คำสอนพระอาจารย์ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
บนเส้นทางที่สาธุชนผู้ใฝ่ในธรรม และการปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ที่จะต้องพบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้คือ "บททดสอบ" อันเปรียบเสมือนกับ การเรียนในมหา'ลัย ย่อมต้องมีการ "สอบ" เพื่อให้ตัวผู้เรียนนั้นได้รับรู้ตนเองว่า มีความสามารถ "จริง" รู้จริงตามที่ได้เรียนมาหรือไม่ ? ... และแน่นอน ข้อสอบยิ่งต้อง "ไม่ง่าย" และก็ไม่มีมหา'ลัยไหน ที่บอกข้อสอบนักศึกษาให้รู้ก่อนสอบอย่างแน่นอน
ยิ่งข้อสอบยากเท่าใด ผู้ที่สอบผ่านได้ "ยิ่งภาคภูมิใจ ในความสามารถของตน" เท่านั้น .... นี่คือสภาพความเป็นจริงที่เทียบได้กับ สภาวะของผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค
การปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค คือการเดินขึ้นสู่ยอดเขาที่สูงเสียดเมฆ เป็นการยกระดับ กาย วาจา ใจ ให้พ้นจากสภาวะของสามัญมนุษย์ปกติทั่วไป
สิ่งที่จะต้องมี และขาดเสียมิได้ตั้งแต่เริ่มแรกคือ "สัจจะ" ว่าเราต้องไปให้ถึงยอดเขา...คนที่อยู่พื้นราบก็ถามว่า จะขึ้นไปทำไม ? อยู่ข้างล่างนี่ก็ดีอยู่แล้ว นั่งนอนสะบาย ไม่เห็นจะต้องขึ้นเขาไปให้ลำบาก
พื้นราบ เปรียบได้กับ สภาวะแห่งปกติมนุษย์ทั่วไป ที่ต้องเกลือกกลั้ว ทนรับสภาพแห่งความทุกข์ ความผิดหวัง ความเลวร้าย ทุกข์โศก โทมนัส และสารพัดปัญหาสิ่งที่ไม่ต้องการ ฝุ่นผง มลภาวะ(อนุสัย) มากมาย
แต่บนเขา ยิ่งสูงขึ้นไป อากาศยิ่งบริสุทธิ์ มีธรรมชาติอันสวยงาม เต็มไปด้วยความสุข สมหวัง เพียบพร้อมไปด้วยครูบาอาจารย์ ฤาษีผู้มีฤทธิ์ เทพยดา วิทยาธร ที่จะประสิทธิประสาทวิชชาสารพัดที่เราปรารถนา ซึ่งเหนือกว่าสามัญมนุษย์พื้นราบจะมีโอกาสได้รับ
และยิ่งสูง ยิ่งพ้นจากปัญหา เมื่อมองกลับลงมาจากเขา จะเห็นได้ว่าพื้นราบอันเคยเป็นไร่นากว้างใหญ่นั้น เหลือเพียงนิดเดียว เปรียบเสมือน "ปัญหาใหญ่หรือไม่ อยู่ที่ว่าเราอยู่ในตัวปัญหา หรือ เข้าไปใกล้ต้วปัญหานั้นแค่ไหน ?" ยิ่งสูงเท่าใด ปัญหานั้นย่อมเล็กลง และไม่เหลือตัวปัญหานั้นให้เห็นในที่สุด นี่คือสัจจธรรมอันจริงแท้
การปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค คือการยกระดับ กาย วาจา ใจ ให้สูงพ้นจากสภาวะแห่งสามัญมนุษย์ทั้งปวง ด้วยว่า "อุปสรรคอยู่ที่ภายใน(ใจ) ส่วนปัญหานั้นอยู่ภายนอก" ....ในวันพรุ่งนี้เรามาต่อกันว่า จะชนะอุปสรรค และ ปัญหาทั้งปวงได้อย่างไร ?
ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ ขอจงประสิทประสาทพรให้ท่านทั้งหลาย จงเจริญก้าวหน้า ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สารพัดสิ่งอันปรารถนา แคล้วคลาดภยันตราย ได้รับแต่โชคชัยในชีวิต ธุรกิจ ตำแหน่งหน้าที่การงาน จงทุกประการ ทุกท่านเทอญ ฯ ...เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
อุปสรรค กับ ปัญหา เป็นสิ่งที่ดูคล้าย ๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันหากไม่แยกแยะให้ถูกต้อง ก็ไม่อาจขจัดอุปสรรค และแก้ปัญหาได้
เราจะเห็นได้ว่า อุปสรรค เมื่อต้องการให้หมดไป จะใช้พฤติกรรมด้วยการ "กำจัด หรือ ขจัด" หมายถึง "การหมดสิ้นไปอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ไม่เหลือเชื้อ ไม่เหลือซาก" นี่คือลักษณะพฤติกรรม
ส่วน "ปัญหา" จะใช้พฤติกรรมด้วยการ "แก้ไข" ซึ่งแปลได้ง่ายกว่า เป็นพฤติกรรมที่เรียบง่าย นุ่มนวลกว่า และอาจเหลือเชื้อ หรือ รากเง่าของปัญหานั้นไว้ อันจะเห็นได้จากคำว่า "แก้" เป็นลักษณะพฤติกรรมที่ใช้กับเชือก หรือ วัตถุชนิดเส้นที่พันกันยุ่งเหยิง ต้องแก้หรือรื้อมาม้วนเรียงเสียใหม่ โดยของเก่าไม่เสียหาย
คำว่า "ไข" เป็นลักษณะของพฤติกรรมแห่งการ "เปิดออก เผยสิ่งที่ปิดไว้" เช่นไขกุญแจ เป็นต้น จึงมักใช้ร่วมกับตัวปัญหาเรียกเป็นคำว่า "ไขปัญหา" เป็นต้น
"ปัญหา" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติของธรรมชาติ แห่งการอยู่ร่วมของมวลสรรพสิ่ง เป็นเรื่องที่เกิดจากสิ่งภายนอกทั้งสิ้น เปรียบได้กับมลภาวะ สภาพแวดล้อม หากเทียบกับทางธรรมะก็จะได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นทางปัญจทวาร คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งมาจากภายนอก อันเป็น"เหตุ" ให้เกิดขึ้น ดังนั้น การ "แก้-ไข" จึงต้อง"แก้-ไข" จากภายนอก ดั่งพุทธพจน์ที่ทรงตรัสว่า "ธรรมใดเกิดแต่เหตุ แก้ที่เหตุแห่งธรรมนั้น"
"อุปสรรค" เป็น"อารมณ์" อันเป็นผลที่รับมาจากตัวปัญหา นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก "ภายใน" เทียบทางธรรมะคือ "ธรรมารมย์" มาจากคำว่า ธรรมะ=ที่ตั้ง+อารมณ์=ธรรมารมย์
ในส่วนของ"ธรรมารมย์" เกิดขึ้นทาง"มโนทวาร=ใจ จึงต้องใช้การ "กำจัด หรือ ขจัด" อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับ "ใจ" อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ให้เกิดอารมณ์นั้น ๆ ขึ้น อุปสรรคดังกล่าวจึงจะมลายหายสูญไปได้ แต่ถ้าหากไม่กำจัดออกไปเสียจาก "ใจ" อุปสรรคนั้นก็จะตามติดไปไม่มีวันหมดไป ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า "ปัญหาซ้ำซ้อน หรือ ปัญหาแทรกซ้อน" ในอนาคต
ในวันนี้จะขอยกตัวอย่างอุปสรรคเล็ก ๆ อันเป็นปกติที่ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค มักประสบ คือ "มีความรู้สึก" ว่าการปฏิบัติไม่ได้ผล ...ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีอุปสรรค ก่อให้เกิดความไม่แน่ใจ ลังเล สงสัยว่า สิ่งที่ปฏิบัติมานี้ถูกต้องหรือไม่ ? หากถูกต้องทำไมไม่ดีขึ้น ทำไมจึงมีแต่ความกลุ้ม "ใจ" หรือ มีเรื่องรำคาญ "ใจ" เข้ามาตลอด ??
ดังได้กล่าวไปในคราวที่แล้วว่า ... การปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค คือการเดินขึ้นภูเขาสูง(การยกระดับชีวิตแห่งสามัญมนุษย์ขึ้นสู่ระดับอริยบุคคล) สิ่งแรกที่ขาดเสียมิได้คือ "ใจ เราพร้อมหรือยัง ที่จะก้าวให้พ้นจากสภาวะเดิม ที่ต้องทนทุกข์ทรมาณ อยู่กับความผิดหวัง ความซวยซ้ำซาก จนเคยชินนั้น...ใจเราตอบตัวเองได้หรือยัง ว่า "พร้อมหรือไม่พร้อม ?"
นั่นก็เปรียบได้กับ การฝึกฝนร่างกายให้พร้อมกับการขึ้นภูเขา ในที่นี้ได้แก่ "การฝึกให้ปากกับใจ พร้อมกัน" เพื่อกล่าวสัจจะวาจา "ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา" เพราะนี่คือ องค์มรรคเรียกว่า "สัมมาวาจา เป็น หัวใจแห่งศีล" จัดเป็นสิ่งแรกที่ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ต้องผ่านการฝึกฝนปฏิบัติขั้นนี้ให้ได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น หรือกล่าวลอย ๆ เพราะ...
มีพุทธพจน์กำหนดไว้ชัดเจน ถึงโทษของผู้ปฏิบัติอันมิได้กล่าวสัจจะวาจาถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา "ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติโดยสิ้นเชิง" ดังนี้ว่า
"...จริงอยู่ โยคาวจรบุคคล ครั้นมิได้ถวายตน(เป็นพุทธบูชา)อย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ในที่เสนาสนะอันสงัด ครั้นอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏในคลองจักษุ ก็ไม่สามารถยับยั้งตนอยู่ได้ จะหลีกเลี่ยงหนีไปยังแดนหมู่บ้าน กลายเป็นผู้คลุกคลีด้วยคฤหัส ทำการแสวงหาลาภสักการะอันไม่สมควร ด้วยอาการทุจริตต่าง ๆ มิช้าก็ถึงความฉิบหาย.."(พระไตรปิฏกบาลี, ปฏิสัมภิทามรรค)
แม้ผู้ปฏิบัติอันเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ย่อมถึงความฉิบหาย ไม่แตกต่างกัน...ดังนั้น ความสำคัญแห่งการ "กล่าวสัจจะวาจาถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา" จึงมีความสำคัญเป็นสิ่งแรกแห่งการปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ก่อนที่จะก้าวไปสู่การปฏิบัติขั้นต่อไป เปรียบเสมือนต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินก้าวแรกขึ้นเขาสูง ฉะนั้น
สาธุชนที่ประสบกับอุปสรรคในการปฏิบัติ ให้ตรวจสอบตนเองในชั้นต้นเสียก่อนว่า "ได้กล่าวสัจจะวาจา = ปากกับใจ พร้อม กันหรือไม่ จริงหรือเปล่า ?" เพราะนี้จัดเป็น "อุปสรรค" อันเกิดจาก "ใจ" ไม่พร้อม ซึ่งเราจะกล่าวถึงวิธีแก้ไขอย่างได้ผลส่วนนี้ต่อไป
ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย อันมีพุทธานุภาพเป็นเบื้องต้น ขออำนวยศุภผล ให้สาธุชนผู้ใฝ่ในธรรมปฏิบัติ จงประสบแต่ความสุข สมหวังดั่งปรารถนาที่อธิษฐานทุกประการเทอญ...เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ดังได้กล่าวไปแล้วว่า "ปัญหา" เกิดจากสภาวะแวดล้อมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รับรู้ได้ทางปัญจทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
แต่ "อุปสรรค" นั้นเกิดจากภายใน คือ อารมณ์อันเกิดจากผล ที่ปัญจทวารรับเข้ามาสู่มโนทวาร หรือเรียก "ใจ"
อุปสรรค จะมีลักษณะ ฉุดรั้ง ขวางกั้น ทางการปฏิบัติก็คือ นิวรณ์ และอุปกิเลศ นั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ยืนยันชัดเจนว่า นิวรณ์ ต้องใช้การ "กำจัด ให้หมดไปจากใจ อย่างเด็ดขาด เท่านั้น"
วิธีการ "กำจัด" ให้หมดสิ้นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ต้องใช้วิธี "หนามยอก หนามบ่ง หรือ เกลือจิ้มเกลือ" หมายความว่าอย่างไร ? ก็หมายความว่า "อุปสรรค เกิดจากอารมณ์ ก็สร้างอารมณ์ขึ้นมาใหม่ และป้อนเข้าไปสู่มโนทวารแทนที่อารมณ์เก่า" นั่นเอง
มันเป็นกฏPhysicขั้นพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสั่งสอนถ่ายทอดมาก่อนนักวิทยาศาสตร์จะค้นพบกว่า 2500 ปี นั่นคือ "กฏของการแทนที่(URAKA)" นั่นเอง
ท่านสาธุชนผู้เป็นนักปฏิบัติทั้งหลาย เราต้องไม่ลืมว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ล้วนเป็นสมมุติ เมื่อใจรับเอาสิ่งเหล่านั้นโดยทางปัญจทวารเข้ามาจึงกลายเป็น "ธรรมารมย์" อารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยแรงกระตุ้นของมหาภูตรูป๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งก็เป็นสมมุติ... ก็ด้วยเหตุที่สิ่งทั้งหลายเป็นสมมุตินี้ เรา=นักปฏิบัติ จึงสามารถสมมุติ "อารมณ์" นั้น ๆ ขึ้นมาใหม่ได้ และใส่เข้าไปแทนที่ของเดิม...อย่าเพิ่ง ..งง
เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย คงได้ผ่านประสบการณ์ หรือได้รับการสั่งสอน หรือไม่ก็คงได้รับรู้มาบ้างแล้ว เช่นว่า "เมื่อลิ้มรสอาหาร ชนิดใดที่อร่อย ถูกปาก ก็ให้ระลึกอารมณ์ของรสชาดที่อร่อยนั้นไว้" เพื่ออะไร ก็เพื่อที่ว่าในครั้งต่อไป ไม่ว่าจะลิ้มรสอาหารอะไร ก็ให้เอาอารมณ์อร่อยนั้นมา ทำให้สามารถรัปทานอาหารได้อร่อยทุกชนิด แม้กระทั่งใบไม้ก็อิ่มได้เหมือนข้าว (ที่มาของพระธุดงค์เสกใบไม้กินต่างข้าว) และเป็นที่มาของพุทธพจน์ว่า "ภิกษุคือผู้เลี้ยงง่าย" ก็โดยการจัดสร้างอารมณ์นี้ขึ้นมา แล้วนำไปให้โวฏทัพนะจิต ส่งเข้าไปเก็บไว้ในสัญญา หรือ ธนาคารความจำ เมื่อต้องการใช้...หมายถึงเมื่อรัปทานอาหาร ก็นำเอาอารมณ์อร่อย ถูกปาก นั้นมาใช้ ดังนี้
ในส่วน อุปสรรค อันก่อให้เกิดความท้อถอย ภาษานักสู้เรียกว่า "ถอดใจ" คือ ใจไม่สู้ซะแล้ว ยังไง ๆ ก็แพ้ ประเภทไดโนเสาร์ตัวใหญ่แพ้ฟรินสโตน(มนุษย์หิน)ตัวนิดเดียว ยังไงยังงั้น ... นักปฏิบัติหลาย ๆ ท่าน เมื่อปฏิบัติไประยะหนึ่ง ถึงช่วง "บททดสอบ ที่อกุศลกรรมแสดงผล" คือ อธิษฐานไม่ได้ดั่งปรารถนาบ้าง เกิดอุปสรรคขึ้นในชีวิตครอบครัว ธุรกิจ การงาน ทั้งที่ตัวเองก็ว่าสวดมนต์แล้ว ตั้งลมก็แล้ว เดินปะคำ ทิ้งขนนก สารพัดอย่าง ทำหมด แต่ไม่เห็นได้อะไร มีแต่แย่ลง ๆ ความคิดเกิดขึ้นยังงั้น และในที่สุดก็ "ท้อ(ที่จริงท้อน่ะเค้ามีให้ลิงถือ อยู่หน้ากะปุกยาหม่อง..นะ) เลิกทิ้งไปเลย เรียกว่า "ถอดใจ หรือ แพ้ใจตัวเอง จริงแล้วคือ พ่ายแพ้แก่นิวรณ์ อันเป็นอุปสรรค หรือ บททดสอบที่ขวางกั้นทางไปสู่ชัยชนะ..."
การ "กำจัด นิวรณ์=อุปสรรค" นี้ ทำได้ไม่ยากเลย เพียงการ "สร้างอารมณ์แห่งชัยชนะขึ้นมา แทนที่อารมณ์ท้อถอย พ่ายแพ้นั้น" คำถามคือ ทำอย่างไร ? หมายถึง วิธีทำ หรือ วิธีปฏิบัติ น่ะ ! คงอยากรู้อย่างใจจดใจจ่อ แล้วซิ
วิธีการให้ทำดั่งนี้คือ ให้ระลึกถึงภาพ และความรู้สึกในอดีต ในวันที่เราได้รับปริญญา หรือ รับถ้วย รับรางวัลในการแข่งขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ให้เห็นภาพชัด ๆ ลองทบทวนกลับไป ในวันที่เรารับปริญญา เตรียมตัว เตรียมเสื้อครุย ซ้อมรับกันเป็นอาทิตย์ เหนื่อย แต่ตื่นเต้น ณ วินาทีที่เราได้รับพระราชทานปริญญา วินาทีนั้นมันประทับในความรู้สึก ว่าทั้งชีวิตและเวลาที่เราได้ทุ่มเทให้นั้น มันมีค่า คือ"ความสำเร็จเพียงแค่วินาทีนั้นจริง ๆ" มันเป็นความรู้สึก อารมณ์ที่ไม่อาจบรรยายได้ด้วยตัวอักษร แต่สัมผัสรับรู้ได้ด้วยใจ ก็อารมณ์ตรงนี้แหละ ให้นำไป "ตั้งไว้ ณ ตำแหน่งของใจ แทนที่อารมณ์ท้อถอยนั้น ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้" และความรันทดท้อถอย จะเสื่อมหายไปอย่างมหัศจรรย์ และสิ่งใหม่ อารมณ์ใหม่จะเกิดขึ้นมาแทนที่คือ "อารมณ์แห่งชัยชนะ แบบ อ๊ะ ...กูก็ทำได้.." นี่แหละเรียกว่า การสร้างธรรมารมย์ กำจัดอุปสรรค แบบเกลือจิ้มเกลือ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยรับปริญญา หรือ ชีวิตเกิดมาไม่เคยชนะอะไรเลย แพ้ตลอด(อันนี้คงมีนะ..แต่ยังไม่เคยพบตัวจริง) นี่ก็ไม่ยากเลย...ให้ไปหาDownload Apps เกมส์เด็กเล็ก ชนิดที่ง่ายที่สุดมา ตั้งตรงที่ระดับง่ายที่สุด แล้วเล่น เมื่อชนะก็ จำความรู้สึกอารมณ์ "ชัยชนะ" นั้นไว้ จำไม่ได้เล่นใหม่ให้จำให้ได้ จากนั้นเอาอารมณ์นั้นไปตั้งไว้ที่ ปถวีธาตุ (ธรรม=ตั้งไว้,ทรงไว้+อารมณ์=ธรรมารมย์) ความท้อถอย หรือ ความรู้สึกว่าพ่ายแพ้ ถอดใจ จะไม่กลับมาปรากฏอีกเลย
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเอาชนะอุปสรรค และ ปัญหา นั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอให้นำไปใช้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการขจัดอุปสรรค เมื่ออุปสรรคหมดไปจากใจ "ปัญหา" ทั้งหลายก็ไม่อาจสืบต่อเนื่อง เพราะ "ใจสู้" ไม่ต้องเสียเวลาชูสองนิ้วก็ชนะ เพราะ "สิ่งทั้งหลายแพ้ชนะอยู่ที่ใจ" ดั่งพระพุทธองค์ทรงยืนยันไว้เป็นหนึ่งไม่มีสองว่า "สิ่งทั้งหลาย สำเร็จได้ด้วยใจ " นั้นแล
ด้วยพลานุภาพแห่งพุทธคุณ จงเกื้อหนุนให้สาธุชนทุกท่าน ประสบความสำเร็จก้าวหน้าในการปฏิบัติ สัมผัสแต่สิ่งอันเป็นมงคล รับโชคลาภ ศุภผล เจริญก้าวหน้าในการงาน ชีวิต ธุรกิจ สมดั่งปรารถนาที่ได้อธิษฐานจงทุกประการเทอญ....เจริญพร