รวมคำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล เดือน ตุลาคม 2556
11:42 |
คำสอน พระอาจารย์ 1 ต.ค. 56
ได้บรรยายค้างไว้ในครั้งก่อนว่าด้วย "วสี = ความชำนาญในการระลึก" ก็จะเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธุชนผู้มีใจกุศลใฝ่ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค สืบไป
"ปิติ" เป็นองค์แห่งปฐมฌาน ก็แล ปิตินั้นมี ๕ ประการ
พระสารีบุตรอรหันตเถระ อัครสาวกเบื้องขวาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงรจนาตามพุทธบัญชาปรากฏอยู่ในปฏิสัมภิทามรรค ความว่า
บทว่า "อาวชฺชนาวสี" = โยคาวจรผู้มีความชำนาญในการระลึก
บทว่า "ปฐมํ ฌานํ ยตฺถิจฺฉกํ" = ระลึกอารมณ์แห่งปฐมฌาน(ปิติ)ได้ทุกที่ตามปรารถนา
มีอรรถาธิบายว่า :: โยคาวจร ย่อมระลึกถึงอารมณ์อันเป็นปฐมฌาน(ปิติ)ได้ในทุกเทศะประเทศ ที่ตนปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นในเคหะ หรือ ในป่าก็ตาม
บทว่า "ยทิจฺฉกํ" = เมื่อปรารถนาจะระลึกอารมณ์แห่งปฐมฌาน(ปิติ) ณ กาลใด ไม่ว่า หนาวหรือร้อน ก็ย่อมระลึกได้ตามปรารถนา ย่อมอยู่เหนือภาวะแห่งกาล
ก็แล โยคาวจรย่อมระลึกอารมณ์แห่งปฐมฌาน(ปิติ) ที่ปรารถนา อันมี "ปถวีกสิณนิมิต" เป็นอารมณ์ ย่อมชำนาญในการระลึกอารมณ์นิมิต แม้ในขณะมีกสิณอื่นอยู่ในอารมณ์อยู่แล้ว(เพิก แปรเปลี่ยนสรรพสิ่งด้วยสมมุติ=สัมปยุติธาตุ)
บทว่า "ภวติจฺฉกํ" คือ โยคาวจรปรารถนา(อธิษฐาน,สมมุติ) ให้สิ่งนั้น ๆ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ย่อมได้ คือ ให้เกิดขึ้นเพียงลัดนิ้วมือเดียว(ทันที) หรือหลังจากนั้น ๗ วัน หรือ ตามกำหนด
บทว่า "อาวชฺชนาย" คือ การระลึกอารมณ์นิมิตแห่งปถวีกสิณ ได้อีกนามหนึ่งว่า เป็นพฤติแห่ง "มโนทวารวัชชนะ"
บทว่า "ทนฺธายิตตฺตํ" คือ สิ่งอันปรารถนานั้นไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งกาล-เทศะ
บทว่า "สมาปชฺชติ" คือ ย่อมเข้าไปในฌานอย่างแนบแน่น(ด้วยอารมณ์อัปปนาสมาธิ)
บทว่า "อธิฏฐาติ" โยคาวจร ย่อมสามารถบรรลุอธิษฐาน(สมมุติสรรพสิ่งให้เกิดขึ้น=แปรเปลี่ยนสรรพสิ่ง)
บทว่า " ปถมํ ฌานํ" ในวุฏฐานวสี(เป็นทุติยวิภัติ ลงในอรรถแห่งปัญจมีวิภัติ) แปลว่า "จากอารมณ์แห่งปฐมฌาน"
ความหมายโดยรวม ของ พระบาลีว่า " ปฐมํ ฌานํ อธิฏฐาติ" คือ โยคาวจร ย่อมอธิษฐาน โดยอาศัยอารมณ์แห่งปฐมฌาน(ปิติ)
บทว่า "ปจฺจเวกขติ" คือ ระลึกอารมณ์+นิมิต(ภาพที่ปรารถนาจะให้แปรเปลี่ยนเป็นอะไร) ทันที ด้วยอารมณ์อันแล่นไปในการอธิษฐาน(จดจ่อ) นั้น
คำสอน พระอาจารย์ 2 ต.ค. 56
(ต่อจากเมื่อวาน) ... การแล่นไปนั้นมีอาการอย่างไร ? ... เมื่อโยคาวจรอธิษฐาน ให้เป็นไปตามต้องการแม้ในอารมณ์แห่งปฐมฌาน(ปิติ) พึงต้องออกจากฌานนั้น แล้วจึงยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ระลึกภาพอันปรารถนาจะให้เป็น แห่งวิตกชวนจิต ๔ หรือ ๕ อารมณ์นั้นย่อมแล่นไปตามลำดับแห่งอาวชนจิต อันมีวิจารณ์เป็นอารมณ์แล่นไป เรียกง่าย ๆ ว่า "อารมณ์เพิก" คือ วิวัฏฏะ ดั่งทำในมนสิการนั้นแล ฯ
โยคาวจร สามารถ ยกอารมณ์ระลึกรู้นั้น ไปตามลำดับขององค์ฌาน(นิยมะฐานธาตุ)อันประสงค์ ก็ด้วยประการฉะนี้ โยคาวจรนั้นย่อมสำเร็จสมประสงค์ ในการผันแปร-สัมปยุต ย่อมเป็นไปโดยอำนาจแห่งโยคาวจรนั้น
การตั้ง-เลื่อน(ไปยังนิยมะ) ตามประสงค์ หรือ วสีแห่งการแปรเปลี่ยนฐานธาตุต่าง ๆ นั้น ย่อมมิมีหนึ่งใดเทียบได้กับการทำยมกปาฏิหาริย์ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่มี(อาวชชนจิต)อาวัชชนวสีใด ยิ่งกว่าได้
การคำนวณความเร็วภาวะของ "ภวังควาระ" ในแต่ละฌานนั้นมิอาจคำนวณได้ ตัวอย่างแห่งอาวชชนวสี เช่นกรณีพระโมคคัลลานอรหันตเถรเจ้า ทรงทรมานนันโทปนันทนาคราช และ การที่พระพุทธองค์ทรงหยุดพญาช้างนาฬาคีรีซึ่งวิ่งมาด้วยความเร็ว เช่นนี้ เรียกว่า "สมาปัชชนวสี" หมายถึง ความเป็นผู้เข้าถึงและตั้งอยู่ในสมาบัติอย่างฉับพลัน(ระลึกอารมณ์+ภาพ+วิวัฏฏะ) ชั่วพริบตา ลักษณะนี้เรียกว่า "อธิษฐานวสี"
การเข้าไปอีกฌานหนึ่ง(นิยมะฐานธาตุ) แล้วเปลี่ยนไปอีกฌาน(นิยมะฐานธาตุ)หนึ่งนั้นเรียกว่า "วุฏฐานวสี"
ความเป็นผู้เข้าถึงอาวัชชนวสีได้อย่างรวดเร็วตามใจนึก แปรเปลี่ยน-สัมปยุต สรรพสิ่งได้ตามปรารถนาของโยคาวจรผู้ประสงค์ เมื่อเข้าฌานอันมีกสิณอารมณ์ตั้ง ณ นิยมะฐานธาตุ ต่าง ๆ เป็นที่ตั้ง
เพราะความสำเร็จจากอารมณ์แห่งกสิณ เพราะความสำเร็จสามารถในการระลึกแห่งนิมิตอารมณ์กสิณ ของโยคาวจรผู้วิวัฏฏะ เนรมิตรเพศหลายอย่าง มากเป็นร้อยเป็นพัน ดั่งเช่นกรณี พระจูฬปัฏถก หรือ การแปลงสังขารของพระมหากัจจายนะ ที่กระทำได้เพราะไม่มีปัญจเวกขณะ อันเป็นองค์ฌาน แม้ในเวลาแสดงปาฏิหาริย์นั้น ๆ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ที่ได้บรรยายมาข้างต้น สาธุชนผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติตามขั้นตอน และได้ปฏิบัติชำนาญในกสิณ ย่อม "เข้าใจ" ในสื่ออักษร ที่บรรยายนี้ทุกประการ
คำสอน พระอาจารย์ 3 ต.ค. 56
ตามความเป็นจริงแล้วในประเทศไทยยุคปัจจุบัน การถ่ายทอด หรือ สอนวิธีปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรคนั้นกล่าวได้ว่าไม่มี และไม่เพียงไม่มีเท่านั้น ยังมีการสั่งสอนกันผิด ๆ ของผู้ที่ตั้งสำนัก สถาปนาตนเองเป็นอาจารย์ก็เอาความนึกคิดของตน ไปลบล้างพระพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันตรัสไว้ดีแล้ว รวมทั้งแก้ไขตามใจตน เป็นที่น่าเศร้าใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำกสิณซึ่งเป็น "สมถะ" หรือ พื้นฐานต้องสามารถทำสมาธิให้บรรลุถึงขั้น"ฌาน" ก่อนเพื่อตัด "รูป" จึงอาศัยพลังแห่งสมาธิ เรียกว่า "สมาธิพละ" ในส่วนของอารมณ์กสิณเท่านั้นเพื่อก้าวขึ้นสู่ญานอันเป็นการตัด-ดับ "นาม" และเข้าสู่สภาวะ"ปัญญาวิมุติ" เพื่อหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร และการเวียนว่ายตายเกิด ทรงสภาพโดยไม่อาศัยมหาภูตรูป๔ อยู่เหนือกฏเกณฑ์แห่งเวลา(Time) และเทศะ(time) คือสภาวะแห่งนิพพาน
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ในกรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการ มีเพียงอาปานสติ กับ กสิณ เท่านั้นที่สามารถเป็นปกรณ์(เครื่องช่วย) ให้ถึงพระนิพพานได้ และการจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ต้องปฏิบัติด้วยกายในกาย (ใจ)หรือ มโนทวารวิถี เท่านั้น ไม่มีหนทางอื่น
ดังนั้น การปฏิบัติกสิณ(เครื่องยังให้เกิดแสงสว่าง) ก็ดุจดั่งแสงเทียนเล่มน้อย ที่ไว้เปรียบเทียบกับแสงสว่างที่ยิ่งกว่า อันได้แก่ ดวงอัปปมัญญา และ ดวงปัญญา ดังมีพุทธดำรัสไว้ว่า "นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา ...แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี" ด้วยเหตุดั่งนี้ การปฏิบัติกสิณ จึงเป็นไปเพื่อฝึกกายในกาย ให้เชี่ยวชาญ คล่องแคล่วในการอธิษฐาน อันเรียกว่า "วสี" แปรเปลี่ยนมวลธาตุทั้ง ๔ และสรรพสิ่ง ให้เห็นจริงตามสิ่งที่เป็นจริง คือ สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นสมมุตินั้นเอง โยคาวจรผู้มุ่งสู่พระนิพพาน จึงมิอาจก้าวข้ามการปฏิบัติกสิณไปได้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ
การปฏิบัติกสิณสิ่งแรกที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ได้ "ดวงกสิณ" อันเป็นลักษณะดวงสว่าง(ดังได้อธิบายไปก่อนหน้านั้นแล้ว) ก็ไม่ทราบว่าจะไปตั้งไว้ ณ ตำแหน่งใด และจะใช้แสงแห่งดวงกสิณนั้นร่วมกับภาพ(นิมิต) ได้อย่างไร นี้คือสิ่งที่ยุคปัจจุบันไม่อาจบอกได้ จึงทำให้ในที่สุดก็เขียนตำราธรรมะเสียใหม่ เป็นว่า "กสิณ ไม่ควรทำ ไม่ใช่ทางพุทธศาสนา เป็นเรื่องของลัทธิโยคี...(เพราะตัวเองมันทำไม่ได้)" จึงทำให้สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติ ไม่อาจก้าวหน้า มีแต่คว้าน้ำเหลว ตลอดมา
เมื่อเริ่มแรกอันโยคาวจร ปรารถนาสิ่งใด ก็พึงกำหนดภาพนั้นขึ้นไว้ตรงหน้า ดั่งพุทธพจน์กำหนดไว้ว่า "ปริมุขํ สตึ อุปฏธเปตวฺา...ฯ ความว่า ให้พึงระลึกอารมณ์แห่งปิติ+ภาพอันปรารถนาไว้ตรงหน้า (อารมณ์+ภาพ=นิมิต) ให้พึงมองจดจ่อ(แต่ไม่ใช่เพ่ง=นี้คือ ฉันทะ องค์แห่งอิทธิบาท) มองลึกเข้าไปในนิมิตนั้นอย่างสบาย ๆ เหมือนทอดสายตามองท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ในพฤตินี้มีองค์ประกอบ ๒ ส่วนคือ
๑. ควบคุมนิมิตด้วยการปริกมฺ และ ภาวนา
๒. ระลึกรู้อารมณ์(ปิติ) ที่ได้ปฏิบัติได้มา นำมาประกอบกับนิมิตนั้น
ภาพหรือนิมิตนั้นจะถูกกำหนดวงไว้ "ภายในดวงสว่างของกสิณ" ไม่ล้นออกมา
จากนั้นจึงเลื่อนนิมิตพร้อมกับดวงกสิณนั้น ตามอัสสาสะ(ลมหาใจเข้า)ลงไปยังนิยมะปถวีธาตุ เป็นเบื้องต้น
โยคาวจรผู้สามารถนำ "สติ+นิมิต" ณ นิยมะปถวีธาตุได้ทุกครั้งตามปรารถนา ในทุกอริยาบทไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน หกคะเมน ตีลังกา สารพัด นิมิตนั้นก็ไม่หาย ไม่ว่าลืมตา หรือหลับตา ลักษณะแห่งพฤตินี้จัดได้ว่า โยคาวจรผู้นั้นได้บรรลุบถมบาทแห่งรูปาวจรฌานแล้วคือ "บรรลุปฐมฌาน" เรียกตามภาษาปฏิบัติว่า "ปฐมฌานลาภีบุคคล" ฉะนี้แล ฯ
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ปฐมฌานลาภีบุคคลจะเข้าฌานสมาบัติก็ดี หรือ จะเจริญสมถภาวนาต่อเพื่อให้ได้ทุติยฌานก็ดี จะต้องมีวสี(ความชำนาญ) ในปฐมฌานนั้นเสียก่อน ดังได้อธิบายบางส่วนไว้ก่อนหน้านี้ คือ ต้องเชี่ยวชาญในการนำสติ+นิมิต มาตั้งยังนิยะมะปฐวีธาตุ(ปฐมฌาน) จนชำนาญ ให้มีความคล่องแคล่วว่องไว ตามใจปรารถนา ทั้ง ๕ ระดับเสียก่อน
สิ่งใดอันประเสริฐเลิศแล้วแห่งมวลมนุษย์ ขอจงปรากฏแด่สาธุชนผู้มีดวงใจบริสุทธิปฏิบัติด้วยกุศลศรัทธา ปวงเทพยดาจงมาร่วมอำนวยอวยชัย ให้แด่ท่านทั้งหลายสมปรารถนาดั่งอธิษฐานถ้วนทั่วกัน ทุกท่านเทอญ ฯ ....เจริญพร
คำสอน พระอาจารย์ 4 ต.ค. 56
ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพ จงสถิตย์อยู่ในใจของสาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลทุกท่าน ได้สามารถเข้าใจ ในหัวข้อธรรมแห่งสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค อันจะได้บรรยายต่อไปนี้ อย่างถ่องแท้ แจ้งชัด ไม่ติดขัด เพื่อเป็นแนวทางไขปัญหา ข้อติดขัดในการปฏิบัติ อันจะเป็นอุปการะสืบต่อพระพุทธศาสนาให้สถาพร คงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยสืบไป เทอญ
สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติชอบ พึงเข้าใจให้กระจ่างว่า "นิมิต" คืออะไรเสียก่อน คำจำกัดความทางปฏิบัติให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับคำว่า "นิมิต" คือ การระลึกอารมณ์= ปิติ+ภาพประสงค์+ลมหาใจ=นิมิต และการกำหนดให้นิมิตนั้นไว้บนดวงสว่างแห่งกสิณ โดยไม่ล้ำออกนอกขอบดวงกสิณ นิมิตนั้นต้องชัดเจนไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอยู่ในอารมณ์ กริยา หรือพฤติกรรม เวลา สถานที่ใดๆ นิมิตนั้นก็ไม่แปรเปลี่ยนไป พฤติที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า "ความแนบแน่นแห่งนิมิต" อันมีศัพท์เป็นบาลีเรียกว่า "อัปปนา"
ความหมายของคำว่า "อัปปนา" หมายถึง ความแนบแน่นอยู่ในนิมิตอารมณ์เดียวโดยเฉพาะ (อารมณ์นี้รับรู้ด้วยจิตภายในของกายในกาย จึงเรียกว่า จิตในจิต) ผลของอัปปนาสมาธินี้มีอานุภาพมาก โยคาวจรผู้เดินบนเส้นทางสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จะต้องฝึกฝนเพื่อให้เกิดสมาธิพละ นำไปใช้ในการตัดกิเลสตัณหาอาสวะอนุสัย(ตัดนาม) อัปปนาโดยศัพท์แล้วแปลว่า "ทำลายให้สิ้นไป" อัปปนาวิถี(ทางปฏิบัติอัปปนาสมาธิ) จะต้องใช้กายในกายเท่านั้น(จึงเรียกว่า ภาวนา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นมหากุศลเพราะต้องสำเร็จด้วยใจแท้ๆ) การที่ต้องปฏิบัติด้วยกายในกาย(มโน=ใจ)เท่านั้น จึงมีพุทธพจน์กำหนดชัดว่า "อัปปนาจัดเกิดได้ก็ใน มโนทวารวิถีเท่านั้น"
โยคาวจรผู้ที่จะเข้าสู่อัปปนาวิถีได้นั้น จะต้องผ่านการเข้าถึงกายในกายเสียก่อนตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแต่แรกนั้น หากกล่าวตามภาษาอภิธรรมก็ต้องกล่าวว่า อัปปนาวิถีจักไม่เกิดขึ้นในปัญจทวารวิถี คือ ไม่ว่ากายนอก(ปัญจทวารวิถี) จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร เช่น เขย่งขโยก ยุบหนอพองหนอ พุทโธ่ หรือ โบกไม้โบกมือเป็นยามเฝ้ารถ รูดกระดูก ทำขลังนั่งส่องตะวันจนตาป่วย หรืออีกร้อยล้านชนิด ก็ไม่สามารถเข้าถึงอัปนาสมาธิได้ หากเข้าไม่ถึงกายในกาย ดังพุทธพจน์ปรากฏชัดเจนว่า "เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ...ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายในกายหนึ่งเดียวนี้จักเป็นหนทางเดียวเท่านั้น.."
ก็แล เมื่อโยคาวจรเข้าถึงกายในกายแล้ว พึงกำหนดกายในกายเข้าสู่กายปัสสัทธิ แลละรึกอารมณ์นิมิตแห่งกสิณ ดังได้กล่าวไปแล้วน้น เพื่อนำเข้าสู่อัปปนาวิถี พร้อมกำหนดระลึกรู้อารมณ์แห่งอัปปนาที่เกิดขึ้นใหม่นั้นไว้ "ว่าอยู่ในลักษณะใด วาระใด คือ ในขณะเป็นอุปาทะ ฐีติ หรือ ภังคะ แม้กายนอก(ร่างกายของเรา) จะเปลี่ยนอริยาบทไป เช่นยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ นิมิต+อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นก็ยังแจ่มชัดไม่หายไป โยคาวจรพึงรักษาอารมณ์แห่งอัปปนาที่เกิดขึ้นนั้นไว้อย่างระมัดระวัง ดุจมารดาผู้รักษาครรภ์ ดุจดั่งประคองบาตรอันเปี่ยมด้วยน้ำเต็มจรดขอบ ฉันนั้น
และพร้อมนั้น โยคาวจรจะต้องระลึกได้ว่า ได้เกิดอัปปนาขึ้นในวาระใด ก็สามารถระลึกอารมณ์วาระนั้นได้(อุปาทะ ฐิติ ภังคะ) อย่างไม่สับสนฟั่นเฝือ นี้เรียกว่า "อารมณ์ที่แนบแน่นอยู่ในสภาวะจิตเดียว และสภาวะจิตนี้ เป็นจิตของกายในกาย (จิต ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ แต่ไม่ใช่ระลึกอารมณ์ การระลึกอารมณ์เป็นหน้าที่ของสติ) ดังนั้น จึงเรียกว่า จิตในจิต ตามปรากฏในสติปัฏฐานข้อที่ ๓ ซึ่งโยคาวจรผู้ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้จึงเรียกว่าเข้าสู่ "ขั้นจิตในจิต" คือ จิตที่อยู่ภายในของกายในกาย
สภาวะแห่งอัปนาจิต อันเกิดจากการรับรู้(จิต)ของกายในกาย คือจิตในจิต จะมีจิตที่ทำหน้าที่รับรู้ทั้งหมด ๖๗ ดวง คือ มหคจิต๒๗ โลกุตรจิต๔๐
ส่วนอัปปนาวิถี คือ วิถีจิตที่มีอัปนาอยู่ในวิถีนั้น ได้แก่จิต๕๘ ดวง คือ มหัคคตกุศลจิต๙ มหัคคตกิริยาจิต๙ โลกุตรจิต๔๐
สำหรับ อัปปนาชวนะ คือ ชวนจิตที่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์แห่งนิมิตเดียวนั้นโดยเฉพาะไม่แปรเปลี่ยน คือ จิต๔๘ เหมือนกันกับอัปปนาวิถีจิตนั่นเอง อัปปนาวิถี หรือ อัปปมาชวนะ จะเกิดได้โดยทางมโนทวารวิถีเท่านั้น จะไม่เกิดขึ้นทางปัญจทวารวิถีเลย
อัปปนาวิถี เป็นมโนทวารวิถีก็จริง แต่ไม่จำแนกเป็นวิภูตารมย์วิถี และ/หรือ อวิภูตารมย์วิถี เหมือนอย่างมโมทวารกามวิถี เพราะอัปปนาวิถีมีแต่วิภูตารมย์อย่างเดียว ด้วยเหตุว่า ถ้าอารมณ์+นิมิตไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งจริงๆแล้ว อัปปนาชวนะจะไม่เกิดขึ้นเลย จึงต้องอาศัยดวงสว่าง และ อารมณ์แห่งกสิณเท่านั้นเป็นเครื่องช่วยนำ(ปกรณ์) เพื่อให้เข้าสู่อัปปนาวิถีได้=นี่คือเหตุใดโยคาวจรจึงต้องปฏิบัติกสิณร่วมอัปปนา (และนี่คือที่มาอันพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ในกัมมัฏฐานทั้ง๔๐ มีเพียงอาปานัสสติ กับ กสิณ เท่านั้นที่เป็นเครื่องช่วยไปถึงพระนิพพาน)
อัปปนาวิถี จำแนกได้เป็น๒ เส้นทาง(นี่คือที่มาของ ทางแยกระหว่าง โลกิยะ กับ โลกุตระ อยู่ตรงนี้) คือ ๑.โลกิยอัปปนาวิถี หมายถึง ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร และ ๒.โลกุตรอัปปนาวิถี หมายถึง หลุดพ้นจากสภาพการเวียนว่ายตายเกิด อยู่เหนือกาลเวลา และมหาภูตรูป๔ คือพระนิพพาน
โลกิยอัปปนาจิต ได้แก่มหัคคตจิต๒๗ ดวง แต่โลกิยอัปปนาวิถี หรือ โลกิยอัปปนาชวนะ ได้แก่ มหัคคตชวจิต๑๘ ดวง คือ มหัคคตกุศลจิต๙ มหคตกิริยาจิต๙ เท่านั้น ส่วนมหคตวิบากจิตอีก๙ ดวงนั้น ไม่นับเป็นโลกิยะอัปปนาวิถี เพราะเป็นจิตที่พ้นวิถี(พ้นทวารด้วย) และไม่นับเป็นโลกิยะอัปปนาชยนะเพราะไม่ได้ทำชวนกิจ(คือไม่บันทึกไว้ในสัญญา เพื่อสืบต่อในภพภูมิต่อไป)
โลกิยอัปปนาิถีนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วิถีจิตที่โยคาวจรปฏิบัติจนระลึก(ปิติ=ปฐมฌาน)ได้ และสภาวะอันระลึกอารมณ์ปิติ(ปฐมฌาน)นั้นเป็นกุศลจิต อันจัดเป็น"วิบาก" ทำให้แสดงผลทันที เพราะเป็นสภาวะจิตที่พ้นวิถี อันที่เรียกทั่วไปว่า "อธิษฐาน" นั้นเอง
โยคาวจรผู้ที่ระลึกอารมณ์แห่งปิติประกอบดวงกสิณ(ปฐมฌาน) เป็นครั้งแรกก็ดี ได้ทุติยฌานเป็นครั้งแรกก็ดี หรือ ใช้อารมณ์แห่งกสิณ(เพิก) เข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นครั้งแรกก็ดี รวมความหมายว่า โยคาวจรผู้แรกได้ฌานชั้นนั้นๆ วิถีจิตที่ฌานจิตนั้นๆ ชื่อที่เรียกวิถีจิตนั้นคือ "อาทิกัมมิกกฌานวิถี"
อาทิกัมมิกฌานวิถี คือ วิถีจิตที่ฌานจิตนั้น ๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพียงขณะจิตเดียว หรือ ดวงเดียวเท่านั้น ต่อเมื่อมีวสีคือความชำนาญแล้ว จึงสามารถทำให้เกิดขึ้นได้หลายขณะ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมโยคาวจรทั้งหลายจึงต้องปฏิบัติวสี๕ ดังได้กล่าวไปแต่ต้นนั้น
คำว่า "โคตรภู(โคตรภูญาณ)" ในโลกิยอัปปนาวิถีนี้หมายความว่า โยคาวจรผู้ถึงซึ่งโคตรภูญาณ ได้ตัดแล้วซึ่งโคตรแห่งมนุษยภูมิ กามมาวจรภูมิ(คือเหนือกว่ามนุษย์และเทพยดา) ไปเป็นสภาวะโคตรพรหม นับแต่นั้น แม้สิ้นอายุขัยก็จักไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภูมิ(มนุษยและเทวดา) อีกเลย ... นี้คือข้อรับรองอันปรากฏในพระไตรปิฏกบาลีสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ว่า เหตุใดผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานจึงเหนือกว่ามนุษย์และเทวดา ทั้งยังสั่งสอนมนุษย์และเทวดาได้ ทั้งเมื่อละทิ้งกายสังขารแล้ว จึงไปเกิดเป็นพรหม ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ด้วยพลานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้สาธุชนผู้มีใจใฝ่ในกุศลศรัทธาปฏิบัติ จงประสบแต่ความเจริญวัฒนา ในธุรกิจ ชีวิต หน้าที่การงาน สุขสำราญ ในสิ่งอันปรารถนาอธิษฐาน ผ่านพ้นอุปสรรค ภัย โรคาพยาธิทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกประการโดยพลันทุกท่านเทอญ ฯ ...เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 8 ต.ค. 56
ต่อไป..จะได้กล่าวถึงอารมณ์แห่งกายในกาย ซึ่งเป็นอารมณ์หรือ "เวทนา" ที่อยู่ภายใน เปรียบเสมือนความรู้สึกนึกคิดของคนขับรถ ซึ่งต่างจากเวทนาของกายนอก(กายสังขาร) ซึ่งเวทนาของกายในกายนั้นเรียกตามภาษาแห่งสติปัฏฐานว่า " เวทนาในเวทนา"
อารมณ์ต่าง ๆ ที่มาสู่มโนทวารวิถี(จิตของกายใน=กายในกาย)นั้น อารมณ์อันมาปรากฏโดยกายในกายโดยตรงโดยเฉพาะ อารมณ์ที่มาปรากฏทางกายในกายโดยตรงโดยเฉพาะนั้นมีเหตุ ๑๔ ประการ ดังปรากฏเป็นพุทธพจน์ทรงอธิบายขยายความไว้ดังนี้
ทิฏฺฐโต ทิฏฺฐสมฺพนฺธโต สุตโต สุตสมฺพนฺธโต สทฺธาย รุจิยา อาการปริวิตกฺเกน ทิฏฺฐินิชฺฌานขนฺติยา นานากมฺมพเลน นานาอิทฺธิพเลน ธาตุกฺโขภวเสน เทวโตปสํหารวเสน อนุโพธวเสน ปฏิเวธเสนาติ จุทฺทส หิการเณ หิ อารมฺมณธมฺมา สุทฺเธ มโนทฺวาเร อาปาตํ อาคจฺฉนฺติ ฯ
๑. ทิฏฺฐโต ด้วยอำนาจที่เคยเห็น เคยพบ อารมณ์ทั้ง ๖ มาแล้ว
๒. ทิฏฺฐสมฺพนฺธโตอารมณ์ทั้ง ๖ ที่กำลังปรากฏอยู่นั้น เหมือนกันกับที่เคยได้พบเคยเห็นมาแล้ว
๓. สุตโต ด้วยอำนาจที่ได้เคยฟัง เคยเรียนมาแล้ว ขณะที่กำลังฟัง กำลังเรียน กำลังอ่านอยู่
๔. สุตสมฺพนฺธโต อารมณ์ทั้ง ๖ ที่กำลังปรากฏอยู่นั้นเหมือนกับที่เคยได้ฟัง เคยเรียน เคยอ่าน ศึกษา ปฏิบัติมา(ทั้งในชาตินี้ และในอดีตชาติ)
๕. สทฺธาย ด้วยอำนาจแห่งความ เชื่อในคำพูดของผู้อื่น(ผลักดันให้เราตัดสินใจกระทำสิ่งนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นจากใจตนเอง)
๖. รุจิยา ด้วยอำนาจแห่งความ พอใจของตน
๗. อาการปริวิตกฺเกน ด้วยอำนาจแห่งความ นึกตรึกจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ โดยอาศัย เรื่องราว คำพูด เหตุผล
๘. ทิฏฺฐินิชฺฌานขนฺติยา ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาอารมณ์นั้น ด้วยความคิด, ลัทธิตน
๙. นานากมฺมพเลน ด้วยอำนาจแห่ง กรรมต่าง ๆ
๑๐. นานาอิทฺธิพเลน ด้วยอำนาจแห่ง อิทธิฤทธิต่าง ๆ (ที่พวกเราฝึกได้ตรงนี้ทันที)
๑๑. ธาตุกฺโขภวเสนด้วยอำนาจแห่ง ธาตุในร่างกาย วิปริตไป
๑๒. เทวโตปสํหารวเสน ด้วยอำนาจแห่ง เทวดามาดล
๑๓. อนุโพธว เสนด้วยอำนาจแห่ง มัคคญาณ ผลญาณ ทำให้เกิดวิชชา
๑๔. ปฏิเวธวเสน ด้วยอำนาจแห่ง ปัญญา ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ ๔
อารมณ์เหล่านี้ทำให้กายในกายเกิดเวทนาสัญญา คือ แยกว่าส่วนเหล่านั้นเป็นอารมณ์ชนิดใด เป็นสุข(สุขเวทนา) ก็จะสั่งจิตไปดำเนินการให้รูปกาย=กายนอก(อวัยวะ)เช่น ปากเคลื่อนไหวเป็นยิ้ม ฯลฯ เป็นต้น
ภาพที่ปุถุชนทั่วไปเห็นคือการร่าเริงยินดี ที่เราเรียกว่าพอใจ หากเป็นอารมณ์ที่เป็นทุกข์(ทุกข์เวทนา) กายในกายก็จะสั่งให้จิตสั่งให้รูปกาย(กายนอก)แสดงอาการต่อต้านอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้น การพิจารณาตามสติ(ระลึกรู้อารมณ์)ของกายในรู้ภาวะแห่งพฤติเหล่านี้เรียกว่า “ การพิจารณาตามเห็นเวทนาในเวทนา “ อันมีมาในมหาสติปัฏฐานสูตร การฝึกสติระลึกรู้อารมณ์นิมิตแต่เบื้องต้นนั้นจึงมีประโยชน์ด้วยประการฉะนี้ แล ฯ
ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ฝึก “ สติ ” อย่างถูกต้องมาแต่ต้น ย่อมมิอาจกำหนดระลึกรู้ และเท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เข้ามากระทบกายนอก(รูปกาย)อันเรียกว่า “ ปัญจทวาร ”(ตา หู จมูก ลิ้น กาย) หรือ อารมณ์อันเข้ามากระทบทาง “ มโนทวาร (ใจ)“ ทั้งสิ้น เหมือนคนขับรถที่ไม่รู้จักสัญญาณจราจร ย่อมไม่อาจไปถึงจุดหมาย ไม่เข้าใจไฟแดงไฟเขียว ป้ายห้ามจอด กฎข้อห้าม
ด้วยเหตุฉะนี้ จะกล่าวไปใยกับการบรรลุธรรมขั้นสูง ของผู้ไม่ได้ฝึกฝน “ สติ(ระลึกรู้อารมณ์) ” อย่างถูกวิธี หรือ ปฏิเสธพุทธพจน์ที่ทรงกำหนดวิธีฝึกสติแล้วไซร้ ภพชาติปัจจุบันนี้ของผู้หลงผิดเหล่านั้น ก็มีฐานะเป็น “ โมฆะบุรุษ ” โดยแท้
ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพอันหาที่เปรียบประมาณมิได้ จงดลบันดาลให้สาธุชนทั้งหลาย จงสมหวังสมปรารถนา ก้าวหน้าในการปฏิบัติ สิ่งใดอันอธิษฐานเป็นไปในทางกุศล จงสัมฤทธิ์ผลสมเจตนาโดยพลันทุกประการเทอญ ฯ เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 9 ต.ค. 56
สาธุชนผู้ใฝ่ปฏิบัติชอบ ที่ได้ฝึก "กสิณ" ก็จะได้พบกับ "ดวงกสิณ" ซึ่งจะปรากฏเมื่อ "ใจ" ได้ยกขึ้นสู่วิถี ลักษณะแห่งแสงสว่างนี้ ทางปฏิบัติเรียกว่า "นิมิต" ซึ่งจะต้องนำเอาไปใช้ แต่ทั้งนี้ต้องพึงเข้าใจให้กระจ่างว่า "นิมิต" คืออะไรเสียก่อน คำจำกัดความทางปฏิบัติให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับคำว่า "นิมิต" คือ การระลึกอารมณ์= ปิติ+ภาพประสงค์+ลมหาใจ=นิมิต
มีพุทธพจน์ทรงตรัสถึงความสำคัญของนิมิต ปรากฏในพระไตรปิฏกบาลีว่า...นิมิตฺตํ อสฺสาสาปสฺสาสา อนารมฺมณเมกจิตฺตสฺส
อชานโต จ ตโย ธมเม ภาวนา นุลพฺภติ ฯ
ผู้ไม่รู้นิมิต ไม่อาจควบคุมนิมิตไว้ได้ ย่อมไม่อาจแยกสภาวธรรมทั้งสาม(อุปาฐะ,ฐิติ,ภังคะ)
ฌานย่อมไม่อยู่ในวิสัยจักเกิดขึ้นจากภาวนาของผู้นั้นได้ ฯ
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
ยมหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพานสนฺติเก ฯ
ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้ใดมีทั้งฌาน มีทั้งปัญญา ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระนิพพาน ฯ (ขุทกนิกาย๒๕/๒) โยคาวจรต้องกำหนดให้นิมิตนั้นปรากฏเฉพาะแต่บนดวงสว่างแห่งกสิณ โดยไม่ล้ำออกนอกขอบดวงกสิณ และ นิมิตนั้นจะต้องชัดเจนไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอยู่ในอารมณ์ กริยา หรือพฤติกรรม เวลา สถานที่ใดๆ นิมิตนั้นก็ไม่แปรเปลี่ยนไป พฤติที่เกิดขึ้นแห่งความแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวนี้ จึงเรียกว่า "ความแนบแน่นแห่งนิมิต" อันมีภาษาทางปฏิบัติเรียกว่า "อัปปนา"
ความหมายของคำว่า "อัปปนา" หมายถึง ความแนบแน่นอยู่ในนิมิตอารมณ์เดียวโดยเฉพาะ (อารมณ์นี้รับรู้ด้วยจิตภายในของกายในกาย จึงเรียกว่า จิตในจิต)
ผลของอัปปนาสมาธินี้มีอานุภาพมาก โยคาวจรผู้เดินบนเส้นทางสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค จะต้องฝึกฝนเพื่อให้เกิดสมาธิพละ นำไปใช้ในการตัดกิเลสตัณหาอาสวะอนุสัย(ตัดรูป-นาม)
อัปปนาโดยศัพท์แล้วแปลว่า "การกำจัด, ทำลายให้สิ้นไป" การกำจัดทำลายในที่นี้หมายความถึง “การกำจัดทำลายกิเลส ตัณหา อาสวะ อวิชชา อุปปาทาน อันเป็นรากเหง้าแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารให้สิ้นไป
อัปปนาวิถี(ทางปฏิบัติอัปปนาสมาธิ) จะต้องใช้กายในกายเท่านั้น(จึงเรียกว่า ภาวนา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นมหากุศลเพราะต้องสำเร็จด้วยใจแท้ๆ) การที่ต้องปฏิบัติด้วยกายในกาย(มโน=ใจ)เท่านั้น จึงมีพุทธพจน์กำหนดชัดว่า "อัปปนาจัดเกิดได้ก็ใน มโนทวารวิถีเท่านั้น
โยคาวจรผู้ที่จะเข้าสู่อัปปนาวิถีได้นั้น จะต้องผ่านการเข้าถึงกายในกายเสียก่อนตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแต่แรกนั้น หากกล่าวตามภาษาอภิธรรมก็ต้องกล่าวว่า อัปปนาวิถีจักไม่เกิดขึ้นในปัญจทวารวิถี คือ ไม่ว่ากายนอก(ปัญจทวารวิถี) จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร เช่น เขย่งขโยก ยุบหนอพองหนอ พุทโธ่ หรือ โบกไม้โบกมือเป็นยามเฝ้ารถ รูดกระดูก ทำขลังนั่งส่องตะวันจนตาป่วย หรืออีกร้อยล้านชนิด ก็ไม่สามารถเข้าถึงอัปนาสมาธิได้ หากเข้าไม่ถึงกายในกาย ดังพุทธพจน์ปรากฏชัดเจนว่า "เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ...ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายในกายหนึ่งเดียวนี้จักเป็นหนทางเดียวเท่านั้น.."
ก็แล เมื่อโยคาวจรเข้าถึงกายในกายแล้ว พึงกำหนดกายในกายเข้าสู่กายปัสสัทธิ แลระลึกอารมณ์นิมิตแห่งกสิณ ดังได้กล่าวไปแล้วน้น เพื่อนำเข้าสู่อัปปนาวิถี พร้อมกำหนดระลึกรู้อารมณ์แห่งอัปปนาที่เกิดขึ้นใหม่นั้นไว้ "ว่าอยู่ในลักษณะใด วาระใด” คือ ในขณะเป็นอุปาทะ ฐีติ หรือ ภังคะ แม้กายนอก(ร่างกายของเรา) จะเปลี่ยนอริยาบทไป เช่นยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ นิมิต+อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นก็ยังแจ่มชัดไม่หายไป โยคาวจรพึงรักษาอารมณ์แห่งอัปปนาที่เกิดขึ้นนั้นไว้อย่างระมัดระวัง ดุจมารดาผู้รักษาครรภ์ ดุจดั่งประคองบาตรอันเปี่ยมด้วยน้ำเต็มจรดขอบ ฉันนั้น
และพร้อมนั้น โยคาวจรจะต้องระลึกได้ว่า ได้เกิดอัปปนาขึ้นในวาระใด ก็สามารถระลึกอารมณ์วาระนั้นได้(อุปาทะ ฐิติ ภังคะ) อย่างไม่สับสนฟั่นเฝือ นี้เรียกว่า "อารมณ์ที่แนบแน่นอยู่ในสภาวะจิตเดียว และสภาวะจิตนี้เป็นจิตของกายใน (จิตทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ แต่ไม่ใช่ระลึกอารมณ์ การระลึกอารมณ์เป็นหน้าที่ของสติ)
ดังนั้น จึงเรียกว่า จิตในจิต ตามปรากฏในสติปัฏฐานข้อที่ ๓ ซึ่งโยคาวจรผู้ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้จึงเรียกว่าเข้าสู่ "ขั้นจิตในจิต" คือ จิตที่อยู่ภายในของกายในกาย
สภาวะแห่งอัปนาจิต อันเกิดจากการรับรู้(จิต)ของกายในกาย คือจิตในจิต จะมีจิตที่ทำหน้าที่รับรู้ทั้งหมด ๖๗ ดวง คือ มหคจิต๒๗ โลกุตรจิต๔๐
ส่วนอัปปนาวิถี คือ วิถีจิตที่มีอัปนาอยู่ในวิถีนั้น ได้แก่ จิต๕๘ ดวง คือ มหัคคตกุศลจิต๙ มหัคคตกิริยาจิต๙ โลกุตรจิต๔๐
สำหรับ อัปปนาชวนะ คือ ชวนจิตที่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์แห่งนิมิตเดียวนั้นโดยเฉพาะไม่แปรเปลี่ยน คือ จิต๔๘ เหมือนกันกับอัปปนาวิถีจิตนั่นเอง อัปปนาวิถี หรือ อัปปมาชวนะ จะเกิดได้โดยทางมโนทวารวิถีเท่านั้น จะไม่เกิดขึ้นทางปัญจทวารวิถีเลย
อัปปนาวิถี เป็นมโนทวารวิถีก็จริง แต่ไม่จำแนกเป็นวิภูตารมย์วิถี และ/หรือ อวิภูตารมย์วิถี เหมือนอย่างมโมทวารกามวิถี เพราะอัปปนาวิถีมีแต่วิภูตารมย์อย่างเดียว ด้วยเหตุว่า ถ้าอารมณ์+นิมิตไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งจริงๆแล้ว อัปปนาชวนะจะไม่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง
จึงต้องอาศัยดวงสว่าง และ อารมณ์แห่งกสิณเท่านั้นเป็นเครื่องช่วยนำ(ปกรณ์) เพื่อให้เข้าสู่อัปปนาวิถีได้=นี่คือเหตุใดโยคาวจรจึงต้องปฏิบัติกสิณร่วมอัปปนา (และนี่คือที่มาอันพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ในกัมมัฏฐานทั้ง๔๐ มีเพียงอาปานัสสติ กับ กสิณ เท่านั้นที่เป็นเครื่องช่วยไปถึงพระนิพพาน)
ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อันมีพุทธคุณเป็นเบื้องต้น จงดลบันดาลให้สาธุชนผู้ใจเปี่ยมด้วยกุศล จงประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติ ก้าวหน้าในกิจการ งาน ชีวิต ธุรกิจ และสิ่งอันปรารถนา ดั่งอธิษฐานจงทุกประการ เทอญ ฯ เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 10 ต.ค. 56
“ แสงสว่าง ” ของกสิณมีไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อไว้สำหรับใช้เปรียบเทียบกับ “ แสงสว่างของปัญญา ” เพราะเมื่อโยคาวจรบรรลุซึ่งอัปนาสมาธิมีแสงสว่างอันเกิดแต่นิมิตกสิณสัญญาย่อมจดจำบังคับแสงสว่างแห่งกสิณ ย่อมระลึกรู้อารมณ์แห่งแสงสว่างอันเกิดแต่อำนาจกสิณฌานสมาบัติได้ด้วยแรงวสี
แต่เมื่อโยคาวจรได้บรรลุถึงปัญญา ย่อมรับรู้โดยลักษณะแห่งแสงสว่างแห่งปัญญานั้นจะกลบแสงแห่งนิมิตกสิณโดยสิ้นเชิง เปรียบประดุจดั่งแสงตะวันที่ข่มแสงจันทร์ให้หายไปในยามอรุณรุ่งฉันนั้น ดังมีพระพุทธพจน์กล่าวถึงสภาพลักษณะ และ ความแตกต่างของแสงแห่งปัญญาไว้ดังนี้ ว่า
“ นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ”
เมื่อโยคาวจรบุคคลผู้เจริญกสิณจนได้ “ดวงกสิณ” ปรากฏแล้ว ก็ให้ประคองปฏิภาคนิมิต ที่ได้ด้วยอัปปนาภาวนาเช่นนั้นลงไปทำ “ ดวงอัปปมัญญา ” ที่ใต้น้ำ
โดยบำเพ็ญเมตตาพรหมวิหารให้สมบูรณ์ ฝึกย่อ-ขยายดวงกสิณใต้น้ำ(ใช้ฐิติ=ระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ) พร้อมกับระลึกรู้อารมณ์แห่งมรณะสัญญา(อารมณ์ใกล้ตาย=มรณานุสติ)ไว้
อารมณ์อันเกิดขึ้นนี้เป็นองค์แรกแห่งพรหมวิหารเรียกว่า”เมตตา” อันเป็นการเจริญมรณานุสติได้ในวาระเดียวกัน
ลักษณะแห่งการเกิดขึ้นของเมตตาอันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยกายในกาย(ใจ=เจตสิก) มีชื่อโดยสภาวธรรมว่า อัปปมัญญาเจตสิก ความรู้สึกของอารมณ์นี้จะมาพร้อมกับแสงสว่างคล้ายแปลบปลาบ แต่สว่างจ้า ความรู้สึกจะคล้ายกับใกล้ตาย
สภาวะดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความรู้สึกถึงคุณค่าแห่งชีวิตของเรา และสรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเล็กขนาดมดแมงแมลงหนอนก็ล้วนรักชีวิตของตน อารมณ์จึงระลึกรู้ถึงสภาวะความตายที่สัตว์ทั้งหลายล้วนรักชีวิตตน นี้คืออารมณ์แห่งเมตตา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน ๓ อย่างในวาระเดียวกันคือ เมตตาพรหมวิหาร มรณานุสติ และ อัปมัญญา ซึ่งจะประกอบไปด้วยเจตสิกอีก๒ ดวงคือ กรุณา และมุทิตา อันเป็นองค์แห่งพรหมวิหาร ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นในสภาวะปกติ แต่จะเกิดขึ้นในสภาวะเฉียดตายเท่านั้น
เมื่อโยคาวจรได้ถึงแล้วซึ่งอารมณ์ และดวงอัปปมัญญาที่ใต้น้ำนั้น ให้ประคองอารมณ์และสภาวะนั้นขึ้นจากน้ำ มาปฏิบัติโพชฌงค์โดยปฏิบัติตามวิถีแห่งอัปปมัญญา๔ คือการแผ่ดวงอัปปมัญญา๔ ประการคือ แผ่เมตตา๑ แผ่กรุณา๑ แผ่อุเบกขา๑ ดวงแห่งอัปปมัญญานี้จะแผ่แสงสว่างได้ไม่มีประมาณสว่างยิ่งกว่าแสงแห่งดวงกสิณ
โยคาวจรบุคคลผู้บรรลุพรมหมวิหาร นับแต่ขั้นเมตตา กรุณา อุเบกขา เมื่อสุดวิถีแห่งอุเบกขา จะเกิดดวงแสงสว่างขึ้นเจิดจ้ากว่าดวงที่ได้ผ่านมาจึงได้ชื่อว่าดวงอุเบกฺขาอปฺมญฺญา และอารมณ์อันเกิด ณ ตรงนี้เป็นอารมณ์แห่งฌานที่๕ (ปัญจมฌาน)
อันเป็นการต่อยอดจากจตุถฌาน๔ ของพรหมวิหาร-มรณานุสติ เรียกว่า อุเบกฺขาอปฺปมัญญาฌาน จึงต้องเข้าฌานนี้(สมาธิใต้น้ำ)ซึ่งเป็นส่วนของพรหมวิหาร และนำอารมณ์แห่งปัญจมฌาน
คือ อุเบกขาอัปปมัญญาฌาน ขึ้นมาปฏิบัติอัปนาสมาธิ ใช้อารมณ์วิวัฏนา(เพิก) ก้าวสู่อากาสานัญจายนญาน ต่อไป ซึ่งดวงอุเบกขาอัปปมัญญา จะสว่างสุกใสยิ่งกว่าดวงอัปปมัญญาทั้ง ๔ ซึ่งจะใช้เทียบกับแสงสว่าง ที่ส่วางกว่า โยคาวจรนั้นก็จะรู้ได้ว่า ตนได้เข้าถึง "ดวงปัญญา" ดังพุทธพจน์ที่ตรัสชี้ทางไว้ว่า "นัตถิ ปญฺญา สมาอาภา...แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี" ฉะนี้
(หมายเหตุ...สภาวะแห่งจตุถฌาน คือ พฤติแห่งการระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ "ทรงลม,ตั้งลม" ณ นิยะมะฐานธาตุอันประสงค์เพื่อสัมปยุตธาตุ=เข้าถึงการควบคุมสมมุติว่า สิ่งทั้งหลายล้วนเกิดแต่มหาภูตรูป๔ คือ ดินน้ำไฟลม ...โยคาวจรจึงต้องฝึกสมมุติสัมปยุตธาตุ แปรเปลี่ยนสิ่งทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งสมาธิพละ..เพื่อเห็นจริงตามสิ่งที่เป็นจริง ในสภาวะธรรมทั้ง๓ นั้นเอง
ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ อันเป็นอจลนุภาเวนะ คืออานุภาพอันไม่มีวันเสื่อมสูญ และเหนือพลังอื่นใด จงดลบันดาลให้ความสมปรารถนา ในบรรดาสิ่งอธิษฐานอันเป็นกุศล ทั้งเพื่อตน ครอบครัว ธุรกิจ ชีวิต การงาน สมบัติ เคหสถาน จงสำเร็จทุกประการโดยพลันทุกท่านเทอญ ฯ เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 11 ต.ค. 56
กถญฺจสฺสา สมาปชฺชนํ โหติ ฯ = จะอธิษฐานเข้านิโรธสมาบัติได้อย่างไร ?
เมื่อโยคาวจรผู้สามารถเข้าสู่ฌานด้วยอำนาจแห่งสมถะ ยัง “เนวสัญญานาสัญญายตน” ให้ด้วบ อาการดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตน นั่นแหละเรียกว่า “การเข้านิโรธ” อันย่อมเป็นไปด้วยอาการดั่งนี้
เพราะโยคาวจรผู้ใดขวนขวายด้วยสามารถแห่งสมถะเท่านั้น โยคาวจรผู้นั้นย่อมสามารถบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว “ตั้งอยู่(ทรงไว้=พฤติแห่งการที่ฝึกตั้งลม ได้นำมาใช้ถึงตรงนี้)” นั้นเรียกว่า “นิโรธ” คือ เสวยอารมณ์แห่งสภาวการกำจัด,ทำลาย กิเลส ตัณหา อาสวะ อวิชชา อุปปาทาน ซึ่งจะเป็นไปเฉพาะก็ในขณะนิโรธเท่านั้น
(ดังนั้น การแปลศัพท์คำว่า นิโรธ แปลว่า ดับ นั้นจึงผิดเพี้ยนจากสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง เพราะไปแปลความหมายตรงส่วนของ การยังเนวสัญญานาสัญญายตนให้ดับ นั่นเอง) ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนิโรธสมาบัติ
คำถาม :: “จะทำนิโรธสมาบัติได้อย่างไร ? “
คำตอบ :: มีวิธี ดังนี้
“.... ภิกษุในศาสนานี้ประสงค์จะเข้านิโรธ ให้พึงกระทำดั่งนี้ คือ เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้ว ให้ล้างมือล้างเท้า นั่งขัดสมาธิบนอาสนะที่จัดไว้ ทำใจให้สงัด
ภิกษุนั้นพึงระลึกอารมณ์แห่งปฐมฌาน แล้วใช้อารมณ์กสิณเพิกออก เพื่ออธิษฐานพิจารณาเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายเป็นลำดับไปโดยวสี โดยกระทำตามกิจ(ขั้นตอน) ๔ แห่งนิโรธ คือ นานาพัทธอวิโกปนะ๑
สังฆปฏิมาน๑
สัตถุปักโกสนะ๑ อัธธานปริเฉทะ๑
ขั้นที่๑ นานาพทฺธอวิโกปนํ คือ ต้องอธิษฐานไม่ให้ของๆ ตนสูญหาย ด้วยวิธีดั่งนี้
ให้นำของใช้ของตน เช่น อัฏฐบริจาร เช่น จีวร บาตร บริขาร มาวางไว้แล้วอธิษฐาน โดยวิธีแห่งวสี ว่า “ภายใน ๗ วันนี้ ขอสิ่งของอย่างนี้ ๆ ต้องออกชื่อของทุกชิ้นที่วางด้วย จงอย่างได้สูญหายโดยโจรภัย หรือใดใดเลย” ก็แล การอธิษฐานนี้พึงให้ทำขณะเจตสิก(ใจ=กายใน)เข้าสู่สมาบัติ นี้จึงเรียกว่า “นานาพทฺธอวิโกปนํ” เมื่อทำสำเร็จแล้วจึงก้าวสู่ขั้นที่๒ ต่อไป
ขั้นที่๒ สงฺฆปฏิมานนํ ไม่ร่วม หรือทำสังฆกรรมใดๆ จนกว่าภิกษุ(ระบุนาม)มาเรียก เท่านั้น วิธีทำคือ
ให้อธิษฐานดั่งได้อธิบายแล้วว่า ภายใน ๗ วันจึงจะออกจากนิโรธ โดยมีภิกษุผู้ที่ระบุนามดั่งอธิษฐานไว้มาเรียกเท่านั้น(ให้อธิษฐานขณะเข้าสมาบัติ) โดยใช้อารมณ์แห่งฌานระลึกถึงภิกษุนามที่อธิษฐาน จนเห็นภาพภิกษุนั้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่นิโรธ(จะเห็นได้ว่า “การกำหนดภาพ” สำคัญมากเพราะต้องนำมาใช้ตรงนี้) หากแม้ภิกษุผู้นั้นมาจริง แต่ไม่มาเรียก หรือเป็นผู้อื่นมาเรียกก็จะไม่ออกจากนิโรธ นี้จึงเรียกว่า “สงฺฆปฏิมานนํ เมื่อทำสำเร็จแล้วจึงก้าวสู่ขั้นที่๓ ต่อไป
ขั้นที่๓ สตฺถุปกฺโกสนํ จะออกจากนิโรธ พระพุทธเจ้าถามหา หรือ เมื่อได้รับกระแสพุทธานุภาพ นี้จึงเรียกว่า “สตฺถุปกฺโกสนํ เมื่อทำสำเร็จแล้วจึงก้าวสู่ขั้นที่๔ อันเป็นขั้นสุดท้ายต่อไป
ขั้นที่๔ อธฺธานปริเฉทํ กำหนดอายุการดำรงอยู่ หรือ กำหนดเวลาตายของตน(ปลงอายุสังขาร) การอธิษฐานกำหนดอายุการดำรงอยู่นี้ให้ใช้อธิษฐานโดย “สภาวะแห่งการตั้งอยู่(ตั้งลม)ในขณะเข้าสมาบัติ พระบาลีมีปุจฉาวิสัชนาไว้ว่า “กถํ ฐานํ=จะตั้งอยู่ได้อย่างไร ?” มีวิสัชนาว่า “การตั้งอยู่ได้โดยอาศัยการกำหนดกาลแห่งสมาบัติที่ได้เข้าถึงพร้อมแล้วอย่างนี้ และด้วยความไม่มีอายุขัย(นี่คือสภาวะแห่ง อกาลิโก คืออยู่เหนือกฏเกณฑ์แห่งกาลเวลา)”
เรื่องนี้มีปรากฏในพระไตรปิฏกกรณีพระเรวตะเข้าฌานสมาบัติก่อนพุทธเจ้าปรินิพานเวลาผ่านไปถึง๒๐๐ปี เมื่อจะทำสังคายนาจึงมีพระสงฆ์ไปเรียกให้ออกจากสมาบัติ และ อีกเรื่องหนึ่งปรากฏในพระวินัยหมวดทุกกฎ อันพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุใดรู้อยู่ว่ามรณะกาลมาถึง(ความตายมาถึงตัว) เข้าฌานสมาบัติ เพื่อให้มรณกาลผ่านพ้นไป ต้องอาบัติทุกกฎ..”
ในส่วนของกำหนดปลงอายุสังขาร คือกำหนดเวลาตายของตนนั้น ปรากฏอยู่ในการปลงสังขารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสแก่พระอานนท์ ว่าจะทรงปรินิพพานเมื่อใด ณ เมืองใด (รายละเอียดในพุทธประวัติ) นี้จึงเรียกว่า “อธฺธานปริเฉทํ”
หมายเหตุ ::: การเข้านิโรธนี้จักกระทำได้ก็โดยผู้ที่เป็นอุปสัมบัน(คือภิกษุเท่านั้น) และเหตุใดผู้ที่จะบรรลุนิพพานได้จะต้องบวชถือเพศเป็นภิกษุเท่านั้น ก็คือ ต้องเข้าสู่นิโรธ กำจัด ตัด ทำลาย กิเลส ตัณหา อาสวะ อวิชาอุปาทานอันเป็นตัวทำให้เกิดภพชาตินั้นให้สิ้นไป นี่คือความแตกต่างระหว่างอนุสัมบัน(ฆาราวาส) กับ อุปสัมบัน(ภิกษุ) ว่าเหตุใดจึงมีข้อห้ามมิให้สอนหรือแสดงธรรมบางประการแก่ฆาราวาส ก็ด้วยองค์ธรรม และการปฏิบัติต่างกัน ด้วยประการฉะนี้ ฯ
คนตาย กับ การเข้านิโรธสมาบัติ ต่างกันอย่างไร ?
พระพุทธองค์ทรงมีวิสัชนา ดั่งพุทธพจน์ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกบาลี ม.มุ.๑๒/๕๑๒ ความว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายสังขารของผู้ที่ตายแล้ว มรณะแล้ว ดับ สงบ วจีสังขาร จิตตสังขารดับสงบ อายุย่อมสิ้นไป ไออุ่นสงบไป อินทรีย์ทำลายไป
แต่ กายสังขารของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทนิโรธ ก็ดับสงบดุจเดียวกัน วจีสังขาร จิตตสังขารก็ดับสงบ แต่อายุนั้นยังไม่สิ้นไป ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ยังไม่ทำลาย..” = คนตายกับผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติต่างกันตรงนี้
มีคำถามว่า “ นิโรธสมาปตฺติ กึ สงฺขตา อสงฺขตา=นิโรธเป็นสังขตธรรม หรือ อสังขตธรรม ?”
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ควรกล่าวว่า เป็นสังขตะบ้าง อสังขตะบ้าง เป็นเป็นโลกุตรบ้าง โลกิยะบ้าง เพราะเหตุไร ? เพราะภิกษุผู้นั้นเข้าถึงนิโรธ ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึง พร้อมแล้วด้วยอำนาจแห่งการเข้านิโรธสมาบัติ
ฉะนั้น ควรกล่าวว่า เป็นนิปผันนะ คือ สำเร็จแล้ว ไม่ควรกล่าวว่า เป็น อนิปผันนะ คือ ยังไม่สำเร็จ
สมาบัติอันสงบแล้วชื่อว่านิโรธ อันเพราะอริยะเสพแล้วนี้จึงได้ชื่อว่า “นิพพาน” ในทิฏฐธรรมด้วยประการฉะนี้ ..ฯ
(นิโรธสมาปัตติฌานนิเทศ)
ความแตกต่างระหว่างความรู้ – ปัญญา –ธรรมในธรรม
กายนอก มีขีดจำกัดอยู่แค่ความรู้เก่งแค่ไหน ถึงแม้จะเป็นอัจฉริยะอันดับหนึ่งของโลกก็ไม่พ้นสมมุติเพราะเกาะติดอยู่กับ สัญญา - เวทนา จึงเรียกว่า ความรู้ด้วยยังติดข้องอยู่ใน อวิชา ตัณหา อุปาทาน
กายในกาย มีความรอบรู้สูงสุดชนิดไร้ขีดจำกัดเพราะตัดสัญญา –เวทนาสิ้นหมด
ก็แลเมื่อโยคาวจรได้ถึงแล้วซึ่งดวงแห่งอัปปมัญญาอันสว่างไสวแผ่ขยายไปอย่างไร้ขีดจำกัดนั้นเมื่อเธอได้พบกับแสงอันสว่างยิ่งไปกว่าแสงแห่งอัปปมัญญาพึงให้แน่ใจได้ว่านั่นแหละคือแสงแห่ง “ดวงปัญญา” ดังพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ให้เป็นเครื่องสังเกตเทียบเคียงว่า
“ นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ”
และด้วยแสงแห่งดวงปัญญาย่อมส่องสว่างในทุกสรรพสิ่ง เห็นจริงตามสิ่งที่เป็น ท่านจึงเรียกไว้ชัดว่า ปัญญาวิมุติคือ ปัญญาแห่งการหลุดพ้นจาก ต้นเหตุแห่งอวิชา กิเลส อาสวะ อนุสัย อวิชชา ตัณหาอุปาทาน อันเป็นปัจจัยให้เกิดภพชาติจึงเรียกว่า รู้แจ้งเห็นจริง รู้แจ้งแทงตลอดเข้าสู่วาระแห่งการกำจัดสิ้นแห่งกิเลสอาสวะทั้งมวลสลัดเสียซึ่งภพชาติ ดังนั้น ปัญญาจึงมีได้เฉพาะก็แต่ในมโนทวารวิถี(กายในกาย)เท่านั้น
ฉะนั้น การบรรลุพระนิพพาน สภาวะที่กายในกายได้ใช้แสงแห่งปัญญา เพื่อพิจารณาสภาวะธรรม อันเป็นหน้าที่ของกายในกาย หรือมโนทวารวิถีในวาระแห่งฐิติขณะเท่านั้นจึงเรียกว่า “ธรรมในธรรม ” ดำเนินไปสู่ “พระนิพพาน” อันเป็นการสิ้นสุดแห่งกฏเกณฑ์ กาล(Time) เทศะ(Space) สมมุติบัญญัติ มหาภูตรูป๔ คือธาตุ(Element) ทั้งปวง ฯ
พุทธศาสนิกชนทุกท่านย่อมได้ประจักษ์แล้วว่าขั้นตอนการปฏิบัติบนเส้นทางพระอริยะนั้นล้วนร้อยเรียงต่อเนื่องกันดุจดั่งห่วงโซ่ต่างข้อต่างเรื่องแต่มิได้แยกจากกันล้วนอาศัยความสำคัญซึ่งกันและกัน เป็นอุปการะส่งเสริมสนับสนุนในแต่ละส่วนอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะสถานะที่ต้องนำมาใช้
และนี่คือพุทธอัจฉริยภาพของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อันโยคาวจรได้เปล่งสัจจะวาจาอธิษฐานด้วยใจมอบกายถวายชีวิตอัตภาพเป็นพุทธบูชาถึงพร้อมด้วยโอปกนฺนสัทธามาแต่เบื้องต้นนั้น แล ฯ
ณ บัดนี้สาธุชนทั้งหลาย ก็ได้ก้าวสู่วรรคสุดท้ายแห่งธรรมะบรรยาย ในภาคพรรษานี้แล้ว ด้วยความเป็นผู้ใฝ่ในธรรมของท่านทั้งหลาย ที่ใส่ใจศึกษา และปฏิบัติในแนวทางหนึ่งเดียวแห่งการหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวง เดินไปบนเส้นทางแห่งความสุข อันมีพระนิพพานเป็นบรมสุขคือเป้าหมาย ชีวิต ภพภูมินี้ของท่านทั้งหลาย ย่อมปราศจากความเศร้า ทุกข์โศก กังวล อันชนทั่วไปจะต้องรับ เพราะบุญกุศลที่ท่านได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค ย่อมนำพาให้ท่านสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงชีวิตนี้ หรือ ในภพหน้าไหน ๆ บุญที่ท่านได้สร้างไว้ จะติดตามส่งผลด้วยกุศลทุกชาติไป ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ทุกท่านสมปรารถนาในสุขทุกประการ ความไม่มี จงอย่าบังเกิดมี ขอให้สุขี มีทรัพย์ เป็นมหาเศรษฐี ถ้วนทั่วกันทุกท่านเทอญ ฯ.... เจริญพร
คำสอนพระอาจารย์ 22 ต.ค. 56
คำว่า "ดี" มาจากภาษาบาลีว่า "สุนฺทรีย" พระพุทธองค์ ไม่ได้ทรงสอนให้พุทธบริษัทแค่สร้างความ "สุนทรีย์" ให้กับใคร เพราะคำว่า"สุนทรีย์" มันอยู่แค่ความพึงพอใจใน "ปัญจทวารวิถี" ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส นี่คือสิ่งที่อยู่ภายนอกที่จะรับเข้าไปเป็นอารมณ์ให้เกิดความพึงพอใจ ชอบใจ ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่า สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดย "กุศลมูลจิต" อาจจะมาจากจิตที่เป็นอกุศล เช่น โมหะมูลจิต หรือ โลภะมูลจิต ก็ได้
ด้วยเหตุนี้ "ดี" จึงเป็นแค่"ความพึงพอใจ" ไม่ใช่ความสุข ซึ่งเราจะหาความพอใจจาก ผับ บาร์ ยาเสพติด หรือ สิ่งประโลมโลกที่ไหนก็ได้ และไม่ต้องจำเป็นว่า สิ่งนั้นจะต้องมีประโยชน์เสียด้วยซ้ำ เพราะคำว่า "ดี" ต้องถามว่า "ดีสำหรับใคร" โจร ช่วยหาปืนมาให้โจรปล้น โจรที่หาปืนมา ก็ถือว่า "ทำดี" ให้โจรอีกคนหนึ่งพอใจ นี่คือสิ่งที่เห็นง่าย ๆ ของคำว่า "ดี"
ฉะนั้น แค่ทำความดี จึงสุดที่ กามวจรภูมิ คือ สูงสุดแค่เทวดา ซึ่งยังข้องอยู่ในกาม ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร มีรัก โลภ โกรธหลง มีอวิชา อุปาทาน (เทวดายังทำสงครามแย่งตำแหน่ง แย่งเหล้ากันกิน แย่งนางฟ้า มีภรรยา)
พุทธศาสนา จึงไม่ได้มีไว้สำหรับ "สร้างความสุนทรีย์ แต่ มีไว้สำหรับผู้ปรารถนาจะพบกับ "สุข" ตั้งแต่ระดับต่ำสุด ไปจนถึงสูงสุด คือบรมสุขอันได้แก่ "พระนิพพาน"
พระพุทธองค์ทรงสอนให้พุทธบริษัทสร้าง "บุญ" เพราะ "บุญ" สำเร็จด้วยการถึงพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ อันมี "กุศลจิต" เท่านั้นเป็นฐาน และมีพระนิพพาน เป็นที่สุด
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ทราบกันอยู่เป็นปกติในหัวข้อธรรมทั้งหลายว่า " การถึงพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ แม้เพียงชั่วหนึ่งขณะจิตเดียว นั้นมีอานิสงค์ยิ่งไปกว่า การสร้างเจดีย์ด้วยทองคำ สูงจากมนุษย์โลก ถึงพรหมโลก"
ทุกศาสนานั้น สอนให้ "คนเป็นคนดี" แต่ พุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้สอน "คน" แต่มีไว้สอน "มนุษย์" เพราะ "คน" ไปนิพพานไม่ได้ แม้บวชเข้ามาในพุทธศาสนาก็ไม่ได้ ผิดพุทธานุญาต เพราะ "คน" กับ "มนุษย์" นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง "คน"ทำได้แค่ "ดี" แต่ "มนุษย์" สูงเลยจากดี เพราะสามารถปฏิบัติตามพุทธวิถีบำเพ็ญ "บุญ" วิถีนี้เรียกว่า "ปฏิสัมภิทามรรค" ตามที่พุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่าทางอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มีนั่นคือ "สติปัฏฐาน" อัน "คน" ทำไม่ได้ นอกจาก "มนุษย์" เท่านั้น
"คน" ภาษาบาลีเรียกว่า ทุรชน พวกนี้ไม่รู้บาปไม่รู้บุญ รู้แต่จะได้ ใครฉิบหายช่างมันให้กูได้ก็แล้วกันนี่คือ "คน" พระพุทธเจ้าจึงห้ามบวช และไม่เทศน์โปรดด้วย
"มนุษย์" ภาษาบาลีเรียกว่า "ปุถุชน" นี่คือบุคคลประเภทรู้บุญรู้บาปแยกแยะเหตุผลดี ชั่ว ได้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เสียสละเพื่อผู้อื่นและสังคมนี้แหละเรียกว่า "มนุษย์". พระองค์จึงมีพุทธานุญาตให้บวชได้ นี่คือเวลาบวช คู่สวดต้องถามว่า "มนุโสสิ" ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า ? ตอนหลังสมัยต้นรัตนโกสินทร์มาแต่งเรื่องปลอมว่ามีนาคแปลงตัวมาบวชเลยต้องถาม ว่าไปโน่น
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น คือพระพุทธศาสนา ที่สอน และชี้ทางไปพระนิพพาน ซึ่งศาสนาอื่นไม่มี ดังนี้ ฯ.
ดังนั้นเราท่านทั้งหลาย จึงควรภาคภูมิใจที่ได้เป็น"มนุษย์" และได้ปฏิบัติธรรมะอันสูงสุดของพระพุทธองค์
ขอพุทธานุภาพจงสถิตย์กับทุกท่านทั่วกัน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)