สัจจะ- อธิษฐาน. (คำสอนพระอาจารย์ธรรมบาล 15 มีนาคม 2558)

วันนี้จะบรรยายต่อ เรื่อง "สัจจะ- อธิษฐาน" เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และเป็นบรรทัดฐาน  ในการสืบค้นศึกษา  ปฏิบัติตามพุทธวิถี  "สติปัฏฐาน - ปฏิสัมภิทามรรค" สืบไป

พระพุทธศาสนา มีเป้าหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน อันเป็นสภาวะที่เหนือกฏเกณฑ์ของ ธรรมชาติ  และกาลเวลา มีศัพท์เฉพาะว่า "อริยสัจจะ" ( อริยะ แปลว่า สว่างแจ้ง... สัจจะ แปลว่า ประเสริฐ จริงแท้) ปราศจากมลทิลทั้งปวง  เส้นทางไปสู่พระนิพพานเรียกว่า อริยมรรค(อริยะ แปลว่า แสงสว่าง ... มรรค แปลว่า เส้นทาง)

     ผู้ที่จะเดินทางไปบนเส้นทางแห่งความจริงแท้ จึงจำเป็นต้องฝึกให้เป็นผู้ที่ประกอบไปด้วย "ความจริง" ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่จะเข้าเป็น"พุทธศาสนทายาท" จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นในเรื่องของ "สัจจะ" จนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของตน ดังจะเห็นตัวอย่างได้ง่ายๆ จากพระสงฆ์ของพระพุทธศาสนา

คนทั่วไปในยุคปัจจุบันเมื่อมองเห็น "พระ" ก็ต่างจะคิดว่าการเป็น "พระ" นั้นง่ายมากแค่โกนหัวเข้าวัดบวชก็เป็นพระได้ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง

        เพราะคำว่า "พระ" มาจากคำว่า "พร(อ่านว่า พอน) แปลว่า "ประเสริฐ - เลิศ" หมายถึง ผู้ที่เข้าถึงความประเสริฐ หรือเลิศกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วย "วาจาสิทธิ์" ที่เมื่อกล่าวคำให้พรแก่ผู้ที่ได้ประกอบทานด้วยเจตนาใดอันผู้ถวายทานนั้นได้ตั้งเจตนาประสงค์ไว้ สิ่งที่ประสงค์นั้นต้องประสบความสำเร็จ ดังปรากฏในพระไตรปิฏกระบุฐานะไว้ชัดเจนว่า "พระ คือปฏิคาหก(ผู้รับทาน) ต้องยังศรัทธาของทายก(ผู้ถวายทาน) ให้สำเร็จสมดั่งเจตนา ที่ปรารถนานั้น"

       คำถามจึงเกิดขึ้นว่า "ทำอย่างไร เจตนาหรือสิ่งประสงค์ของผู้ถวายทานนั้น จะเป็นจริงตามปรารถนา โดยคำให้พรของ "พระ" ได้

       คำตอบคือ "พระ จะต้องเป็นผู้ที่มีวาจาสิทธิ์" ก็มีคำถามอีกว่า "พระจะมีวาจาสิทธิ์ได้อย่างไร" คำตอบคือ "ต้องมีวาจาสิทธิ์ และสามารถอธิษฐาน ให้สิ่งซึ่งผู้ถวายทานปรารถนานั้นให้เป็นจริงได้"
(ไม่ใช่เพียงรับทานแล้วก็ผ่านไป ส่วนผลบุญที่ผู้ถวายทานจะได้รับชาติหน้าหรือเมื่อไรก็แล้วแต่เวรกรรม....มันไม่ใช่อย่างนั้น)  ดังนั้น การบวชเพื่อที่จะเป็น "พระ" จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างที่คิด

ทีนี้เราลองมาดูกันว่า จริง ๆแล้วการจะเป็น "พระ" มีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างไร ? เราจะเห็นได้ว่า .... ในสมัยโบราณผู้จะบวชจะต้องไปอยู่วัดเพื่อฝึกฝนก่อนบวชอย่างน้อยๆ ก็เป็นเดือน ๆถามว่าฝึกอะไร ? ถ้ามองภายนอกก็จะเห็นเพียงว่า ไปฝึกขานนาค ฝึกสวดมนต์
แต่ความจริงแล้วจะต้องฝึกสมาธิขั้นปริตะหรือ  "ปริกรรม" คือ "การฝึกให้วจีสังขาร(การเปล่งเสียงจากปาก) กับเสียงของใจ ให้ตรงกัน ทั้งนี้เพื่อใช้ในการ  "กล่าวสัจจะวาจา" เพื่อขออุปสมบท (ไม่ใช่เปล่งเสียงนั่นเป็นการขอบรรพชา=บวชเณรเรียกว่า "เปล่งวาจาขอบรรพชา")

การฝึกปากกับใจให้ตรงกัน ก็คือการขออุปสมบทด้วย "ใจ" (เพราะพระเป็นด้วยใจ) และคำที่เปล่งต้องเป็นสัจจะวาจา(คือตอบคำถามเช่นว่า มนุโสสิ...คุณเป็นมนุษย์ ใช่ไหม? ต้องตอบจากใจว่า อามะภัณเต...ใช่ครับ" เป็นต้น) จากนั้นคณะสงฆ์ก็จะประกาศรับผู้อุปสมบทนั้นเข้าหมู่ เรียกว่า "สมมุติสงฆ์" ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เป็น "พระ" เพราะยังให้ "พร" ไม่ได้ เพราะพระเป็นที่ "ใจ" ต้องไปฝึกใจด้วยสมาธิต่ออีก เรียกว่า "ภาวนา"


   การฝึกใจ ของผู้ที่อุปสมบทเป็นสมมุติสงฆ์แล้ว จะก้าวขึ้นสู่สภาวะความเป็น "พระ" จะต้องฝึก ขั้นภาวนาเพื่อใช้ในการ "อธิษฐานโดยเริ่มฝึก "กำหนดจุด(เป้าหมาย)" เรียกว่า"พินธุ" จากนั้น จึงอธิษฐานซึ่งต้องทำสมาธิอธิษฐานทักชิ้นไม่ว่าจะเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม บาตร แม้แต่การยู่อาศัย ที่เรียกกันว่า "อธิษฐานพรรษา" (ผู้ที่อธิษฐานพรรษาไม่ได้ ก็ไม่มีพรรษา เป็นเพียงผู้อุปสมบทนานกี่ปี แต่ไม่มีพรรษา....เพราะจะได้พรรษาก็โดย "สัจจะอธิษฐาน" เท่านั้น)

ผู้อุปสมบทจะต้องฝึก "สัจจอธิษฐาน"  โดยอยู่กับผู้อุปสมบทอื่นจึงเรียกว่า คณะสงฆ์ (สงฆ์แปลว่า หมู่) เพราะไปไหนต้องไปเป็นหมู่ เมื่อฝึกจนสามารถมีวาจาสิทธิ์โดยอำนาจแห่งสมาธิสัจจะอธิษฐาน มีกำหนดต้องฝึกอยู่กับอุปัชฌาอาจารย์ ๕ พรรษา
จะเห็นได้ว่า นับแต่เริ่มเข้ามาเป็นเจตนาอุปสมบท จนกระทั่งเป็นสมมุติสงฆ์ และก้าวขึ้นสู่ความเป็นเป็น"พระ"  สิ่งสำคัญคือ "สัจจะ"  เป็นหลักใหญ่ เพราะสัจจะคือ องค์มรรค เรียกว่า "มรรคสัจจะ"  แปลว่า เส้นทางสู่ความจริงแท้ อันมีเป้าหมายคือพระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา นั่นเอง
ซึ่งแน่ละเมื่อฝึกปฏิบัติภาวนาสมาธิ วาจาสิทธิ์อธิษฐาน ถึง๕ปี ย่อมสามารถมีพลังสมาธิที่จะอธิษฐาน ให้สิ่งที่ญาติโยมผู้ถวายทาน ปราถนานั้นเป็นจริงได้สมเจตนา นั่นแหละจึงเรียกว่า "พระ"  เพราะให้พรแล้ว พรหรือสิ่งประเสริฐนั้นเกิดขึ้นจริง ตามวาจาที่ให้พร จึงเรียกว่า "พระ" จากนั้นจึงจะออกจาริกไปองค์เดียวได้ ดังพุทธดำรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายเธอจงจรจาริกไป แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป..."

สำหรับผู้ไม่ได้อุปสมบท(บวช) ก็เป็นพระได้  เพราะ  "พระเป็นที่ใจ" หากผู้นั้นได้ปฏิบัติตามพุทธวิถี "สติปัฏฐาน - ปฏิสัมภิทามรรค" ตามขั้นตอน  ทั้ง  "ปริกรรม"  และ  " ภาวนา" ก็เป็น  "พระ"  ได้  ดังปรากฏ ฆาราวาสที่สำเร็จเป็น "พระอริยบุคคล" ทั้งอุบาสกอุบาสิกา(ชาย หญิง) มากมาย ไม่ใช่เป็นพระได้เฉพาะผู้ที่บวชเท่านั้น


ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพอันเปรียบประมาณมิได้ ขอความผาสุขสวัสดี สมหวัง สมปรารถนาในหน้าที่การงาน ชีวิต ครอบครัว สรรพสิ่งใดใดอันเป็นกุศล สาธุชนผู้ใฝ่ในธรรม จงปฏิบัติสำเร็จสมดั่งเจตนา โดยพลันทั่วกันทุกท่านเทอญ  เจริญพร



สัจจะ  (คำสอนปี 2552)

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS