ทรงลม - ตั้งลม



คำสอนพระอาจารย์ 24 มีนาคม 2557


ขอความผาสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้ใฝ่ในกุศลปฏิบัติทุกท่าน ทั่วกัน


ในวันนี้จะได้กล่าวถึงข้อสงสัย ที่สาธุชนหลายท่าน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน-ปฏิสัมภิทามรรค อย่างถูกต้อง หรือ ไปปฏิบัติในสำนักอื่น ๆ ที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ แต่ไม่รู้ความหมายของคำว่า "ตั้งลม" หรือ "ทรงลม" คืออะไร ​​? บางแห่ง บางอาจารย์ บางสำนัก ถึงกับปฏิเสธอย่างไม่ดูเดือนดูตะวัน ว่า "ตั้งลม-ทรงลม อะไรเนี่ยะ มันไม่มีในพระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนา ไม่มีกล่าวไว้ในสติปัฏฐาน..." ซึ่งถ้าหากไม่วิสัชนาให้กระจ่าง ก็เห็นว่าพุทธศานิกชนจะต้องหลงทางไปลงอบายเสียเป็นแน่แท้  
ก่อนที่จะวิสัชนาถึงส่วนของ "ตั้งลม-ทรงลม" ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติอาปานัสติ เพื่อเข้าสู่สติปัฏฐานนั้น ก็ต้องไล่เรียงขั้นตอนไปเสียแต่เริ่มต้นก่อน เพื่อความกระจ่าง จะได้ไม่มีข้อโต้แย้ง ทั้งทางวิชชาการพุทธศาสตร์ และทางปฏิบัติได้อีกในอนาคต 


ในพระไตรปิฏกบาลี สุตตันตปิฏก เล่ม๒, มหาสติปัฏฐานสูตร, ฑีฆนิกาย,มหาวรรค... ได้บรรยายถึงลักษณะของการปฏิบัติอาปานัสสติ ไว้เป็น ๓ ลักษณะตามสภาวะแห่งไตรลักษณ์ คือ อุปาทขณะ อันได้แก่ขณะที่ ๑ เมื่อเร่ิมลมหาใจเกิดขึ้น คือหายใจเข้า เรียกว่า อัสสาสะ ขณะที่ ๒ คือ ฐีติขณะได้แก่ขณะที่๒ เมื่อสุดลมหาใจเข้าไปนิ่งสงบหยุดอยู่ภายใน และขณะที่ ๓ ได้แก่ภังคขณะ คือเมื่อหายใจออก หรือสิ้นสุดการหายใจ ในช่วงคาบหนึ่ง ๆ โดยกล่าวถึงการหายใจเข้าออกเป็นเบื้องต้น ว่า

โส สะโต วา อัสสะสะติ. เธอย่อมมีสติหายใจเข้า,
สะโต ปัสสะสะติ. ย่อมมีสติหายใจออก,
คำว่า สติ คือธรรมชาติระลึกรู้ตามลมหาใจ ที่เข้าและออก โดยใช้ความรู้สึกตามติดเข้าไป นับตั้งแต่เริ่มหายใจเข้าไปจนสุดลมหาใจ นี้เรียกว่า การระลึกรู้ แต่ส่วนใหญ่ที่สอนกันในสำนักต่าง ๆ ใช้คำพูดในการสอนผิด คือ มักใช้คำว่า "ดูลมหายใจ" ซึ่งขัดต่อหลักความเป็นจริง เพราะ "ลมหายใจ มองไม่เห็น จึงดูไม่ได้ แต่รู้ได้ จึงเรียกว่า "ระลึกรู้ หรือ สติ" คือ ต้องรู้ทั้งเข้าและออก ว่ามีลักษณะอย่างไร อารมณ์ต่างกันอย่างไร เรียกว่า เทียบเคียงความแตกต่างของอารมณ์ เพื่อให้จดจำระลึกไว้ นี้เป็นขั้นแรก


ต่อไปเป็นลักษณะส่วนที่ ๒ ของการทำอาปานัสสติคือ กำหนดรู้ความสั้นยาวของลมหายใจ (ซึ่งโดยทั่วในทุกสำนักที่สอน ๆ กัน ก็บอกไม่ได้ว่า หายใจวันนี้ กับเมื่อวานนี้เวลาเดียวกัน ยาวกว่ากันกี่เซ็นติเมตร สั้นกว่ากันกี่เซ็นติเมตร...แล้วลมหายใจเมื่อสิบนาทีก่อน กับตอนนี้สั้นยาวกว่ากันกี่เซ็นต์ ถ้าบอกไม่ได้ แสดงว่า "สอนกันผิด" เพราะความจริงแล้วต้องบอกได้ ซึ่งในพระบาลีระบุชัดว่า ให้ใช้การ "สำเนียก" คือ นอกจากระลึกรู้อารมณ์ความแตกต่างของลมหายใจเข้าออกแล้ว ยังตัองรู้ความสั้นยาวของลมหายใจ (ซึ่งผู้ที่ได้รับการฝึกอัปนาโกศล หรือ ที่เรารู้จักกันว่า "ทิ้งขนนก" เท่าระยะอักษร จะทราบดีว่าจะวัดความยาวของลมหายใจ เข้าออกอย่างไร) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสำเนียกระลึกรู้ความสั้นยาว ดังกำหนดไว้ในพระบาลีว่า


ลักษณะที่ ๑ หายใจยาว
ทีฆัง วา อัสสะสันโต. เมื่อหายใจเข้ายาว,
ทีฆัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว,
ทีฆัง วา ปัสสะสันโต. หรือเมื่อหายใจออกยาว,
ทีฆัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว,

ลักษณะที่ ๒ หายใจสั้น
รัสสัง วา อัสสะสันโต. เมื่อหายใจเข้าสั้น,
รัสสัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น,
รัสสัง วา ปัสสะสันโต. หรือเมื่อหายใจออกสั้น,
รัสสัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ. ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น,

... จะเห็นได้จากพระบาลีว่า หากไม่มีการฝึกฝนอย่างถูกต้อง จะไม่มีทางรู้ได้เลยถึงความยาว-สั้นแห่งลมหาย เรียกว่าเสียเวลาไปเปล่า ไม่ตรงตามที่บัญญัติไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรสิ้นเชิง 
สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า,


สัพพะกายะปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก,

คำว่า "สำเนียก" หมายถึง การกำหนดรู้เสียง และ ระยะแห่งลมหายใจ ว่ามีความสั้น หรือ ยาวต่างกันเพียงใด ซึ่งผู้ที่จะสำเนียกได้ต้องฝึกโดยวิถีแห่งอัปนาโกศล อันเริ่มด้วย วจสา คือ การเปล่งวาจา พร้อมไปกับลมหายใจ เพื่อนำมาใช้ในการวัดระยะสั้นยาวของลมหายใจดังปรากฏในพระบาลีส่วนนี้ (วิธีปฏิบัติมีไว้ให้พร้อมแล้ว...ค้นคว้าศึกษาได้) 
ต่อไปก็ถึงลักษณะที่ ๓ ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติ และคือที่มาของหัวข้อที่ได้ตั้งไว้ คือการทรงลม-ตั้งลม หรือ ฐีติขณะ ดังปรากฏในพระบาลี ว่า


ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร (คือลมอัสสาสะปัสสาสะ) หายใจเข้า,

ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก,

ตรงนี้แหละที่เรียกว่า การตั้งลม-ทรงลม เป็นสภาวะที่ไม่มีการหายใจทั้งเข้าและออก(ระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ) ส่วนนี้เป็นฐีติขณะ จะมีจิตทำหน้าที่ถึง ๕ ดวง(ต่างจากสภาวะลมหายใจเข้า=อุปาทขณะ=จิตดวงเดียว  ลมหายใจออก=ภังคขณะ=จิตดวงเดียว) ซึ่งอารมณ์แห่ง ฐีติขณะนี้สามารถจะกำหนดให้ยืดยาวเท่าใดก็ได้ จึงเรียกว่า "ทรง" แปลว่า รักษาสภาพ ซึ่งใช้ในการทรงฌาน ทรงญาณ เข้านิโรธ ก็ใช้สภาวอารมณ์นี้ในการระลึก เรียกว่า อติมหันตารมย์ 

ในสภาวะแห่งการ "ทรงลม หรือ ตั้งลม" จะอยู่ในสภาพที่เหนือไปจากสามัญมนุษย์ปกติธรรมดา เพราะอยู่ในสภาพที่ไม่มีการหายใจ ดังเราจะเห็นจากในจารจารึกคัมภีร์ต่าง ๆ แม้ในพระไตรปิฏกได้กล่าวถึงพระอริยบุคคล เข้าฌานสมาบัตินับร้อย ๆ ปี หรือ ทรงฌานไปท่องเที่ยวเทศนากับปวงเทพยดา ก็อาศัยการทรงฌานจากการระลึกอารมณ์ส่วนระงับอัสสาสะ-ปัสสาสะ และการควบคุมกองลม นำไปไว้ยังฐานธาตุที่กำหนด (ระลึกรู้อารมณ์=สติ นำไปตั้งไว้=ปัฏฐาน จึงเรียกว่า สติปัฏฐาน ซึ่งสามารถกำหนดไว้ตามฐานธาตุ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งทั้งปวง)  

ฉะนั้น ดังได้วิสัชนา ถึงที่มาของการ "ทรงลม-ตั้งลม" นั้น นอกจากจะมีมาในพระไตรปิฏก สุตันต เล่ม๒ มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรคแล้ว ยังเป็นขั้นตอนสำคัญที่โยคาวจรที่จะต้องปฏิบัติให้ได้เพื่อให้เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ผู้ที่ไม่สามารถ "ตั้งลม หรือ ทรงลม" ได้ก็อย่าได้หวังว่าจะพบความสำเร็จจากการปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง และทางไปพระนิพพาน ก็มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือสติปัฏฐาน๔ และสติปัฏฐาน๔ ก็จะต้องปฏิบัติด้วยอาปานัสสติ อีกทั้งอาปานัสตินั้น ก็ต้อง"ทรงลม-ตั้งลม" เพื่อนำการ "สำเนียกระลึกรู้ คือ สติ นี้ไปใช้ ในสติปัฏฐาน...เปรียบเสมือนโซ่ไร้ปลาย ที่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันมิได้ ดังมีพุทธพจน์ยืนยันไว้ดังนี้ว่า 

อาปานสฺสติ  ภิกขเว  ภาวิตา  พหุลีกตา;  
จตฺตาโร  สติปฏฐาเน  ปริปุเรนติ....
ภิกษุทั้งหลาย อาปานัสสติ อันบุคคลใดได้อบรมให้มากแล้ว 

ผู้นั้นย่อมชื่อว่า ทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์....
เอกมคฺโคติ  เอโก  เอว  มคฺโค
น  หิ  นิพฺพาน  คามิมคฺโค....
หนทางนี้เป็นหนทางเดียว ไม่มีทางสายอื่น อันจะนำไปสู่พระนิพพานได้ ..  

ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกป้องคุ้มครองภยันตราย ทุกข์ทั้งปวงให้ห่างไกล ศุภโชคชัย ลาภผล ทรัพย์ทั้งหลายจงบังเกิดมี สรรพสิ่งที่เป็นกุศลอันได้อธิษฐาน จงประจักษ์ผลโดยพลัน ทุกท่านเทอญ ....เจริญพร

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS