุ
หมายความว่า โลกทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สิ่งอันใดอัน เป็นไป ไม่ว่าจะโดยลักษณะใด ย่อมปรากฏแก่โยคาวจรผู้บรรลุอานาปานัสสติ หากเธอปรารถนาจะรู้สิ่งนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า "โลโก"
คำว่า "ดุจดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญ ที่พ้นจากหมอกเมฆ" หมายความว่า ความสว่างไสวแห่งปัญญา อันเกิดจากอานาปานัสสติ ย่อมขจัดความมืดมนต์แห่งอวิชชา ที่บดบังหนทางก้าวเดินไปสู่พระนิพพาน
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า " จันทิมาติ" ดังนี้
จะเห็นได้ว่า ความลับที่แฝงเร้นซ่อนอยู่ในการปฏิบัติอานาปานัสสตินั้น มีอานิสงค์และผลลัพท์มากมายเกินกว่าที่เราเคยได้รับรู้กันมา ซึ่งแน่นอน เรารู้กันเพียงว่า "อานาปานัสสติ คือการทำสมาธิด้วยการหายใจเข้าออก" เท่านี้เอง ....เท่านี้จริง ๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
และ ที่ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตั้งตนเป็นอาจารย์บอกกรรมฐานอานาปานัสสติ ก็ยังไม่ให้จดจำนิมิต ทั้ง ๆ ที่คำว่า "นิมิต แปลว่า เครื่องหมายที่ใช้จดจำ" นั่นหมายถึงว่า แม้แต่อารมณ์ที่สติระลึกรู้ตามลมหาใจเข้าออกนั้นก็เรียกว่า "นิมิต" ด้วย ซึ่งต้องใช้เป็นตัวระลึก แต่อาจารย์กลับห้าม บอกมีนิมิตไม่ได้ ...นี่แหละ ความสำเร็จในอานาปานัสสติจึงไม่เกิดขึ้น แม้กระทั่งตัวคนที่สอนกรรมฐานเอง ..ก็เอาตัวไม่รอด .. เพราะไม่รู้จริง พิสูจน์ไม่ได้ อธิษฐานไม่เป็น ...
ความสำคัญของอานาปานัสสตินี้ ยิ่งใหญ่มาก จัดว่าเป็นรากแก้ว ที่นักปฏิบัติจักต้องเริ่มก่อนที่จะเข้าสู่ภาคสติปัฏฐาน ซึ่งถ้าหากเราอ่าน "มหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะพบเพียงว่า " ภิกษุทั้งหลาย จงเลือกเรือนว่างโคนไม้ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง...ฯลฯ"
ซึ่ง คนเริ่มปฏิบัติใหม่ หรือ คนที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐาน คิดว่าตัวเองเก่งตำรา ก็ทำตาม "คัมภีร์มหาสติปัฏฐานสูตร" นั้นเลย โดยหารู้ไม่ว่า อันที่จริงแล้วก่อนที่จะเข้าสู่สติปัฏฐานนั้น จะต้องผ่านการปฏิบัติอานาปานัสสติให้เชี่ยวชาญ อย่างเป็นขั้นตอนมาเสียก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่ภาค กายในกาย ตามข้อ ๑ แห่งสติปัฏฐานได้
ไม่ใช่จู่ ๆ เริ่มขึ้นมาก็จะเข้าสู่สติปัฏฐาน ทำสองสามวัน จะไปนิพพาน...เออ เจริญเถอะ...นี่แหละแม้ว่าจะมีศรัทธา ความเชื่อมั่น แต่เดินบันไดวน มันไปไม่ถึงไหน อยู่กับที่และเหนื่อยเปล่า เนื่องจากไม่รู้จริง ว่าจุดเริ่มต้นที่ตรงไหน และ ทิศ ทาง ที่จะไปตรงไปยังเป้าประสงค์ที่ปรารถนาหรือเปล่า
พระสารีบุตรอรหันตเถรเจ้า ได้รจนา "ความลับแห่งอานาปานัสสติ" โดยแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือระดับที่ปฏิบัติด้วยกายเนื้อ(กายนอก-กายสังขาร) เรียกว่า อุปจารสมาธิ ซึ่งเรามักจะรู้จักกันว่า สมาธิเฉียด ๆ (ความจริงคำว่าเฉียด ๆ น่ะ ไม่ธรรมดานะ เพราะเฉียดฌาน มีฤทธิเกือบเหาะได้ หนังเหนียว คงกะพัน กันไฟ ไล่ผี ได้แล้ว) อันนี้เป็นส่วนภายนอก คือ คุมปัญจทวาร เรียกว่า ปัญจทวารวิถี
ต่อมา เมื่อสามารถควบคุมกายนอก(กายสังขาร) คือผ่านชั้นอุปจารสมาธิแล้ว นั่นแหละถึงจะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติ สติปัฏฐาน คือ ใช้กายในกายเป็นตัวทำสมาธิ เรียกว่า "อัปปนาสมาธิ" ซึ่งจะเป็นภาคส่วนของ มโนทวารวิถี เป็นการระลึกรู้ และความแตกต่างของ"อารมณ์ไปตั้งไว้ ณ ฐานที่ตั้งของใจ" จึงเรียกว่า "ธรรมารมย์(ธรรมะ=ที่ตั้ง+อารมณ์" ปัญญาวิมุติ หรือ ความรู้แจ้งแห่งการหลุดพ้น ก็จะเกิดจากส่วนของมโนทวารวิถี คือ ใจ ส่วนเดียวเท่านั้น ดังนี้
ขอความผาสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแด่สาธุชนทุกท่านทั่วกันเทอญ เจริญพร